ธนาคารโลกหนุนรัฐใช้มาตรการกาารคลังพยุงเศรษฐกิจ ลดผลกระทบภาคแรงงานที่จ้างงานลด รายได้หด ชี้พิษโควิด ดันคนไทยจนเพิ่มขึ้นปีเดียว 1.5 ล้านคนมาที่ 5.2 ล้านคน ประเมินปีนี้จีดีพีโต 4% ภายใต้สมมุติฐานโควิดระบาดไม่รุนแรง ด้านคลังจ่อเปิด“เราคนละครึ่ง”เฟส 3
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวในการเปิดตัวรายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย” (Thailand Economic)ฉบับใหม่ ภายใต้หัวข้อ Restoring Incomes : Recovering Jobs โดยคาดว่า เศรฐษกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 4% จากปี 2563 ที่ี่คาดว่าจะหดตัว 6.5% ขณะที่ปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 4.7%
โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ ปัจจัยหลักมาจากแรงกระตุ้นภายในประเทศ ทั้งการบริโภค และจากมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือ โควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาด จนส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องล็อกดาวน์ประเทศ เหมือนโควิด-19รอบแรก คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้เติบโตได้เพียงระดับ 2.4% เท่านั้น
คนไทยจนพุ่ง1.5ล้านคน
จากผลกระทบโควิด-19ที่ผ่านมา ธนาคารโลกคาดว่า แรงงานได้รับผลกระทบมากขึ้น ทั้งในแง่การจ้างงาน และรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้คนไทยเข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2563 เป็น 5.2 ล้านคน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน หากเทียบกับปี 2562 ที่มีคนยากจนเพียงระดับ 3.7 ล้านคนเท่านั้น โดยเส้นแบ่งความยากจน คิดตามรายได้อยู่ที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือ 165-170 บาทต่อวัน
“โควิด-19 ทำให้แรงงานไทยว่างงานมากขึ้น เงินเดือนน้อยลง ชั่วโมงการทำงานลด หลายภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตรายได้ค่าจ้างยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงาน จากความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น จากการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ดังนั้นมาตรการด้านการคลัง มีความจำเป็นในการช่วยลดความยากจนและผลกระทบต่อแรงงานให้ลดลงได้”
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ “เราชนะ” ที่จะใช้เงินจำนวน 212,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาคนยากจน เกษตรกร และอาชีพอิสระ ครอบคลุม 31.1 ล้านคน โดยการโอนเงินให้รายละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
แรงงานเปราะบางเพิ่ม
นายแฮรี่ เอ็ดมุนด์ โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้แรงงานไทยว่างงานสูงถึง 3.4 แสนตำแหน่ง และรายได้ลด ชั่วโมงการทำงานลดลง แต่เริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2563 ตลาดแรงงานเริ่มมีการจ้างงานเพิ่ม 8.5 แสนตำแหน่ง แต่ระดับดังกล่าวถือว่ายังต่ำกว่าการจ้างงานในปี 2562 โดยการว่างงานเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มวัยรุ่น ยิ่งเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมความเปราะบางให้กับตลาดแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ฐานะแรงงานอ่อนแอ ถูกเลิกจ้าง รายได้ลดมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการระยะสั้น เช่นการจ้างงานเข้ามาช่วยกลุ่มนี้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในความไม่แน่นอนสูง และเผชิญกับความเสี่ยงในด้านลบ อาทิ ความเป็นไปได้ที่จะมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นอีกรอบ หรือการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้ากว่าที่คาดได้
รวมไปถึงความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภายในและภายนอกประเทศ จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การกลับมาตึงเครียดทางการค้า หรือห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน ที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ามากขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่บั่นทอนแรงงานให้อ่อนแอเพิ่มขึ้น
“วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรฐษกิจไทย ทำให้เห็นจุดเปราะบางสำคัญของไทยมากขึ้น คือจำนวนคนทำงานที่เป็นวัยทำงานลดลง ซึ่งเป็นความท้าทายในการฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ดังนั้นการเพิ่มการจ้างงาน ผลิตภาพ รายได้แรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มยากจน เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างยิ่งของเศรษฐกิจไทย”
แนะออกมาตรการอุ้มแรงงาน
ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ข้อเสนอแนะในระยะสั้น รัฐบาลควรเข้าไปดูแลเร่งด่วนกับกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงช่วยเหลือทางการเงิน ในช่วงที่แรงงานยังไม่สามารถกลับสู่ตลาดแรงงาน รวมไปถึงควรจัดให้มีการเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆให้กับแรงงานในการใช้ประกอบอาชีพในอนาคตเพิ่มขึ้น
