‘เราชนะ’ แจงเงื่อนไข ลงทะเบียน ‘www.เราชนะ.com’ รับเงิน

‘เราชนะ’ แจงเงื่อนไข ลงทะเบียน ‘www.เราชนะ.com’ รับเงิน

อธิบาย รายละเอียดมาตรการ “เราชนะ” การลงทะเบียน “www.เราชนะ.com” แต่ละกลุ่มได้รับเงินมากน้อย ต่างกันอย่างไร

มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ล่าสุด เราชนะ ที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบออกมา ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาโควิด ผ่าน เงินเยียวยา ให้กับประชาชนรายละ 7,000 บาท โดยการแบ่งจ่ายเดือนละ 3,500 บาท ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน และคาดกันว่าจะใช้ www.เราชนะ.com เป็นแพลตฟอร์มหลักในการลงทะเบียนครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ ทาง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงหลักการช่วยเหลือ หรือวิธีคิดของโครงการว่านี่คือมาตรการเพื่อดูแลอย่างครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบโดยไม่นับรายละเอียดในเชิงพื้นที่การระบาด เพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับความช่วยเหลือ โดยที่เน้นไปที่กลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้มีสิทธิร่วมการเยียวยาครั้งนี้อยู่ประมาณ 30 - 40 ล้านราย

อัพเดท! : ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ขณะที่การคัดกรองเบื้องต้น ที่ออกมานั้น เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กลุ่มที่ยังอยู่ในระบบ ตลอดจนกลุ่มที่มีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้ จะไม่ถูกนับรวมอยู่ในคุณสมบัติของการลงทะเบียนครั้งนี้โดยมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 4 กลุ่มคือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 กลุ่มผู้มีรายได้สูง และกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันที่เปิดลงทะเบียน 

สำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ และเกษตรกร ที่ถือเป็นเป้าหมายหลักสำหรับมาตรการเราชนะครั้งนี้ จะมีการเปิดในลงทะเบียนอีกครั้ง เพื่อคัดกรองความช่วยเหลือ และตรวจสอบหลักเกณฑ์ว่าตรงกับกลุ่มผู้ถูกตัดสิทธิข้างต้นหรือไม่ ก่อนที่ระบบจะดำเนินการโอนเงินเยียวยาไปยังแอพลิเคชั่น เป๋าตัง ที่จะถูกนำมาใช้เป็นช่องทางหลักในการเยียวยาโควิดครั้งนี้ ซึ่งความแตกต่างของการลงทะเบียน www.เราชนะ.com นั้นจะต่างกันกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน และเยียวยาเกษตรกร โดยอาจจะใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามสำคัญถึงกลุ่มที่จะได้รับการเยียวยาอีกว่า หากมีชื่ออยู่ในระบบมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เคยลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่ง หรือกระทั่งอยู่ในกลุ่มเปราะบาง จะมีสิทธิในการได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้หรือไม่ เรื่องของการเยียวยาโควิดในส่วนนี้ สำหรับแต่ละกลุ่มสามารถสรุปรายละเอียดออกมา ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งมีอยู่ราว 14 ล้านราย

โดยหลักการ มีสิทธิในการรับเงินเยียวยา จากมาตรการเราชนะ เป็นเงิน 7,000 บาทต่อราย โดยระบบจะดำเนินการโอนเงินเข้าระบบเดือนละ 3,500 บาทติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน เพิ่มเติมจากเงินค่าสินค้าอุปโภคบริโภค 200 - 300 บาท และมาตรการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่ม 500 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม รวมทั้ง สิทธิอื่นๆ อาทิ ค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะ สิทธิลดค่าไฟ -ค่าน้ำ (หากเข้าเงื่อนไขตามที่แต่ละมาตรการกำหนด) และสิทธิการได้คืนภาษี VAT 5 % อีกด้วย

  • กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และ กลุ่มผู้พิการ

กลุ่มนี้ นอกจากจะได้รับเงินเยียวยา 3,500 บาท ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนต่อราย จากมาตรการ เราชนะแล้ว ในส่วนของ ผู้สูงอายุ ก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเงิน 600-1,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือกลุ่มผู้พิการ ก็จะได้เงินเบี้ยเลี้ยงช่วยเหลือจำนวน 800 บาทต่อคนต่อเดือน อีกด้วย

  • กลุ่มผู้ที่เคยลงทะเบียนรับสิทธิคนละครึ่ง

นอกจากการได้เงินช่วยเหลือในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค 3,500 บาทตลอดโครงการก่อนหน้านี้แล้ว กลุ่มนี้ที่มีอยู่เกือบ 15 ล้านราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตอบค่อนข้างชัดแล้วว่า จะถูกนำรายชื่อมาคัดกรองด้วย โดยยึดตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีรายได้น้อย ซึ่งหากระบบของกระทรวงการคลังตรวจสอบแล้ว ก็จะได้รับเงินโอนเข้าแอพลิเคชั่น เป๋าตัง ทันที

สำหรับใครที่ยังไม่เคยร่วมโครงการ หรือมาตรการที่ผ่านมา หรือไม่เคยมีชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลก็จะต้องดำเนินการ ลงทะเบียนใหม่ผ่านแพลตฟอร์ม www.เราชนะ.com ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะใช้โดเมนที่มีการจดทะเบียนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ 

161076109736

โดยสิ่งสำคัญในมาตรการเยียวยาโควิด เราชนะ ครั้งนี้ จะมีการนำเอา จำนวนเงินฝากในบัญชีธนาคารมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งจำนวนเงินขั้นต่ำในระบบบัญชีธนาคารต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ กำหนดไว้ เพื่อจ่ายเงินให้ถึงมือผู้ที่มีรายได้น้อยจริงๆ

ลำดับการคัดกรองหลังจากเปิดลงทะเบียนนั้น กระทรวงการคลัง จะนำไปสู่การประมวลข้อมูลกับระบบประกันสังคม เพื่อคัดกรองผู้ที่มีชื่อในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ออก ก่อนจะนำไปตรวจสอบข้อมูลกับระบบธนาคารว่า ผ่านเกณฑ์เงินขั้นต่ำในระบบบัญชีหรือไม่ จากนั้น จึงจะโอนเงินผ่านบัญชีในระบบพร้อมเพย์ หรือการใช้แอพ เป๋าตัง ในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้เงินในระบบบัญชีของแอพเป๋าตังที่จะมีวิธีการใช้จ่าย เบิก ถอนอย่างไรนั้น รวมถึงขั้นตอนการลงทะเบียน และรายละเอียดสำคัญที่ชัดเจน รายละเอียดทั้งหมดจะต้องรอความชัดเจนในวงประชุม ครม. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 มกราคม นี้