สรรพสามิตชี้แจง ทำไมไม่ให้ขาย 'เบียร์สด' แบบสั่งกลับบ้าน?
จากกรณีสมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ขอให้ร้านค้าสามารถจำหน่าย "เบียร์สด" ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อนำกลับไปบริโภคที่บ้าน เรื่องนี้สรรพสามิตชี้แจงว่า ทำไม่ได้!
วันนี้ (2 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ขอให้ร้านค้าสามารถจำหน่าย "เบียร์สด" ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อนำกลับไปบริโภคที่บ้านนั้น เรื่องนี้ สรรพสามิต ได้ออกมาชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องมาตรการเยียวยา ของผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ผ่านทางเพจ "สถานีข่าวกระทรวงการคลัง" ระบุว่า
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมรวมตัวที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิต 2 ประเด็น ดังนี้
1. ขอให้ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้าน
ประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 157 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงภาชนะสุราเพื่อการค้า เว้นแต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตสุรา หรือเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 เฉพาะกรณีผู้ซื้อได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น”
วัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรานี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งถ้าหากให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุได้อย่างอิสระนอกโรงอุตสาหกรรม ซึ่งอาจมิได้มีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค
จึงอาจทำให้ "เบียร์สด" หรือ "คราฟท์เบียร์" ดังกล่าว เกิดปัญหาการปนเปื้อน รวมถึงคุณภาพของเบียร์สดอาจจะเปลี่ยนแปลงไประหว่างการเปลี่ยนแปลงภาชนะ ดังนั้นการอนุญาตให้ร้านค้าสามารถเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุเบียร์สดได้อย่างอิสระ อาจจะส่งผลต่อผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ในประเด็นนี้จึงไม่สามารถอนุญาตให้ทำได้
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รักษาการที่ปรึกษาฯ ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต
2. ขอให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีสรรพสามิตเป็นงวดๆ ให้แก่ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
ประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า การอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถแบ่งชำระภาษีเป็นงวดๆ จะเกิดความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บภาษีในภายหลัง เนื่องจากมีการนำสินค้านำเข้าที่ยังไม่ได้ชำระภาษีออกไปจำหน่าย ส่งผลให้การควบคุม ติดตามสินค้าดังกล่าวให้มาชำระภาษีจะดำเนินการได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าบริโภคต่างๆ รวมถึง "คราฟท์เบียร์" ด้วย ดังนั้นจึงไม่อนุญาตแบ่งชำระภาษีได้
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ให้อำนาจ "กรมศุลกากร" ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้านำเข้าแทนกรมสรรพสามิต และตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 54 (2) บัญญัติว่า “ในกรณีสินค้าที่นำเข้าให้ผู้นำเข้า ยื่นแบบรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมกับชำระภาษีในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร” ซึ่งเป็นการชำระภาษีในคราวเดียวกับอากรศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
---------------------
อ้างอิง : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต