“อาคม”ยันประเทศไม่เข้าข่ายล้มละลาย
“อาคม”แจงภูมิคุ้มกันประเทศยังดี ไม่จ่อล้มละลาย ระบุ ทุนสำรอง และ ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ขณะที่ หนี้สาธารณะยังอยู่ในเพดาน ยันภาครัฐพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง และจำเป็นการปฏิรูปรายได้เพื่อให้ภาครัฐมีความมั่นคงในการใช้จ่าย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในหัวข้อ”แนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19”ในงานสัมมนา”พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย”ซึ่งจัดโดยเครือมติชน โดยยืนยันรัฐบาลมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่ดี สะท้อนจากเครื่องชี้ทั้งในแง่จีดีพีที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ฐานะการคลังอยู่ในระดับที่ดี และ ระดับหนี้สาธารณะที่ยังคงยืนในกรอบความยั่งยืน ดังนั้น ตามที่มีข่าวปรากฎในสื่อว่า เศรษฐกิจประเทศจะเข้าสู่การล้มละลายนั้น ไม่เป็นความจริง
เขากล่าวว่า วัคซีนทางเศรษฐกิจ ถือเป็นภูมิคุ้มกันระดับประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันเช่นกัน ซึ่งการบริหารจัดการความเสี่ยงก็เป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่ง ขณะนี้ ปรากฏข่าว ประเทศจะล้มละลาย ซึ่งตัวชี้วัดจะมี 3 ระดับ อันดับหนึ่ง คือ จีดีพี ต้องเติบโตต่อเนื่องและมั่นคง จะสูงต่ำไม่เป็นไร แต่ต้องต่อเนื่อง บางทีอยากได้ 5-8% แต่เศรษฐกิจเราใหญ่มากอันดับสองอาเซียน จะเติบโต 1% ต้องใช้แรงอย่างมาก
อันดับสอง ฐานะการเงินประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งหมายถึง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเรา ปัจจุบันอยู่ที่ 2-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเอาเงินมาชำระหนี้ระยะสั้นก็ได้ถึง 3 เท่า แสดงถึงฐานะมั่นคง อันดับสาม การเงินการคลังในประเทศ ซึ่งต้องดูฐานะการคลัง ก็มีเงินสำรองเช่นกัน ก็เรียนว่า ยังมั่นคงอยู่ ฉะนั้น ข้อมูลปรากฏในสื่อว่าประเทศจะล้มละลาย ไม่ใช่
อันดับที่สี่ คือ ระดับหนี้สาธารณะ ปัจจุบันอยู่ที่ 50% ของจีดีพี ซึ่งถามว่า สูงไหม เรากำหนดเพดานไม่เกิน 60%ต่อจีดีพี ที่ขึ้นมาในระดับ 50% เพราะโควิด-19 จำเป็นต้องกู้เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพื่อรับมือ ลำพังงบประจำปีนั้น ไม่ได้ เพราะผูกพันส่วนราชการหมด เราก็นำมาแก้ไขเฉพาะหน้า ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอ เยียวยาผู้ที่ได้รับผบกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
“ปีที่แล้วเราปิดประเทศ ล็อกดาวน์ไป สองเดือน กิจกรรมเศรษฐกิจไม่มี คนก็ไม่มีงานทำ และเมื่อเยียวยาเสร็จแล้ว ก็ต้องฟื้นฟู ฉะนั้น ก็กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น แต่หนี้ที่เพิ่ม ไม่ใช่เราประเทศเดียว ทุกประเทศในโลก ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟเอง ก็ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินให้ภาคการคลังใช้จ่ายเงิน ฉะนั้น เวลานี้ ทั่วโลกก็หนี้เพิ่มขึ้น ในประเทศแล้วสูงกว่า 100% แต่ของเรากำหนดไว้เกิน 60% แสดงภูมิคุ้มกันที่ดี”
เขากล่าวด้วยว่า ภูมิคุ้มกันอันดับสอง คือ ภูมิคุ้มกันกลุ่ม คือ ภาคการผลิต โฟกัสไปที่ท่องเที่ยว ก็เจอปัญหาทุกประเทศ ที่โควิด-19 กระทบเรื่องรายได้ภาคการผลิต เกษตร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยว โดยภาคเกษตรก็กระทบ เพราะเป็นวัตถุดิบอาหารป้อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะกระทบมากน้อยขึ้นอยู่กับว่า มีการกระจายความเสี่ยงมากแค่ไหน สำหรับภูมิคุ้มกันอันดับสาม คือ ในระดับประชาชนและแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินออมเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน เราก็มีระบบการออมรองรับ ทั้งในภาคบังคับและสมัครใจ
เขากล่าวด้วยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เกิดโควิด-19 ในปีที่แล้วกับปีนี้ มีความแตกต่างกัน โดยรอบแรก กิจกรรมเศรษฐกิจปิดหมด เราให้ความสำคัญกับการดูแลระบบสาธารณสุข แต่รอบนี้ เราให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถเดินต่อไปได้
“ปีนี้เราต้องบาลานซ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการแพร่ระบาด เราไม่ได้หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมด เราหยุดในจุดที่สุ่มเสี่ยงแหล่งแพร่เชื้อ โดยเฉพาะสถานบันเทิงต่างๆ ขณะที่ ระบบโลจิสติกส์ ร้านอาหารไม่กระทบ ในเดือนธ.ค.-ม.ค.การใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ยอดใช้จ่ายยังเพิ่ม ไม่ได้หยุดเลย แสดงว่า การดำเนินชีวิตยังดำเนินอยู่ นี่คือ ความแตกต่าง”
สำหรับแนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลยังคงผลักดันให้เกิดการลงทุนในภาครัฐ เพื่อเตรียมตัวรองรับหลังสิ้นสุดสถานการณ์โควิด - 19 ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเยียาวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ก็ดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะต้องปฏิรูปโครงสร้างรายได้ เพื่อให้มั่นใจว่า เรามีภูมิคุ้มกันเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมในอนาคต อาทิ ดิจิทัล การท่องเที่ยว ออนไลน์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