จากเช็คช่วยชาติถึง 'เราชนะ' ระวังน้ำผึ้งหยดเดียว
มาตรการจ่ายเงินเยียวยาโควิด โดยเฉพาะ "เราชนะ" ที่จะมาช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลควรพิจารณาให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอย่างถี่ถ้วน อย่าให้เหมือนการจ่ายเช็คช่วยชาติเมื่อปี 2552 ที่จ่ายแค่เฉพะบางกลุ่มที่มีฐานข้อมูลเท่านั้น
มาตรการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยเคยถูกนำมาใช้เมื่อปีเดือน มี.ค.2552 หลังจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทยที่มีตลาดส่งออกอันดับ 1 ในขณะนั้น คือ สหรัฐ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลงมากในขณะนั้น ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากและส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกไทยถึงขั้นต้องตั้งโต๊ะแถลงให้ภาครัฐแก้ปัญหา
การจ่ายเช็คช่วยชาติในขณะนั้นจ่ายให้เฉพาะผู้อยู่ในระบบประกันสังคมและบุคลากรของรัฐ เพราะในขณะนั้นนอกจากระบบราชการแล้วมีเฉพาะระบบประกันสังคมที่มีฐานข้อมูลรายได้ของประชาชน โดยกำหนดเงื่อนไขจ่ายเงินช่วยเหลือในรูปแบบเช็คให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท รวมแล้วจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 9 ล้านคน หลังการแจกเช็คช่วยชาติมีห้างค้าปลีกออกแคมเปญเพิ่มมูลค่าของเช็คช่วยชาติ เช่น การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563-2564 รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินให้กับกลุ่มรายได้อิสระ เกษตรกรและกลุ่มเปราะบางในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน รวม คนละ 15,000 บาท และเมื่อมีการระบาดรอบ 2 ในช่วงต้นปี 2564 รัฐบาลมีโครงการ “เราชนะ” ให้เงินช่วยเหลือคนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท ให้บุคคลกลุ่มเดิม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่หลังจากนี้จะมีการรวมกลุ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะออกมารวมกลุ่มประท้วงรัฐบาล มีการหยิบยกวาทกรรม “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มาจุดประเด็นที่ไม่ได้รับการเยียวยามาตลอดทั้งที่เป็นกลุ่มที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีแรงงานในระบบไม่น้อยที่ถูกลดเงินเดือน ถูกลดเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถูกลดสมทบกองทุนประกันสังคมที่อ้างเป็นการช่วยเหลือแรงงาน แต่สิทธิในอนาคตของแรงงานถูกลดทอนลงไปด้วย
หลังจาก นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเยียวยาข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับสิทธิ “เราชนะ” ในขณะที่กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับจะเป็นมาตรการทั่วไปที่เกือบทุกคนได้ทั้ง “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือ “คนละครึ่ง” หรือ “ช้อปดีมีคืน” ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณา คือ ในกลุ่มที่รัฐมองว่าเข้มแข็งยืนเองได้ก็ยังมีคนที่อ่อนแรงที่ต้องการความช่วยเหลือ และรัฐมีฐานข้อมูลรายได้ผู้ประกันตนอยู่แล้วจึงน่าจะประเมินได้ว่ามีใครควรได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งอาจใช้เกณฑ์เงินเดือนเป็นเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือ