'พลังงาน' รายงานครม.กรณีพิพาท 'แหล่งเอราวัณ' เข้าสู่อนุญาโตตุลาการ
"กระทรวงพลังงาน" รายงาน ครม.เตรียมพร้อมเข้าสู่ กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพิพาทรื้อรอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ เผยหาก ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ล่าช้าหวังผลิตก๊าซฯต่ำกว่าแผน ด้าน ปตท. ผนึกรัฐวางแผนจัดหาก๊าซฯเสริมความมั่นคง
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้รายงานคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว หลังจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน โดยทางบริษัทแม่ คือ บริษัทเชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเพื่อขอให้นำข้อพิพาท หาผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ เข้าสู่กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง หลังจากที่เชฟรอนฯ ได้การระงับกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการเป็นการชั่วคราว ไปเมื่อช่วงดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อให้กลับมาสู่กระบวนการเจรจาให้ได้ข้อยุติ
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงพลังงาน ได้เสนอครม.เพื่อเตรียมงบประมาณสำหรับใช้ต่อสู้คดีนี้ไว้ประมาณ 450 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ
“กรณีข้อพิพากดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงาน พยายามหาแนวทางที่ดีที่สุด และต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการจัดหาก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าต้องไม่สะดุด” แหล่งข่าว กล่าว
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าวว่า ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ที่กำหนดให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.ในฐานะผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ ต้องเข้าพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) เพื่อผลิตก๊าซฯหลังหมดสัญญาสัมปทานในช่วงเดือน เม.ย. ปี 2565 โดยจะต้องรักษาอัตราการผลิตไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่ให้เกิดการสะดุดในช่วงรอยต่อเปลี่ยนมือจากผู้รับสัมปทานเดิมไปสู่รายใหม่ ดังนั้น หากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ก็อาจกระทบในเรื่องความต่อเนื่องการผลิตได้ ซึ่งตามเป้าหมายเดิมผู้ดำเนินการรายใหม่ จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้รับสัมปทานรายเดิม เพื่อเริ่มเข้าสู่พื้นที่ได้ตั้งแต่กลางปี 2563
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่า ปตท.สผ.ในฐานะผู้ดำเนินการรายใหม่ในแหล่งเอราวัณ จะเข้าพื้นที่และสามารถผลิตก๊าซฯได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ได้ร่วมวางแผนกับกระทรวงพลังงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในกรณีต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน โครงสร้างการจัดหาก๊าซฯของประเทศได้ถูกออกแบบไว้ยืดหยุ่น ทั้งการจัดหาก๊าซฯจากแหล่งในประเทศ การนำเข้าจากเพื่อนบ้าน และยังมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) สัญญาระยะยาว ปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี และยังเปิดช่องให้สามารถจัดหา LNG สัญญาระยะสั้นเพิ่มเติมในช่วงที่มีราคาถูกเข้ามาเฉลี่ยต้นทุนราคาก๊าซฯในประเทศได้
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการนำเข้า LNG โดยปัจจุบัน มีสถานีรับ-จ่าย ทั้งที่มาบตาพุด และที่หนองแฟบ ซึ่งจะรองรับLNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2565
ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ. ได้ตั้งทีม “Transfer Team” จำนวน70คนปฏิบัติการเปลี่ยนถ่ายแหล่งสัมปทานเอราวัณจากเชฟรอนฯช่วง3ปี ก่อนหมดอายุสัมปทานในปี2565คาดว่า จะใช้งบประมาณ1ล้านล้านบาท ลงทุนทั้ง2แปลงสัมปทานคือ เอราวัณและบงกช ในช่วง10ปี เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น การลงทุนในแหล่งบงกชประมาณ 3-4 แสนล้านบาท และแหล่งเอราวัณ ประมาณ 6-7 แสนล้านบาท ซึ่ง ปตท.สผ.จะเริ่มดำเนินการตามสัญญาตั้งแต่ เดือน เม ย.2565 เป็นต้นไป