ผู้ทำแผนฟื้นการบินไทยเสียงแตก “วิษณุ”ยันยื่นศาลทัน2มี.ค.
“วิษณุ” เผยติดตามคืบหน้าฟื้นฟูการบินไทยเป็นระยะ รับผู้ทำแผนฯ 7 รายยังมีประเด็นเห็นไม่ตรงกัน ทำให้แผนฟื้นฟูล่าช้า แต่มั่นใจส่งให้ศาลได้ทัน 2 มี.ค. ชี้หนี้ที่มีอยู่ทั้งในส่วนของสหกรณ์กับส่วนอื่นๆคาดจัดการได้ อาจต้องตัดหนี้บางส่วนหรือยืดหนี้ออกไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด เปิดเผยว่าได้รับรายงานความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการของการบินไทย ได้เดินทางมาพบตนอยู่เป็นระยะๆ เพื่อขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ ซึ่งแต่ละครั้งตนก็ได้เชิญนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาร่วมรับฟังด้วย ซึ่งรัฐบาลก็ยังสามารถที่จะให้คำตอบไปได้ทุกครั้ง
ทั้งนี้ในเรื่องที่การบินไทยได้มีการขอขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูให้กับศาลล้มละลายกลางพิจารณา ก็เป็นเรื่องที่ตนรับทราบและในเรื่องนี้การบินไทยดำเนินการด้วยตัวเอง โดยเป็นการขอศาลขยายระยะเวลาการทำแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งล่าสุดขอขยายไปจนถึงวันที่ 2 มี.ค. 2564 ซึ่งกรอบการขยายระยะเวลาการทำแผนฟื้นฟูก็เป็นสิ่งที่การบินไทยสามารถทำได้ตามขอบเขตคือขอขยาย 30 วัน และเพิ่มอีก 30 วัน รวมเป็น 60 วัน แต่จะขอได้เพียงเท่านี้ซึ่งตนก็เชื่อมั่นว่าที่สุดแล้วคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูฯจะสามารถส่งแผนฟื้นฟูการบินไทยให้กับศาลได้ตามระยะเวลา
นายวิษณุ กล่าวว่า สาเหตุที่การจัดทำแผนฟื้นฟูฯล่าช้าเนื่องจากการบินไทยมีเจ้าหนี้จำนวนมาก เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้เวลา และที่สำคัญผู้ทำแผนฟื้นฟูฯนั้นมีมากถึง 7 ราย และก่อนหน้านี้ไปตกลงกับศาลฯไว้ตั้งแต่แรกว่าการทำแผนนั้นต้องเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย เพราะถ้ามีผู้เห็นต่างในประเด็นใดประเด็นหนึ่งถือว่าไม่ได้ เรื่องนี้การบินไทยก็ได้ไปขอศาลว่าไม่ต้องเอกฉันท์ได้หรือไม่ ขอเป็นเสียงข้างมากได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ศาลฯบอกว่าไม่ได้ต้องยืนตามเดิม
สำหรับประเด็นที่ยังเห็นต่างพบว่า หลายประเด็นเป็นเรื่องเล็ก เรื่องน้อยแต่ก็ต้องได้เสียงเป็นเอกฉันท์ ส่วนการบินไทยยังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกลับมาได้หรือไม่นั้น ยังมั่นใจว่าได้ ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการ การทำแผนฟื้นฟูก็เป็นกระบวนการหนึ่ง
ส่วนปัญหาเรื่องหนี้สินนั้น ทั้งในส่วนของสหกรณ์ และหนี้ในส่วนอื่นๆที่การบินไทยเป็นหนี้อยู่ขณะนี้ยังไม่ใช่ปัญหาเพราะมีอีกหลายวิธีที่สามารถจัดการได้ โดยในบางส่วนอาจจะต้องมีในเรื่องของการแฮร์คัดตัดหนี้ออกไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการยืดหนี้ออกไปมากกว่าซึ่งการบินไทยได้ไปเจรจากับเจ้าหนี้ไว้แล้ว โดยเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่เกี่ยวกับเจ้าหนี้ตั๋วโดยสารหรือเจ้าหนี้ไมล์สะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทยได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงแนวทางการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆของการบินไทยเป็นระยะ โดยในส่วนของลูกค้าที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ทั้งในลักษณะเจ้าหนี้ไมล์สะสม (ROP) และเจ้าหนี้ตั๋วโดยสาร ซึ่งการบินไทยได้รายงานแนวทางในการแก้ปัญหาว่าในส่วนของเจ้าหนี้ไมสะสม (ROP) ที่ยังไม่ได้แลกสิทธิประโยชน์ เป็นเจ้าหนี้กระทำการที่ต้องแจ้งข้อมูลตามกฎหมายล้มละลาย แต่ไม่ใช่เเจ้หนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้ และ การบินไทยได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลต่างๆ สำหรับหนี้กลุ่มนี้แล้ว
โดยเจ้าหนี้ไมล์สะสม (ROP) ที่ยังไม่ได้แลกสิทธิประโยชน์ ยังคงมีสถานภาพ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ คงเดิมภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้จะสามารถนำไมล์สะสมมาใช้ได้ตามปกติหลังจกที่ การบินไทยกลับมาให้บริการแล้ว แต่ขอสงวนสิทธิการแลกไมล์สะสมเป็นตั๋วเครื่องบินของสายการบินพันธมิตรอื่นใน Star Alliance ตลอดจนการแลกบัตรกำนัล หรือสิ่งอื่นใดที่ต้องมีการจ่ายเงินสดออกจากการบินไทย
ส่วนเจ้าหนี้ตั๋วโดยสารสามารถลือกได้ว่าต้องการเลื่อนตั๋วโดยสารออกไปจนกว่าการบินไทยจะกลับมาให้บริการ หรือต้องการรับเงินค่าตั๋วโดยสารคืน (Refund) โดยในกรณีลูกค้าที่ต้องการรับเงินคืนการบินไทยจะยังไม่สามารถชำระคืนเป็นเงินสดได้เนื่องจากอยู่ภายใต้สภาวะพักการชำระหนี้ชั่วคราวโดยผลของกฎหมาย (Automatic Stay) แต่การบินไทยจะบันทึกลูกค้าดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้กลุ่มหนึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องยื่นขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด