ไทม์ไลน์รถไฟฟ้าสายสีส้ม ล้มประมูล ทางออกสุดท้าย ?
คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีมติให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา เพราะไม่เพียงโครงการจะมีมูลค่าลงทุนสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ยังเป็นการยกเลิกประมูลในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจต้องการยาแรงกระตุ้นด้วย
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานกรรมการ ม.36 เผยถึงเหตุผลของการยกเลิกประกวดราคา โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบยกเลิกประมูลโครงการนี้หลังจากเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อปลายปี 2563 เพราะโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล และมีเวลาพิจารณานานเกินกว่าที่ รฟม.ประเมินไว้ ซึ่งหากรอการพิจารณาต่อไปอาจกระทบการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
“คณะกรรมการฯ พิจารณาเพียงว่าการล้มประมูลไปก่อนจะดีกว่า เพราะเริ่มประกวดราคาใหม่จะใช้เวลาไม่มาก เมื่อเทียบกับการรอพิจารณาตามกระบวนการศาล และ รฟม.ไม่อยากให้ภาพรวมโครงการต้องสะดุด”
อย่างไรก็ดี การยกเลิกประกวดราคาดำเนินการได้ เพราะเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ได้กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ไว้ ส่วนการยกเลิกจะกระทบเอกชนและเป็นเหตุให้ฟ้องร้องหรือไม่นั้น ขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากการพิจารณาครั้งนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาไม่ให้กระทบภาพรวมโครงการ อีกทั้งเพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาเพราะการยื่นข้อเสนอของเอกชนมีระยะเวลายืนราคา โดยหลังจากนี้จะรายงานให้ รฟม.ทราบ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การประกวดราคาใหม่ และเบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกแบบใด
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า กระทรวงฯ มองว่าการที่ รฟม.จะประกาศประกวดราคาใหม่ ด้วยเหตุผลของระยะเวลารถไฟฟ้าสายสีส้มที่ขณะนี้ค่อนข้างมีจำกัดแล้ว เนื่องจากงานก่อสร้างช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ใกล้จะแล้วเสร็จในปี 2565 ดังนั้นหากการประกวดราคาล่าช้าออกไปและไม่สามารถประเมินได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จะสร้างภาระค่าบำรุงรักษาให้แก่ รฟม.ในอนาคต ดังนั้นเหตุผลดังกล่าว ก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะยกเลิกประกวดราคา
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลที่คณะกรรมการ ม.36 ออกมาระบุเช่นนี้ ด้วยช่วงเวลาที่มีอย่างจำกัด ดังนั้นแนวทางดำเนินการของ รฟม.หลังจากนี้ ควรเป็นการเริ่มประกวดราคาโดยใช้หลักเกณฑ์ประมูลเดิมที่เคยกำหนดใช้มาในหลายโครงการ คือพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค และตัดสินที่ข้อเสนอด้านราคา โดยเอกชนที่ชนะประมูลต้องมอบผลตอบแทนรัฐสูงสุด เพราะหลักเกณฑ์นี้ผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว
ขณะที่แนวทางใช้หลักเกณฑ์ใหม่ กำหนดพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน หาก รฟม.เลือกใช้หลักเกณฑ์นี้ในการเปิดประกวดราคาใหม่ แน่นอนว่า รฟม.จะต้องร่างข้อเสนอโครงการ (RFP) เปิดรับฟังความคิดเห็น เสนอ RFP มายังกระทรวงฯ และเสนอไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งหลายกระบวนการเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นการยกเลิกประกวดราคา และมาใช้หลักเกณฑ์นี้ประกวดราคาใหม่ คงไม่ตอบโจทย์
“หากวันนี้เราพูดกันว่าสายสีส้มมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะไม่รู้ว่ากระบวนการศาลจะจบเมื่อไหร่ สีส้มตะวันออกก็จะเสร็จแล้ว ช้ากว่านี้จะเสียโอกาส ก็เป็นเหตุและผลที่ยกเลิกประมูลได้ เพราะหลายโครงการที่กระทรวงฯ เคยทำมาก็สามารถยกเลิกด้วยเหตุผลนี้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในภาพรวม แต่ถ้ายกเลิกแล้วมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ เริ่มทำ RFP ใหม่ คงจะเสียเวลากว่าเดิม”
สำหรับแผนงานกรณียกเลิกประมูลและคัดเลือกเอกชนใหม่ เบื้องต้น รฟม.กำหนดทำเอกสาร RFP ใหม่ ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม.รับทราบการใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ในต้นเดือน มี.ค.นี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการ ม.36 เห็นชอบ และออกประกาศเชิญชวนกลางเดือน มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะขายเอกสาร RFP และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ระหว่างเดือน มี.ค. - พ.ค.2564 ประเมินและเจรจากับเอกชนในช่วงเดือน พ.ค.- ก.ค.2564 และเสร็จสิ้นกระบวนการ ได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูล เสนอให้ ครม.เห็นชอบ ส.ค.2564
จากข้อมูลข้างต้น หากเทียบกับกรณีศึกษาดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกต่อไป รฟม.ประเมินว่าขั้นตอนศาลอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 21 – 26 เดือน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงทางคดี หากศาลพิจารณา รฟม.แพ้คดีจะต้องยกเลิกและเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่ ทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก และกระทบต่อภาพรวมโครงการส่วนของงานโยธาตะวันออก ที่จะเปิดบริการในเดือน มี.ค.2567 เป็น มี.ค.2569 เสียค่าบำรุงรักษา 24 เดือน ราว 990 ล้านบาท และการเปิดบริการล่าช้า เสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท
ท้ายที่สุดการตัดสินใจของคณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกวดราคาในครั้งนี้ จะเป็นทางออกที่ถูกต้องและดีที่สุดหรือไม่ คงต้องพิสูจน์กันที่การเร่งรัดดำเนินโครงการให้อยู่ในกรอบกำหนด ล่าช้าน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสอย่างที่ประเมินไว้ เพราะต้องยอมรับว่าช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ การลงทุนจากโครงการรัฐ เปรียบเสมือนยาแรง