“เฟรเซอร์ส”รุกโรงงานสำเร็จรูป มั่นใจแห่ลงทุน“อีอีซี”หลังโควิด
การระบาดของโรคโควิด-19 ยังกระจายอยู่ในหลายประเทศ แต่การลงทุนภาคการผลิตยังมีความต้องการต่อเนื่อง เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังมีแนวโน้มขยายตัว
โสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “FPIT” กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในเครือเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า FPIT จะเน้นกลุ่มโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าที่เป็นอาคารมาตรฐานตอบโจทย์ได้ทุกอุตสาหกรรมเหมาะกับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งไม่เป็นคู่แข่งกับนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นพันธมิตรซื้อที่ดินมาสร้างโรงงานพร้อมใช้
ทั้งนี้ในอนาคตไม่ปิดโอกาสในธุรกิจนิคมอุตอุตสาหกรรม เพราะในกลุ่มบริษัทมีที่ดินจำนวนมาก โดยเฉพาะอีอีซีใน จ.ชลบุรี ที่มีกว่า 2 หมื่นไร่ เป็นของ FPIT ประมาณ 1 พันไร่ ซึ่งมีเป้าหมายจะทำโลจิสติกส์ปาร์ก
ในปี 2564 มีแผนที่สร้างโรงงานสำเร็จรูปพร้อมเช่าในอีอีซีเพิ่ม 2 หมื่นตารางเมตร หรือ 4-5 อาคาร ที่จังหวัดระยอง ซึ่งยังเน้นโรงงานสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน
สำหรับธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมสำเร็จรูป อยู่ระหว่างรอเปิดประเทศ ซึ่งมีลูกค้ารอเป็นจำนวนมาก คาดว่าหลังโควิด-19 การลงทุนอุตสาหกรรมจะกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน โดยการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยน่าจะเป็นรูปตัว V เพราะมีนักลงทุนรอเข้าประเทศจำนวนมาก และด้วยผลจากโควิด-19 ทำให้บางอุตสาหกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และยังขยายตัวตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ
“ต้องจับตาโควิด-19 รอบ 2 แต่รอบนี้ต่างจากรอบ 1 เป็นผลกระทบระดับโลก ทุกประเทศหยุดผลิตนำเข้าส่งออก แต่รอบ 2 เป็นสถานการณ์ภายในประเทศ ตลาดต่างประเทศยังต้องการสินค้า ภาคอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อย ซัพพลายเชนเองมีการปรับตัวตั้งแต่โควิด-19 รอบแรกแล้ว หากภาครัฐควบคุมได้อุตสาหกรรมจะกลับมาเดินหน้าต่อไป”
นอกจากนี้ ช่วงกลางปีนี้หากมีการฉีดวัคซีนได้ครึ่งหนึ่งของประเทศไทยตามเป้าหมาย และต่างประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีน คนจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยจะทำให้การบริโภคและภาคอุตสาหกรรมจะกลับมา และคาดว่าในช่วงสิ้นปีคนจะกลับมาใช้สอยเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากในช่วงปีก่อนไม่ได้ท่องเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอย
“FPIT คาดว่าการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยจะกลับมาเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เพราะซัพพลายเชนทั่วโลกกลับมามองอาเซียนที่เป็นฐานการผลิตใหม่ ผลจากสงครามการค้าที่ดำเนินต่อเนื่อง ทำให้เทรนด์ที่นักลงทุนออกจากจีนยังมีต่อเนื่อง และไทยหากเตรียมตัวได้ดีจะได้รับอานิสงค์แน่นอน แม้จะมีคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย”
ทั้งนี้ การที่จะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนเหนือคู่แข่ง ภาครัฐเอกชนจะต้องร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องเร่งเตรียมตัวตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศให้พร้อมกว่าประเทศอื่น ซึ่งเชิงภูมิศาสตร์ไทยมีความพร้อมสูง เพราะอีอีซีเป็นจุดที่โดดเด่นมาก เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ทุกด้าน
ส่วนมาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุนของไทย ต่างชาติอาจจะสับสนนิดหน่อย เพราะทั้ง อีอีซี และบีโอไอ มีมาตรการส่งเสริมของตัวเอง ทำให้มีแพ็กเกจอยู่เยอะมาก ดังนั้นอยากเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแพ็กเกจให้เข้าใจได้ง่าย และควรแยกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ในกลุ่มเอสเอ็มอีควรดึงดูดการลงทุนอย่างไร และในกลุ่มที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะต้องดำเนินการอย่างไร โดยในการดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ จะต้องหาบริษัทที่เป็นนางพญาผึ้ง หรือบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกให้เจอ
หากดึงเข้ามาได้บริษัทรายย่อยที่เป็นซัพพลายเชนก็จะวิ่งตามมาลงทุน เหมือนกับในอดีตที่ไทยทำสำเร็จในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ดึงบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่เข้ามาได้ ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก
ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ในอีอีซีเริ่มเข้ามาแล้ว โดยในส่วนของ FPIT มีบริษัทไมเดีย บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับต้นจากจีนก็เข้ามาตั้งฐานการผลิตใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีนในไทยจะมีซัพพลายเออร์เข้ามาอีกมาก ซึ่งภาครัฐเห็นภาพนี้แล้วแต่จะต้องทำงานร่วมกันกับเอกชนในการดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุน
“รัฐบาลควรทำแพ็กเกจที่ยืดหยุ่นเพื่อเจรจาออกแบบสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับความต้องการแต่ละบริษัทเป้าหมาย รวมทั้งรัฐต้องเป็นผู้นำนักธุรกิจไทยไปดึงการลงทุน"
สำหรับสิทธิประโยชน์ของไทยมองว่าน่าจะเพียงพอแล้ว แบรนด์อีอีซีเป็นที่น่าสนใจแล้ว แต่อยากให้ออกไปเน้นเจรจาดึงดูดรายบริษัทที่มีแผนขยายการลงทุนออกจากประเทศจีน ทำอย่างไรให้ไทยไปอยู่ในใจบริษัทเหล่านี้ จะหามาตรการไปดึงดูดบริษัทเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งปีนี้หากดึงบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก 1-2 รายเข้ามาได้ ก็ถือว่าสำเร็จและจะเกิดแรงเหวี่ยงดึงงบริษัทอื่นตามมาอีกมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเน้นจุดขายซัพพลายเชนที่ไทยสร้างมา 30 ปี ต้องชูจุดขายนี้ ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานแล้วดำเนินกิจการได้ทันที เพราะมีชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรองรับในทุกด้าน
รวมทั้งควรเน้นเมืองน่าอยู่ที่ไทยมีความโดดเด่น รวมทั้งชูจุดขายของ อีอีซี ในการเป็นซิตี้ ลิงค์ โดยไม่ควรขายการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างเดียว เพราะไม่ตอบโจทย์ New S-Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้อยากได้คนทำงานที่มีความรู้ทักษะสูง ไม่ใช่แรงงานในโรงงานแบบเดิม
ดังนั้นต้องชูจุดเด่นความเป็นเมืองที่ทันสมัยน่าอยู่ในอีอีซี พัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ ที่มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลที่ทันสมัย มีสิ่งแวดล้อมการใช้ชีวิตที่ดี สร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าประเทศอื่นที่ยังชูพื้นที่อุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว เพราะไลฟ์สไตล์บุคลากรเหล่านี้ต่างจากแรงงานในโรงงาน
ทั้งนี้ โรงงานสำเร็จรูปของ FPIT ตอบโจทย์อุตสาหกรรม New S-Curve ที่เริ่มจากขนาดเล็กแต่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก และตอบโจทย์บุคลากรที่เข้ามาทำงานได้ตรงความต้องการ รวมทั้งยังได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5จี และมีธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามารองรับ