WHAเปิดแผนปี 64 รุก4 ธุรกิจหลัก ตั้งเป้ารายได้-กำไรโตไม่ต่ำกว่า30%

WHAเปิดแผนปี 64 รุก4 ธุรกิจหลัก ตั้งเป้ารายได้-กำไรโตไม่ต่ำกว่า30%

WHA เปิดแผนธุรกิ 2564 มุ่งพัฒนาธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มให้พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตอย่างราบรื่น ตั้งเป้ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติเพิ่มขึ้นอย่างน้อย30% พร้อมรักษาEBITDAไม่ต่ำกว่า  35%  ทุ่มงบลงทุน 5ปี 5.6 หมื่นล้าน

 บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ WHA  เปิดแผนการดำเนินงานปี 2564 บริษัท เริ่มต้นปี 2564 ด้วยการเปิดตัวโครงการ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ (WHA Tower) อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ บนถนนเทพรัตน์ ก.ม. 7 (ถนนบางนา-ตราด เดิม) ซึ่งเป็นอาคารสูง 25 ชั้น เกรดเอ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 52,000 ตารางเมตร มีพื้นที่สำนักงานระดับไฮเอนด์ สร้างสมดุลชีวิตการทำงานและไลฟ์สไตล์ที่ลงตัวให้แก่พนักงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และลูกค้า รวมถึงบริษัทที่เข้ามาเช่าพื้นที่  โครงการ WHA Tower ตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางธุรกิจสำคัญ ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมการเดินทางสะดวกสบาย ล่าสุดคว้ารางวัลสุดยอด "สถาปัตยกรรมอาคารสำนักงานแบบไฮไรส์ ประจำประเทศไทย (Commercial High Rise Architecture Thailand)"  

ธุรกิจโลจิสติกส์ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มุ่งมั่นที่จะแสวงหาลูกค้าในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง เน้นการเพิ่มมูลค่าให้การบริการผ่านการผสานรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ การให้บริการด้านโลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลก คลังสินค้าของดับบลิวเอชเอ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และในเขตอีอีซี ทำให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ สามารถสานต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าสำคัญ อีกทั้งผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจรายใหม่ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ในระยะยาว ในปี 2564 บริษัทฯ จะเปิดโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 5 โครงการ รวมพื้นที่ 400,000 ตารางเมตร พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ อาทิ 5G และโรโบติกส์ ซึ่งจะส่งผลให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ พัฒนาไปสู่การเป็น "คลังสินค้าอัจฉริยะ" โดยตั้งเป้าโครงการใหม่ และอาคารอุตสาหกรรมให้เช่าในปี 2564 ไว้ที่ 175,000 ตารางเมตร และสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่สร้างผลตอบแทนสูงอีกกว่า 50,000ตารางเมตร
 

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) ยังคงยืนหยัดความเป็นผู้นำในประเทศไทย และขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอีอีซี พร้อมเปิดดำเนินการและต้อนรับกลุ่มนักลงทุนแล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมภายในนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (จำนวน 641 ไร่) นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (จำนวน 2,152 ไร่) และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (จำนวน 1,907 ไร่) รวมถึงการติดตั้งห้องควบคุมอัจฉริยะที่อาคาร  WHA Towerภายใต้แนวคิด  "Smart Eco Industrial Estates" ซึ่งจะช่วยให้ บริษัทฯ สามารถควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานแบบรวมศูนย์
 

ในประเทศเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จะเร่งสานต่องานก่อสร้างพื้นที่ส่วนที่เหลือในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 พร้อมขยายการก่อสร้างในเฟส 2 และเฟส 3 คิดเป็นพื้นที่แล้วเสร็จโดยรวม 7,800 ไร่ และจะเริ่มดำเนินการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่งในจังหวัดทัญฮว้า รวมพื้นที่ 7,500 ไร่ ได้แก่ โครงการ WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa และโครงการ WHA Northern Industrial Zone - Thanh Hoa ในช่วงปี 2565 - 2566

 ด้วยความต้องการที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้า บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2564 ที่จำนวน 1,000 ไร่

 ธุรกิจระบบสาธารณูปโภค และพลังงาน ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม ในประเทศไทยและเวียดนาม โดยการเริ่มคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมโซลูชันพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ
o   ด้านสาธารณูปโภค ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะใช้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บริการโซลูชันน้ำหลากหลายรูปแบบ ได้แก่Wastewater Reclamation และการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) สำหรับลูกค้าภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงผู้พัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมอื่นๆ และเขตเทศบาล นอกจากนี้บริษัทฯ พร้อมเปิดตัวโซลูชันนวัตกรรมและแพลตฟอร์มการให้บริการระบบสาธารณูปโภคสำหรับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนในประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทฯ มีหุ้นในบริษัทน้ำ 2 แห่ง จะยังมองหาโอกาสการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคเพิ่มเติม โดยในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดจัดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมไว้ที่ 153 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อน

 ด้านพลังงาน ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) สำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าการเซ็นสัญญาเพื่อลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารวม 30 เมกะวัตต์ WHAUP เร่งเดินหน้าโครงการที่มุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การทดสอบระบบ Peer-to-Peer Energy Trading และจะนำมาใช้จริงเมื่อผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 650 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน
 

ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจ จะมีการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อด้านดิจิทัลภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ จะมอบบริการที่ครบวงจรมากขึ้นให้แก่ลูกค้า พร้อมขยายโอกาสจากการใช้เทคโนโลยี 5G ภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ
 

"ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มองว่าปี 2564 โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แต่ยังต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ บริษัทฯ พร้อมนำเสนอโครงการใหม่ ๆ ที่กำลังจะแล้วเสร็จ เตรียมรองรับการฟื้นตัวของตลาดในเร็ว ๆ นี้ อันจะช่วยให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดี คาดว่ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 จากปีก่อน ตั้งเป้ารายได้จากการดำเนินงาน อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่แข็งแกร่งอยู่ที่กว่าร้อยละ 35 และคาดหวังการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เราคาดการณ์ว่าจะมีการใช้งบประมาณในการลงทุนช่วงปี 2564 – 2568 อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่า เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ด้วยความแข็งแกร่งและความสามารถในการปรับตัวรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" คุณจรีพร กล่าวสรุป

สำหรับปี 2563 เป็นอีกหนึ่งปีที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของประเทศไทยในฐานะผู้พัฒนาด้านโลจิสติกส์  นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนดิจิทัล แพลตฟอร์ม

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่ดินอุตสาหกรรมในประเทศไทย อันเนื่องมาจากการระงับการเดินทางชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มลูกค้ายังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้อย่างแข็งแกร่ง 

กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ สามารถทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมในปีแห่งความท้าทาย โดยกลุ่มธุรกิจ โลจิสติกส์ มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น สอดรับกับความสำเร็จของวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซและความต้องการคลังสินค้าในไทยที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าที่มีผู้เช่าภายใต้การถือครองและบริหารเพิ่มขึ้นประมาณ 130,600 ตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมีการทำสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูง อีกจำนวน 112,000 ตารางเมตร  

สำหรับการลงทุนในประเทศเวียดนาม มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมหาศาล ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดขายที่ดินในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน ในจังหวัดเหงะอาน เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันสามารถขายที่ดินได้ครึ่งหนึ่งของโครงการเฟส 1 ซึ่งมีพื้นที่รวม 900 ไร่ 

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายและตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง  ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้เตรียมพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ได้แก่ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับทัส โฮลดิ้งส์ ผู้พัฒนาศูนย์ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน เพื่อดำเนินการศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม "ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ" แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ  

ประเทศเวียดนามนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่รองรับการย้ายฐานการผลิตนอกเหนือจากประเทศไทย ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นประจำจังหวัดทัญฮว้า (Thanh Hoa) เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรม 2 แห่งในจังหวัดทัญฮว้า พื้นที่รวมเกือบ 7,500 ไร่ นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สำหรับนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทยยังคงพัฒนาและขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) พัฒนาแล้วครอบคลุมพื้นที่ 2,200 ไร่ ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY 36)  ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ในประเทศไทยของบริษัทฯ มีพื้นที่ 1,281 ไร่ ได้เริ่มดำเนินการพัฒนาในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ที่ผ่านมา  

ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ดับบลิวเอชเอ ได้เพิ่มการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเริ่มเปิดดำเนินการของโครงการWastewater Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยกำลังผลิต 9,125,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งมีโรงผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ด้วยกำลังผลิตสูงสุดกว่า 4,400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อให้บริการแก่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) แม้ว่าจะมีสถานการณ์ภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโควิด-19  WHAUP ยังสามารถเพิ่มยอดจัดจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมขึ้นเป็น 114 ล้านลูกบาศ์กเมตร หรือคิดเป็นการเติบโตราวร้อยละ 3.7 จากปีก่อน การพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีความต้องการจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอบริการติดตั้งและการบริหารจัดการแบบครบวงจร ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดเซ็นสัญญาเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้า รวม 50.8 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้น 590 เมกะวัตต์ 

เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กลุ่มธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จำนวน 109 ตู้แร็ค กับบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JasTel)นอกจากนั้น ดับบลิวเอชเอ ยังได้จับมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำเพื่อวางแผนการติดตั้งเครือข่ายเพื่อกระจายสัญญาณ 5G และทดสอบการใช้งานจริงของโซลูชัน 5G ภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ 

ในปี 2563 ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนเข้ากองทรัสต์ WHART และ HREITคิดเป็นมูลค่ารวม 4,870 ล้านบาท โดย HREIT เป็นการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 ลงทุนในพื้นที่โรงงาน และคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่า บนพื้นที่รวม 48,127 ตารางเมตร เช่นเดียวกับ WHART ที่ได้เพิ่มทุนครั้งที่ 5 เพื่อลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม ประกอบด้วยโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่จำนวน 3 โครงการ ซึ่งมีพื้นที่รวม 128,789 ตารางเมตร 

บริษัทฯ คาดว่ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติในปี 2563 จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 9.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม 8.3 หมื่นล้านบาท และทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ A- 

"แม้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เราได้วางรากฐานอันมั่นคงไว้ให้กับทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ผลตอบรับที่ได้จึงเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ตลอดจนยังสามารถรักษาฐานกลุ่มลูกค้าไว้ได้ ทำให้เราได้รับผลกระทบน้อยมาก" นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทาย บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าดำเนินธุรกิจ นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายธุรกิจโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ตลอดจนบริหารจัดการฐานะทางการเงินได้อย่างแข็งแกร่ง เราได้ไปถึงส่วนหนึ่งของเส้นทางสำคัญที่ตั้งไว้ และพร้อมมุ่งมั่นที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นในปี 2564" นางสาวจรีพร กล่าวเพิ่มเติม