มอง OR ผ่านสายตา 'อรรถพล' หวัง ปตท. โฮลดิ้งครบเครื่อง

มอง OR ผ่านสายตา 'อรรถพล' หวัง ปตท. โฮลดิ้งครบเครื่อง

ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก กลายเป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและนักลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อหุ้นน้องใหม่เครือ ปตท.ที่เป็นเจ้าของอาณาจักรพลังงานยักษ์ใหญ่ในไทยอย่าง OR เตรียมเข้ากระจายหุ้น และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยร่วมเป็นเจ้าของหุ้น

วินาทีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ถึงความร้อนแรงหุ้น IPO ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ที่เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น (ไม่รวมกรีนชู) และมีกรีนชูอีก 390 ล้านหุ้น กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 16-18 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 41,760 - 46,980 ล้านบาท (ไม่รวมกรีนชู) ซึ่งนักลงทุนรายย่อยต่างเฝ้ารอจับจองเป็นของหุ้น โดยมีกำหนดเปิดจองซื้อผ่าน 3 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และกสิกรไทย วันที่ 24 ม.ค.- 2 ก.พ. นี้

กระแสความต้องการเป็นเจ้าของหุ้น OR ที่เรียกได้ว่าเป็น “หุ้นมหาชน” แม้้ว่าหุ้นตัวน้องใหม่ต้วนี้จะเป็นที่ต้องการของนักลงทุนแต่ก็ยังมีข้อกังวลในบางประเด็น โดยเฉพาะราคาหุ้น OR ที่อาจไปไม่ได้ไกลนัก เพราะกระจายสู่มือนักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น เพื่อให้เคลียร์ข้อสงสัยและสร้างความกระจ่างให้นักลงทุนรายย่อยมีข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้อง ก่อนตัดสินใจจับจองเป็นเจ้าของ หุ้น OR นั้น

 “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ถึงมุมมองอนาคตการเติบโตของ OR หลังแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกไปจากปตท.

นายอรรถพล ได้แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาจากพื้นฐานทางธุรกิจของ OR เป็นหลัก ก่อนตัดสินใจเป็นเจ้าของหุ้น OR โดยกรณีที่นักลงทุนหลายรายกังวลว่า หลังจากการขายหุ้น IPO ของ OR แล้ว อาจส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นไปติดดอย เหมือนกับหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเมื่อช่วงปลายปี 2563 นั้น ในส่วนของความเคลื่อนไหวราคาหุ้น เชื่อว่าคงเป็นการปรับขึ้นลงตามสภาวะของตลาดที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา

แต่ ปตท.ในฐานะบริษัทแม่ ก็เชื่อมั่นในพื้นฐานการเติบโตทางธุรกิจของ OR ที่มีความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งปัจจุบัน OR มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ในส่วนของธุรกิจน้ำมัน กว่า 40% เป็นอันดับที่ 1 ของตลาด ยังห่างจากอันดับสองที่มีมาร์เก็ตแชร์ กว่า 10% หลายเท่าตัว และมาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ก็เป็นอันดับที่ 1 ของตลาด อีกทั้ง สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil อยู่ที่ประมาณ 25% หรือกว่า 3,000 ล้านบาท นับว่ามีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในตลาดเช่นกัน ถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่งมาก 

161127730957

ด้านกลยุทธ์การเติบโตของ OR ก็มีชัดเจน มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ไปขยายการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจน้ำมัน ,ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ หรือธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งในทั้ง 3 ส่วนของธุรกิจหลักจะยังเติบโตขึ้น แต่ที่จะเห็นการเติบโตมากขึ้น จะเป็นในส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศ โดยจะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของโออาร์ เจาะเข้าไปหาโอกาสลงทุนในตลาดอาเซียนและจีน มากขึ้น ซึ่งในส่วนของธุรกิจ Non-Oil ต่อไปก็จะเห็นโอกาสการทำดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A)และการร่วมลงทุน (Joint Venture) กับพันธมิตรท้องถิ่นในต่างประเทศมากขึ้น

“ปตท.คาดหวังว่าสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจ Non-Oil และต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ราว 25% และ 6% ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 69% มาจากธุรกิจน้ำมัน” 

โดยธุรกิจต่างประเทศ จะเน้นขยายไปยังอาเซียนและจีน ในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต ซึ่งวางเป้า 5 ปีข้างหน้า จะมีสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน เป็นกว่า 600 แห่ง จากกว่า 300 แห่งในปัจจุบัน และร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพิ่มเป็น 500-600 แห่งจากราว 270 แห่งในปัจจุบัน และยังมองหาโอกาสใหม่จากการทำดีลร่วมทุน (JV) หรือซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล เปิดร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ในเวียดนาม ไปแล้ว 1 สาขา และมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติม

ธุรกิจ Non-Oil มีเป้าหมายขยายสาขาร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ในประเทศเพิ่มเป็นประมาณ 5,300 แห่งใน 5 ปี จากปัจจุบันมีประมาณ 3,100 แห่ง รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรขยายธุรกิจแบรนด์กาแฟในระดับไฮเอนท์ Pacamara หลังจากได้เข้าซื้อหุ้น 65% ในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์รองรับการขยายเครือข่ายของคาเฟ่อเมซอนในอนาคต

โดยธุรกิจ Non-Oil ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในธุรกิจกาแฟ แต่รวมถึง Mobility Ecosystem ที่ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นราว 9% ใน Flash Express ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จัดส่งพัสดุอันดับ 3 ของไทย รองจาก Kerry และไปรษณีย์ไทย ตลอดจนขยายไปสู่ Life Style Ecosystem เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่

161127733354

ส่วนธุรกิจน้ำมัน ยังขยายต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าจะมีสถานีบริการน้ำมัน “พีทีที สเตชั่น” ในประเทศไทย เพิ่มเป็นประมาณ 2,500 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 1,968 แห่ง หรือ จะขยายเพิ่มปีละ 108 แห่ง ซึ่งในส่วนของธุรกิจน้ำมัน ก็ยังมีการขายน้ำมันอากาศยาน การขายน้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่ง และการขายน้ำมันหล่อลื่น ที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าน้ำมันอากาศยานในช่วงนี้จะลดลงจากผลกระทบโควิด-19 แต่เชื่อว่าในอนาคตจะกลับมาเติบโตหากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง

161127735381

นายอรรถพล มองว่า เมื่อ OR แยกธุรกิจออกไปจาก ปตท. ทาง OR ก็จะเป็นอีก Flagship ที่สร้างสีสันให้กับกลุ่ม ปตท. และทำให้ ปตท.กลายเป็น “โฮลดิ้ง” ที่มีความหลากหลายของธุรกิจครบเครื่องมากขึ้น ทั้งธุรกิจต้นน้ำ ถึงปลยน้ำ เริ่มจากธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจท่อก๊าซฯ โรงแยกก๊าซ และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น

“การระดมทุนของ OR จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเข้ามา ก็จะเอื้อให้ OR มีเงินไปขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น แม้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของปตท.ใน OR จะลงเหลือ 75% จาก 100% แต่เชื่อมั่นว่า สัดส่วนหุ้นที่หายไป 25% จะทำให้ ปตท.ได้รับประโยชย์จากโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของ OR ที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคต”

ดังนั้น เชื่อว่า หุ้น OR จะเป็นหุ้นที่สร้างเสถียรภาพในระยะยาวแน่นอน และการกระจายหุ้นครั้งนี้ ปตท.ก็มีความตั้งใจที่จะให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจของ OR อย่างโปร่งใส และเติบโตร่วมกันต่อไป

161127738919