'ตรุษจีน' รายได้วูบ! ต่างชาติหาย-คนไทยหมดมู้ดเที่ยว
บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ.นี้ มีความเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด เพราะโควิด-19 ระบาดรอบใหม่เป็นเหตุ!
ทั้งในส่วนของพื้นที่ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน ได้แก่ กรุงเทพฯ ซึ่งงดการจัดกิจกรรมเหลือเพียงการประดับไฟตลอดเส้นถนนเยาวราช และการสนับสนุนการจัดงานตรุษจีนในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ รวมทั้งส่วนของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เป็นผู้จัดงานอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี ราชบุรี สุโขทัย อุดรธานี นครราชสีมา และสุราษฎร์ธานี โดยมีจำนวนวันจัดงานแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ไม่คึกคักและมีการใช้จ่ายค่อนข้างประหยัดกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 15% มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 2.35 แสนคน-ครั้ง และมีรายได้ 602.20 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ไม่เพียงกระทบต่อความเชื่อมั่น ความปลอดภัยของประชาชน ทำให้ต้องงดหรือชะลอการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังฉุดให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนกลับมาซบเซาอีกครั้ง ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงระมัดระวังการใช้จ่ายค่อนข้างมาก
“การหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คาดตัวเลขรายได้หมุนเวียนหายไปเป็นจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายค่อนข้างประหยัดกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งเมื่อถึงเทศกาลนี้จะมีเงินสะพัดค่อนข้างสูง”
อย่างเช่นเมื่อเทียบกับเทศกาลตรุษจีนปี 2563 (ตั้งแต่วันที่ 24-30 ม.ค.) มีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทย 3,528 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในช่วงตรุษจีนปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 5,113 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 8,641 ล้านบาท
ขณะที่เทศกาลตรุษจีนปี 2562 (ตั้งแต่วันที่ 4-10 ก.พ.) มีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทย 4,658 ล้านบาท ยิ่งเมื่อรวมกับรายได้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในช่วงตรุษจีนปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 9,224 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวสูงถึง 13,882 ล้านบาท!
อย่างไรก็ตาม ททท.ประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายๆ พื้นที่มีแนวโน้มลดลง และภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายพื้นที่ ทำให้ 60 จังหวัดเมืองหลัก-เมืองรอง มีความพร้อมรองรับการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนประมาณ 65.38% แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวมีจำกัด ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงน่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้ และเน้นกิจกรรมตามวิถีแห่งศรัทธาด้วยการไหว้พระ ไหว้เทพเจ้า ขอพร และแก้ปีชงเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน อาทิ วัดมังกรกมลาวาส (กรุงเทพฯ) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (นนทบุรี) วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม (ชลบุรี) เจ้าแม่กวนอิมปากน้ำโพ (นครสวรรค์)
และจากการวิเคราะห์การพูดคุยในสังคมออนไลน์จาก Google Trends (ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-6 ก.พ. 2564) เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 พบว่า จังหวัดที่โดดเด่นมีการพูดถึงค่อนข้างมากคือ นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ใช้เวลาเดินทางไม่นาน เหมาะกับการเดินทางแบบกลุ่มครอบครัว และเน้นทำกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อลดการใช้จ่ายในกิจกรรมท่องเที่ยว
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์การใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ว่าลดลง 10.4% แบ่งเป็นการใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ ลดลง 5.1% การใช้จ่ายท่องเที่ยว ทำบุญ ทานข้าวนอก ลดลง 20.8% และการแจกเงินแต๊ะเอีย ลดลง 8.1%
สำหรับ “ตลาดต่างประเทศ” ในช่วงเดือน ม.ค.2564 ที่ผ่านมา เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศจีน โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศล็อคดาวน์บางพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน รวมถึงงดการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงใช้มาตรการกักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ เมื่อรวมระยะเวลาที่ต้องกักตัวในประเทศไทยและระยะเวลาที่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางกลับประเทศจีน คาดว่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนตัดสินใจงดเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่มีการจัดทำคาดการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564