อุตฯโฆษณา “ปีฉลู” ไม่ฉลุย!!
ประเดิมต้นปีด้วยการ “ตั้งการ์ดสู้ต่ออีกยก” สำหรับประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน เพราะต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลัก “ร้อยคน”
แม้มีการระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 2 แต่ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสระลอกนี้ ยังไม่ใช้มาตรการเด็ดขาดอย่างการ “ล็อกดาวน์” ทั้ประเทศเหมือนรอบแรก เพราะหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงจะซ้ำเติม “เศรษฐกิจ” ให้ย่ำแย่ลงไปอีกขั้น “ธุรกิจ” อาจทรุดหนักกว่าเดิมจนมีผู้้ประกอบการเจ๊ง!เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลกระทบต่อ “คนทำงาน” เป็นโดมิโน่ ยิ่งกว่านั้นหากต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐจะดำเนินการอย่างไร หาเงินจากไหนมาพยุงผู้ที่เดือดร้อนมากมายมหาศาล
ปัจจัยลบยังรายล้อม ทำให้หนึ่งในอุตสาหกรรมที่อ่อนไหว ต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่เป็นปกติ เมื่อบางเซ็กเตอร์ขยับ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะได้รับแรงกระเพื่อมตามไปติดๆ
“อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา” อดีตเคยมีมูลค่า”แสนล้านบาท” แต่ตัวเลขดังกล่าวผู้ประกอบการไม่เห็นมาพักใหญ่ หลังจากภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน “ดิจิทัล” เข้ามามีบทบาท ทีวีอนาล็อกเปลี่ยนสู่ทีวีดิจิทัล ค่าโฆษณาบางช่องที่เคยแพงระยับหลัก “หลายแสนบาทต่อนาที” ก็หั่นลงมา หรือตัวเลขที่โชว์กันยังไม่หักส่วนลดหลังบ้าน เรียกว่าราคาตั้งไว้สวยๆหรือ Rate Card ที่เป็นภาพมายา ซื้อขายโฆษณากันจริงจึงสะพัดหลัก “70,000 กว่าล้านบาท”
ปี 2563 ข้อมูลอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาอยู่ในภาวะ “ติดลบ” ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะโควิด-19 ทำให้แบรนด์ “หั่น-ลด-โยกงบ” จำนวนมาก เช่น พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิลหรือพีแอนด์จี ใช้จ่ายโฆษณา 2,416 ล้านบาท ลดลง 4%, โคคา-โคล่า ใช้จ่ายโฆษณา 1,225 ล้านบาท ลดล 18% ลอรีอัล ใช้จ่ายโฆษณา 1,183 ล้านบาท ลดลง 23% โตโยต้า ใช้จ่ายโฆษณา 1,075 ล้านบา ลดลง 38% เป็นต้น (ที่มา : มีเดีล อินเทลลิเจนซ์หรือMI)
ส่วนภาพรวมเงินสะพัดทั้งปี รายงานจากนีลเส็นระบุมูลค่า 106,255 ล้านบาท ติดลบ 14% มายแชร์คำนวณมูลค่า 104,234.6 ล้านบาท ติดลบ 14.2% และเอ็มไอหักลบส่วนลดต่างๆเคาะมูลค่าอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา 73,720 ล้านบาท ติดลบ 18.3%
ภวัต เรืองเดชวรชัย - ปัทมวรรณ สถาพร
++มองโลกแง่ดีปีฉลูโฆษณาโต
ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แม้จะมีสัญญาณร้ายรายล้อมแต่ผู้ประกอบการเอเยนซี่ บรรดานักการตลาดขอมองโลกแง่ดี(Optimistic)ว่าอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2564 จะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ “แดนบวก” ได้แน่นอน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับสูตรคำนวณอิงจาก “โอกาส” หักล้าง “อุปสรรค” ที่ยังต้องเผชิญ
ปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ฉายภาพว่า แม้โควิด-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ตลอดจนการใช้จ่ายงบโฆษณา เพราะหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มย่อมส่งผลกระทบทุกภาคส่วน แต่กระนั้นความหวังยังมีจาก “วัคซีน” ที่จะเข้ามาฉีดให้กับคนไทยล็อตแรก และการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้ จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่ม โอกาสที่อุตสาหกรรมโฆษณาจะเติบโตจึงมี
“เรามองโลกในแง่ดี แต่ไม่ถึงกับอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ มอง Optimistic และ Best Case การระงับการแพร่ระบาดไวรัสได้ในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน ทุกอย่างจะค่อยๆกลับมา” กลับกันหากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอัตราพุ่ง! การ Wait and see จะเกิดขึ้น ทุกอย่างจะอยู่ในโหมดช้าลงอีกครั้ง
ทั้งนี้ ปัทมวรรณ คาดการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2564 จะเติบโตได้ 3% หรือเม็ดเงินสะพัด 107,400 ล้านบาท ภายใต้เศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ขยายตัว 3% เช่นกัน การมองโลกแง่ดีช่วยสร้างพลังในการทำงาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกมี 2 ด้าน อีกมิติที่ต้องคำนึงถึงคือสถานการณ์เลวร้าย หากการระบาดลากยาว การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวกลับมา อุตสาหกรรมโฆษณาอาจติดหล่มใน “แดนลบ” ต่ออีกปีได้
สอดคล้องกับ ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัดหรือเอ็มไอ ที่ดีดลูกคิดรางแก้ว มองปัจจัยแวดล้อมประกอบ จึงประเมินอุตสาหกรรมโฆษณาปีฉลูจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เม็ดเงินสะพัด 81,057 ล้านบาท แต่จะโตตามคาด การระบาดของไวรัสร้ายจะต้องคุมอยู่ จำนวนผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น
มองบวกแล้ว ต้องเผื่อใจไว้ จึงจำลองอีก 2 สถานการณ์เพื่อให้ผู้ประกอบการรับมือได้ คือ กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม การระบาดลามไปยังจังหวัดหลัก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จนต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์มาใช้สกัดโรคระบาดบางพื้ันที่ จะทำให้อุตฯโฆษณาโต 5% ส่วนกรณีเลวร้ายสุด การแพร่ระบาดยังคงหนักจนคุมไม่อยู่ จนใช้กระบวนการล็อกดาวน์ในวงกว้างอีกครั้ง จะทำให้อุตฯโฆษณาเติบโตเพียง 1% เท่านั้น หรือเม็ดเงินสะพัดเท่าปีก่อนที่มูลค่าเกือบ 74,000 ล้านบาท
ทว่า ครึ่งเดือนแรกภาพที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อโฆษณา คือการใส่เกียร์ว่างเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เพราะโควิด-19 อย่างเดียว เพราะ ภวัต ย้ำว่าเป็นภาวะปกติของอุตสาหกรรม จึงทำให้เม็ดเงินหายไปจากตลาดราว 10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ประเมินแบบไม่หลอกตัวเอง ในมุมของธุรกิจสื่อโฆษณาจะเริ่มดีขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมกราคมอาจจะเบาๆไปบ้าง เพราะแบรนด์เริ่มตั้งหลัก แต่เดือนหน้าะกลับมมาคึกคัก หากไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดมาเซอร์ไพรส์นะ..เราหวังว่าเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นเดือนของการจุดพลุรับซัมเมอร์ มีเม็ดเงินโฆษณาไหลเวียนในระบบมาก”
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุตสาหกรรมโฆษณาจะกลับมาเติบโตที่เป็นบวกได้ เพราะ “ฐาน” ของปี 2563 คือ “ติดลบ” รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปีด้วย และการฟื้นตัวกลับมา ก็ยังไม่อยู่ในจุดอู้ฟู่เงินสะพัดราว 90,000 ล้านบาท
++กระตุ้นใช้งบโฆษณา
