กรมวิชาการเกษตร เข้ม คุมคุณภาพผลไม้ตะวันออกฤดูกาล ปี64
กรมวิชาการเกษตร งัดกฎเหล็กคุมเข้มผลไม้ส่งออกปี 64 ผนึกความร่วมมือผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุภาคตะวันออก เตรียมความพร้อมสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ มั่นใจ ผลไม้มีคุณภาพ โรงคัดบรรจุได้มาตรฐาน
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2564 ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี หอการค้าจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก
เพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการดำเนินการต่างๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตผลไม้ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกผลไม้ ปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่ง ผลไม้ส่งออกที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ขนุน กว่า 80% ส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
และระหว่างรัฐบาลไทย-จีน มีพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านกักกันโรคและตรวจสอบ สำหรับผลไม้เมืองร้อนส่งออกจากไทยไปจีน ปี 2547 และร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ผ่านประเทศที่สาม ระหว่างไทยและจีน ปี 2563
ปัจจุบัน กำหนดให้ผลไม้สดจำนวน 10 ชนิดที่ส่งออกจากไทยไปจีน ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ชมพู่ มะพร้าว สับปะรด ขนุน และกล้วย ต้องมาจากสวน และโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) เท่านั้น โดยในปี 2564 นี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมอีก 3 ชนิด ได้แก่ มะขาม เงาะ และส้มโอ
“กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดให้วันที่ 21 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป โรงคัดบรรจุต้องติดสติกเกอร์ขั้วผลทุเรียนตามประกาศ กรมวิชาการเกษตรฉบับใหม่ โดยในปีนี้ กรมวิชาการเกษตร ไม่เพียงแต่จะเข้มงวดในการตรวจศัตรูพืช แต่ยังเน้นเรื่องการป้องกันการสวมสิทธิ์สวน GAP การตัดทุเรียนอ่อน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐาน ขององค์การอนามัยโลกสำหรับ COVID 19 โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากสวพ. 6 เข้าร่วมตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ณ โรงคัดบรรจุอย่างเข้มงวด”
ทั้งนี้ จากการรายงานของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว พบว่า ทุเรียนสดของไทยครองแชมป์ผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของจีนในปี 2563 แซงหน้าเชอรี่ ทั้งปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบกับปี 2562 แม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะลดลงไป 5% แต่มูลค่าเพิ่มมากขึ้นถึง 44% โดยมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 23 % เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดจากต่างประเทศของจีน