KBANK กำไรปี63 ดิ่ง 23.86% เหตุแบกสำรองเพิ่ม 9.5พันล้าน จากปีก่อน
กสิกร แจ้งกำไร 63ที่ 29,487 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 9,240 ล้านบาท หรือ 23.86% ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารตั้งสำรองเพิ่ม 9,536 จากปีก่อน
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ
. ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเนื่องมายังการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว สำหรับในปี 2564 นั้น เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง
โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งทำให้ประเมินว่า เส้นทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และแรงหนุนส่วนใหญ่ยังมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน (รวมถึง TFRS 9) ทำให้งบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2563 จำนวน 29,487 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 9,240 ล้านบาท หรือ 23.86%
ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 9,536 ล้านบาท หรือ 28.04%
. ซึ่งเป็นการตั้งสำรอง ฯ ตั้งแต่ในครึ่งแรกของปีเป็นจำนวนรวม 32,064 ล้านบาท เนื่องจากความไม่แน่นอนในระดับสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้มาก่อน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในครึ่งปีหลังที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าทยอยสิ้นสุดลง ลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งในปลายไตรมาส 4 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ก็ตาม
ธนาคารได้มีการทบทวนประเมินความเพียงพอของสำรองฯ พบว่าการตั้งสำรองฯ ในสามไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่เพียงพอแล้ว ธนาคารจึงพิจารณาตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 4 ในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสามไตรมาสของปี
โดยเมื่อรวมการตั้งสำรองฯ ในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 43,548 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับที่สามารถรองรับความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 6,334 ล้านบาท หรือ 6.17% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย และการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.27% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 11,934 ล้านบาท หรือ 20.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ลดลง
และค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อลดลงจากการเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 2,733 ล้านบาท หรือ 3.76% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของประมาณการค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายทางการตลาด
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้เพิ่มขึ้น แม้ว่าในไตรมาส 4 ปี 2563 ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,825 ล้านบาท หรือ 23.26%
ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 45.19%
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,658,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 364,909 ล้านบาท หรือ 11.08%
ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.93%
โดยธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19%
โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 18.80% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.13%