ความไม่แน่นอนมีอยู่สูง และอนาคตเป็นสิ่งที่ “ยากจะคาดการณ์” ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แบรนด์ออกตัวใช้จ่ายงบโฆษณาไม่คึกคักเท่าที่ควร การ Wait and See อีกนิด และรักษากระแสเงินสดไว้กลายเป็นความจำเป็นมากขึ้น แต่ในโลกการตลาด หากแบรนด์หยุดนิ่ง ไม่สื่อสารข้อความใดๆ หรือสร้างสรรค์คอนเทนท์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย นานวันเข้าผู้บริโภคอาจลืมเลือนแบรนด์ ครั้นจะกลับมาทุ่มงบโฆษณาคืนชีพแบรนด์ หวังครองใจกลุ่มเป้าหมายอีกครั้งอาจต้องใช้เงินมากและออกแรงมากกว่าเดิม
ดังนั้น เอเยนซี่ จึงออกโรงกระทุ้งให้แบรนด์สินค้าและบริการ อย่า!งดใช้เงิน อย่าหยุดทำสื่อสารแคมเปญทางการตลาด
“เราไม่ได้บอกว่าต้องใช้เงินเท่าเดิม และสิ่งที่เราพูดมาตลอด แบรนด์อย่าหยุดใช้เงิน” ส่วนจะใช้เงินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ของเอเยนซี่ในการวางแผนซื้อสื่อโฆษณาอย่างชาญฉลาด มีกลยุทธ์มารองรับเพื่อตอบโจทย์และสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า
ปัทมวรรณ เปรียบเทียบสถานการณ์ยอดขายสินค้าที่ตกลง จนแบรนด์ไม่กล้าใช้เงิน เพราะอาจไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่มองอีกมุม หากยิ่งหยุดนิ่ง ไม่ทุ่มเท ทำแคมเปญการตลาดเลย ยอดขายอาจดิ่งหนักกว่าเดิม นอกจากนี้ หาก “คู่แข่ง” ใช้เงินน้อยลง จนกระทั่งไม่ยอมใช้เงินโฆษณา อาจเป็นโอกาสของอีกแบรนด์ที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมการตลาดจนกวาดยอดขายให้เติบโตได้
ด้าน ภวัต เข้าใจสถานการณ์เปราะบางทำให้ลูกค้า ประชาชน ไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย เมื่ออำนาจซื้อไม่มี “ลูกค้า” จึงต้องประหยัดงบโฆษณาตามไปด้วย ทว่า หากวิเคราะห์ตลาดให้รอบด้าน หากแบรนด์ที่ยังสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอยู่ อาจ Breakthrough ขายสินค้า สร้างรายได้กลับมา
ยิ่งกว่านั้น หากจะกวาดยอดขายรับไฮซีซั่นในช่วงซัมเมอร์ ซึ่งเป็นประจำทุกปีที่แบรนด์จำนวนมาก จากหลากหลายหมวดหมู่ เช่น เครื่องดื่ม ครีมกันแดด เครื่องปรับอากาศ อาหาร(ไอศกรีม ขนมหวาน) ฯ จะส่งสินค้าใหม่รับร้อน หากไม่ทยอยเทงบสื่อสารการตลาด อาจพลาดโอกาสนาทีทองไปได้
ทั้งนี้ หากแบรนด์ยังเบรกใช้เงินในช่วงซัมเมอร์ ย่อมน่าเป็นห่วง เพราะเม็ดเงินอาจหายไปจากระบบมหาศาล เพราะช่วงดังกล่าวมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของทั้งปี การออกมาแนะลูกค้าครั้งนี้ จึงเป็นการออกแรงกระทุ้งให้ลูกค้า “ตื่นตัว” กับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ได้ แต่อย่า “ตระหนก” จนไม่ใช้จ่ายเลย
จะเห็นว่าความพยายามดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการพยายามเอาตัวรอดของผู้ประกอบการเอเยนซี่ เพื่อรักษายอดขายหรือ Billing ของตัวเองไว้ แต่อีกด้าน เอกชนถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจวให้ขยายตัวไปได้ และการจัดกิจกรรมทางการตลาด จะช่วยปลุกมู้ดของผู้บริโภคให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการบริโภคภายในประเทศ(Consumer Consumption) ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการฟื้นจีดีพีอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม โควิดที่น่ากลัว แต่อีกปัจจัยที่ทำให้แบรนด์สินค้าและบริการตื่นตระหนกจนตัดสินใจหยุด! ใช้งบโฆษณาไว้ก่อนเลย ก็คือ “ข่าวปลอม” ที่เกิดขึ้นในสังคม
“การหารือกับลูกค้าพบว่า ถ้าเจอ Fake News ลูกค้าจะระงับโฆษณาและกิจกรรมสื่อสารการตลาดเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับอุตสาหกรรมมสื่อโฆษณาของเรา”
จะเห็นว่าอุตสาหกรรมโฆษณามีความ “อ่อนไหว” อย่างมาก ซึ่งนักธุรกิจ นักการตลาดประสานเสียงว่าเกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอน โฆษณา เป็นด่านแรกๆที่ลูกค้าขอเบรกใช้จ่าย เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า ป้องกันความเสี่ยงต่อการลงทุน
++องค์กร-แบรนด์สินค้าไหน? กล้าลงทุนเพิ่ม
ในวิกฤติมีโอกาส ในความมืดมิด มีความหวังเสมอ แล้วอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา มีอะไรเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ภวัต หยิบยกองค์กร และแบรนด์สินค้าที่ป๋า! ใจป้ำ ยอมควักงบโฆษณาเพิ่มอย่างมีกลยุทธ์การสื่อสารตลาดรองรับ
บริษัท แมส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของสินค้ายาสีฟันแบรนด์ “เทพไทย” ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมแบรนด์ โอเค เฮอร์เบิล ใช้งบโฆษณามากกว่า 1,500 ล้านบาท เพิ่มถึง 88% และสื่อที่ใช้มากสุดคือ “ทีวี” ซึ่งกระจายไปยังช่องต่างๆ ทั้งช่องหลักและช่องรอง เช่น ช่อง 7, ทรูโฟร์ยู, โมโน29 เป็นต้น
“เทพไทยเป็นกรณีศึกษา ที่หลายคนเคยมองว่าสื่อทีวีไม่เวิร์คแล้ว ยังเวิร์คอยู่ แต่เราต้องดูว่าจะขายสินค้าอะไร หากเจาะตลาดแมส ทีวีเป็นตัวจุดติดที่ดี”
เทพไทย ยังใช้ทีวีเครื่องมือหลักในการสื่อสารการตลาดสำหรับแบรนด์สินค้าอื่นๆในเครือเพิ่มเติมด้วย โดยที่สื่อออนไลน์ยังไม่ Active มากนักด้วย กลยุทธ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าสินค้ายาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ซึ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง(Mass) ทีวี การซื้อสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ 15 วินาที 30 วินาที มูลค่าหลักหมื่นหลักแสนบาท จึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลายล้านครัวเรือน
สำหรับข้อมูลจากนีลเส็น ระบุองค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด ปี 2563 ยังคงเป็น “ยูนิลีเวอร์” 5,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% ตามด้วย เนสท์เล่ 2,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือพีแอนด์จี 2,416 ล้านบาท ลดลง 4% แมสมาร์เก็ตติ้ง 1,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88% แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส(เอไอเอส) 1,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% โคคา-โคล่า 1,248 ล้านบาท ลดลง 18% ลอรีอัล 1,183 ล้านบาท ลดลง 23% โตโยต้า 1,075 ล้านบาท ลดลง 38% เป็นต้น
ส่วนแบรนด์สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดและเพิ่มขึ้น ได้แก่ เนสกาแฟ 948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% ยาสีฟันเทพไทย 797 ล้านบาท เทสโก้โลตัส 710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมโอเค เฮอร์เบิล 662 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% เอไอเอส 513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% และบรีส 452 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106%
จะเห็นว่าองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ใช้จ่ายโฆษณาเพิ่มยังมี ไม่ว่าจะเป็นยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ ซึ่ง กรุงเทพธุรกิจBizweek ได้ข้อมูลจากผู้บริหารทั้ง 2 ค่ายระบุว่า สินค้าบางรายการสามารถสร้างยอดขายเติบโตเป็นประวัติการณ์ ฝ่าห้วงเวลาย่ำแย่จากวิกฤติโควิดได้ เช่น ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย เป็นต้น ทำให้แบรนด์กล้าที่จะทุ่มงบลงทุนเพื่อโฆษณาสินค้า
ปัจจุบัน “สื่อ” มีหลากหลายประเภททั้งทีวี, สิ่งพิมพ์, สื่อในโรงภาพยนตร์, สื่อโฆษณานอกบ้าน, สื่อเคลื่อนที่ และสื่ออินเตอร์เน็ต ทำให้ลูกค้าเลือกลงโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายให้แม่นยำยิ่งขึ้น การหว่านเงินกระจายทุกสื่อแบบในอดีตจึงเลือนลางลง ตัวอย่าง ทีวี ที่เคยมีสินค้าแมสจับจองนาทีทองหรือไพรม์ไทม์ ช่อง 3 ช่อง 7 ก็ถูกแทนที่ด้วยสินค้าอื่นบ้าง ส่วนช่องรอง ที่ต้องการอยู่รอด ยอมเปิดทางให้สินค้าบางรายการยึดหน้าจอ เช่น การขายสินค้าผ่านทีวีหรือโฮมชอปปิงของแต่ละราย รวมถึง “ถั่งเช่า” จนเกิดการร้องเรียน
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เฟซบุ๊ค ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความเมื่อ 12 ม.ค.64 ระบุว่า ไตวายตายไว การโฆษณาเกินจริงมีความผิด แต่ที่ผิดหนักกว่าคือ กสทช.ที่ไม่ดูแล ไม่ทำหน้าที่ มิเช่นนั้น โรงพยาบาลสร้างหน่วยล้างไตเท่าไหร่ก็ไม่พอ พร้อมจี้ กระทรวงสาธารณสุข และ อย. หารือเร่งด่วนกับ กสทช.เข้มเรื่องดูแลโฆษณาผิดกฏหมาย เพราะ ถั่งเช่าไม่ใช่ยาวิเศษ ยาวิเศษคือการดูแลสุขภาพและใกล้ชิดธรรมชาติ
ประเด็นโฆษณาถั่งเช่าครองจอแก้ว ภวัต บอกว่าผู้ประกอบการทีวีทราบดีว่าในการบริหารคอนเทนท์จะต้องสร้าง “สมดุล” แต่ภาวะกลืนเลือดที่เผชิญมาหลายปีทำให้ต้องเปิดทางรับสินค้าที่พร้อมจะอุดช่องว่างของสล็อตเวลาและสร้างรายได้
“2เดือนที่ผ่านมา โฆษณาถั่งเช่าเยอะจริงๆ ความถี่มากขึ้น การนำเสนอมีหลายแบบ มีการใช้ศิลปิน นักแสดงที่มีเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เอ็นดอสเซอร์ สร้างการรับรู้สินค้าในวงกว้าง จากเดิมผู้บริโภคถั่งเช่าอาจมีจำกัดในวงแคบๆเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม กระแสลบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสินค้า ขณะนีัยังไม่มีกฏหมายมาควบคุม ซึ่งเอเยนซี่จะเกาะติดความสถานการณ์ต่อไป
++ทีวี-อินเตอร์เน็ต ขาขึ้น
สื่อนอกบ้านลดร้อนแรง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโฆษณาที่ยังไม่คึกคัก และต้องลุ้นเดือนกุมภาพันธ์ แบรนด์จะพร้อมใจใช้จ่ายเงินซื้อสื่อ การเลือกสื่อในการส่งสารถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย สำคัญมาก โดยมายด์แชร์ และเอ็มไอ เห็นพ้องว่า “ทีวี” ทรงพลังอีกครั้ง เพราะตอบไลฟ์สไตล์ล็อกดาวน์ของผู้บริโภค ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำงานจากที่บ้าน เป็นต้น
อีกสื่อที่ร้อนแรงต่อเนื่อง คือ “อินเตอร์เน็ต” เพราะเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเสพคอนเทนท์ใดก็ตาม ส่วนแพลตฟอร์มไหนจะครองใจผู้บริโภค แบรนด์สินค้าและนักการตลาดต้องไล่ตาม เจาะอินไซต์ไม่ให้ตกกระแส
ส่วนสื่อที่เปราะบางและ “ลด” ความร้อนแรงอีกระลอก คือ “สื่อโฆษณานอกบ้าน” เพราะการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องอยู่อาการ “กลัว” ไวรัสมรณะอีกครั้ง ขณะที่บางพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่นมีมาตรการควบคุมโรคด้วยการกึ่งล็อกดาวน์ ขอความร่วมมืออย่าออกจากบ้าน งดเดินทาง จะเดินทางข้ามถิ่นต้องมีใบอนุญาตผ่านด่าน ทำให้สายตาของผู้บริโภคหรือ Eyeball ที่จะเห็นโฆษณาบนอาคาร เส้นทางการจราจร รถไฟฟ้า ฯ
มกราคม อาจเป็นเพียงเดือนแรกของการออกสตาร์ทของทุกภาคส่วน แต่อุตสาหกรรมสื่อโฆษณามีแตะเบรกให้เห็นบ้าง แม้จะฟันธง! ไม่ได้ว่าทั้งปีภาพรวมจะฟื้นตัว และการมองบวกไว้เป็นพลังใจที่ดี แต่บริบทโดยรวมสะท้อนว่า อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปีฉลูยังไม่ฉลุย!!