สหรัฐ เผย ปี 63  ไม่พบย่านการค้าขายของปลอมในไทย

สหรัฐ เผย  ปี 63  ไม่พบย่านการค้าขายของปลอมในไทย

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปลื้ม  รายงานผลรายชื่อตลาดที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2563  ของสหรัฐไร้ชื่อ “ย่านการค้าไทย”ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากเดิมปี 62 ที่ย่านพัฒนพงษ์ติดโผ

 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์  อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา   เปิดเผยว่า  เมื่อเดือนม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ออกรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก ประจำปี 2563 (2020 Review of Notorious Markets for Counterfeiting and Piracy) ทั้งตลาดที่มีการขายสินค้าละเมิด (Physical Markets) และตลาดออนไลน์ (Online Markets) โดยในการรายงานครั้งนี้ ไม่มีรายชื่อย่านการค้าหรือศูนย์การค้าของไทยปรากฏอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีการละเมิดสูง (Notorious Markets) แม้แต่แห่งเดียว จากเดิมที่เคยมีการระบุชื่อย่านพัฒน์พงษ์ ในรายงานฯ ฉบับปี 2562

"ถือเป็นเรื่องน่ายินดีและสะท้อนถึงการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไทย ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จึงส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีจำนวนลดลงหรือไม่พบการละเมิดแล้ว"

161285498252

อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายยังคงมีแผนดำเนินงานเชิงรุก โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าละเมิดในย่านการค้าต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าละเมิดกลับมาจำหน่ายอีก

161285500087

สำหรับตลาดออนไลน์ของไทย ยังพบข้อมูลการจำหน่ายสินค้าละเมิดอยู่บ้าง ซึ่งกรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะเร่งดำเนินการตามมาตรการป้องปรามฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา กรมฯ ร่วมด้วยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของไทย ได้แก่ Shopee Lazada และ JD Central เพื่อระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภค ในการซื้อของออนไลน์ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาดำเนินธุรกิจ  การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดทำรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลกของผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ในอนาคตไม่ปรากฏรายชื่อตลาดละเมิดในไทย กรมฯ จะหารือร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อให้รับทราบถึงมาตรการและการดำเนินการด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความก้าวหน้าในระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผลการจัดทำรายงานฯ ประจำปี 2564 เป็นไปในเชิงบวกแก่ประเทศมากยิ่งขึ้น