ขณะที่ระยะยาวรัฐบาลควรเพิ่มผลิตภาพประเทศ ทำให้สังคมไทยสามารถเข้าสู่สังคมสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งการเพิ่มทักษะให้กลุ่มคน ขยายระยะเวลาการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุให้ยาวนานขึ้น รวมถึงเพิ่มให้สตรีเข้ามามีบทบาทในแรงงานมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างของแรงงานลง
ทั้งนี้หากดูการออกมาตรการด้านการเงิน และการคลังของไทยที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ระดับสูงที่ระดับ 13% ของจีดีพี ซึ่งสูงหากเทียบกับหลายประเทศ โดยเฉพาะจากการคลังที่มีการใช้เม็ดเงินในการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจถึง 6% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา ดังนั้นในระยะข้างหน้า มองว่าภาคการคลังยังมีีพื้นที่เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมได้
“ที่ผ่านมา เรามองว่าภาคการคลังมีการใช้นโยบายการควบคุม การเยียวยาได้ระดับที่ดี ซึ่งหากรวมด้านการเงินด้วยสูงถึง 13% และการทำนโยบายการคลังก็สามารถรักษาเสถียรภาพด้านการคลังได้ค่อนข้างดี อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่หากดูงบประมาณที่อนุมัติปัจจุบันถือว่ายังเบิกจ่ายไม่สูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะเบิกจ่ายต่ำเป้า ดังนั้นการที่เศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานาน เป็นไปได้ว่าการใช้วงเงินอาจจะล้าช้า ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางการคลัง ถือว่าอยู่ในภาวะที่ท้าทาย”
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ปีนี้คาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้รุนแรงเท่ากับสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก ซึ่งภาครัฐน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดี ทำให้ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่ยอมรับว่าจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความท้าทายและมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
คลังเล็งเคาะ“คนละครึ่ง”เฟส 3
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาต่ออายุมาตรการ“คนละครึ่ง” เฟส 3 โดยขอดูเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ก่อนว่าประชาชนใช้จ่ายมากแค่ไหน ถ้าหากยังไม่ถึงที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะพิจารณาเปิดเฟส 3
“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังติดตามการแพร่ระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจตลอดเวลาว่ามีความคึกคักมากขึ้นแค่ไหน ก่อนมีโควิด-19ระลอกใหม่ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว แต่พอมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองเศรษฐกิจจึงเข้าสู่ขาลง ซึ่งเป็นที่มาของโครงการคนละครึ่งเฟส 2”
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงทะเบียน “คนละครึ่ง” ในรอบเก็บตก จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ์ วานนี้(20ม.ค.)พบว่า มีคนสนใจจำนวนมาก โดยมีคนมารอเข้าระบบมากกว่า 3 ล้านคน แต่เปิดรับได้เพียง 1.34 ล้านคน และการลงทะเบียนก็ครบจำนวนอย่างรวดเร็วภายใน 10 นาทีหลังเปิดให้ลงทะเบียน
“ขอยืนยันว่า ฝั่งขาเข้า(ผู้ลงทะเบียน)กรุงไทยรับได้หมด ไม่มี Error (ข้อผิดพลาด) ที่เหลือขึ้นอยู่กับฝั่งผู้ให้บริการมือถือแล้วว่าบริการได้มากน้อยแค่ไหน”นายกฤษฎา กล่าว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรลงทะเบียนรับ“เราชนะ”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวถึงกรณีข้อสงสัยว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะด้วยหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า เกษตรกรถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบอาชีพอิสระ ดังนั้นจึงอยู่ในข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยา และต้องมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.เราชนะ.com ยกเว้นเกษตรกรที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลเดิมของรัฐ เช่น เป็นผู้ถือบัตรคนจน อยู่ในโครงการคนละครึ่ง และ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียน โดยเงินจะโอนเข้าระบบที่มีอยู่เดิมเมื่อถึงกำหนด
อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิจะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดด้วย เช่น ต้องไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากเกินกว่า 5 แสนบาท หรือ มีรายได้ถึง 3 แสนบาทต่อปี ซึ่งจะถือว่า เป็นเกษตรกรที่เป็นคนมีฐานะ ดังนั้นแม้ว่า เกษตรกรที่มีรายได้ดังกล่าวมาลงทะเบียน แต่ระบบจะมีการตรวจสอบเพื่อดำเนินการตัดสิทธิ
“รัฐบาลเปิดโครงการนี้ เพื่อเยียวยาประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพอิสระ แต่ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ต้องไม่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีฐานะ เพื่อให้เม็ดเงินเยียวยาเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ”