งบประกันชาวนาพุ่ง5หมื่นล. นายกฯห่วงใช้เงินเพิ่มทุกปี
นบข.ไฟเขียวเพิ่มวงเงินโครงการประกันรายได้ชาวนาอีก 3.8 พันล้านบาท ส่งผลวงเงินประกันรายได้ชาวนาปีนี้ทะลุ 5 หมื่นล้าน นายกฯกุมขมับงบเพิ่มทุกปีสั่งหน่วยงานเศรษฐกิจแก้ปัญหา ด้านผู้ส่งออกชี้ภัยแล้ง ทำราคาข้าวยืนได้ใกล้เคียงปีที่แล้ว
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธานเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาที่ประชุมเห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 จาก 46,807.35 ล้านบาท โดยเห็นชอบปรับเพิ่มอีก 3,838.92 ล้านบาท รวมเป็น 50,646.27 ล้านบาท และมอบหมายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียด และงบประมาณตาม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป
ที่ประชุมฯยังมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปีประจำปี 2564 และมอบหมายกระทรวงการคลังนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2564 กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับปี 2559 – 63 โดยปรับปรุงรูปแบบอัตราค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) ให้สอดคล้องกับอัตราส่วนความเสียหาย และปรับปรุงเป้าหมายการเอาประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) ให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีที่มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ จำนวน 577 อำเภอ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 16 ล้านไร่
โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลสนับสนุนภาคการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การประกันรายได้ การลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการการตลาดและการประกันภัยสินค้าเกษตร เพื่อเป้าหมายหลักคือยกระดับภาคการเกษตร เพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้อย่างเพียงพอในการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพอื่น ๆ
สำหรับภาระงบประมาณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือแนวทางปฏิรูป ขับเคลื่อนภาคการเกษตรเน้นสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรโดยตรง แทนตัวสินค้าเกษตร มีแนวทางการพัฒนาอาชีพ โดยต้องมี Roadmap และ Action Plan ที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังหารือถึงแนวทางการส่งออกข้าวไทยที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญว่า ให้ดูปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวผกผันเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกวิธี กำหนดกรอบข้าวแต่ละประเภทเพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด พร้อมให้แก้ปัญหาเรื่องตู้ขนส่งสินค้า ขณะนี้ปลดล็อกหลายอย่างแล้ว จึงขอให้ติดตามด้วยว่ามีจำนวนเพียงพอหรือไม่ โดยในส่วนของข้าวตลาดหลัก ข้าวตลาดเฉพาะในประเทศ ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวอินทรีย์ ข้าวพื้นนุ่ม ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าในปี 2564 ที่ประมาณ 6 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2563 ที่ส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 5.72 ล้านตัน โดยปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปีนี้มีข้อจำกัดจากปัญหาภัยแล้ง ฝนตกน้อยทำให้ปริมาณข้าวที่ออกมาเหลือส่งออกได้ไม่มากนัก และมีการประกาศห้ามไม่ให้ปลูกข้าวนาปรังในหลายพื้นที่ ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดน้อยทำให้ราคาข้าวในประเทศยังสามารถอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้วได้ทั้งที่ในช่วงต้นปีมีปริมาณข้าวที่ออกมาสู่ตลาดมากแต่ราคาข้าวในประเทศไม่ได้ปรับตัวลดลง
“ที่จริงแล้วในปัจุบันศักยภาพการส่งออกข้าวของไทยในปีปกติที่ไม่มีปัญหาภัยแล้งอยู่ที่ 7 – 8 ล้านตัน แต่ในปีที่มีภัยแล้งก็ทำได้น้อยกว่านั้นเพราะปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดมีน้อยในปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 6 ล้านตัน ส่วนในอดีตที่เคยส่งออกในระดับ 9 – 11 ล้านตันเป็นเพราะเรามีข้าวในสต็อกที่รัฐบาลระบายออกไปด้วย”