อู่ตะเภาเดินหน้า ขับเคลื่อนฮับการบิน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นั้น ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กองทัพเรือ ร่วมกับเอกชนร่วมลงทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA)
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นั้น ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กองทัพเรือ ร่วมกับเอกชนร่วมลงทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่โครงการเรียบร้อยแล้ว และกำลังจัดทำการสำรวจค่าระดับที่แน่นอน เพื่อจัดทำแบบแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์ (Master Plan) โดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone)
ในขณะเดียวกัน ทางกองทัพเรือและการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้ดำเนินการรื้อย้ายโรงเก็บอากาศยาน รวมถึงรื้อย้ายอาคารสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณที่จะต้องมีการก่อสร้างออกจากพื้นที่สำหรับพื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมอากาศยานปัจจุบันของการบินไทยเพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 การบินไทยได้นำส่งแผนการรื้อย้ายอากาศยานออกจากพื้นที่ โดยการบินไทยสามารถใช้พื้นที่ได้ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 ตามสัญญาเช่าและสามารถเริ่มดำเนินการรื้อย้ายตามแผน
การดำเนินงานในส่วนของความร่วมมือของเอกชนผู้ร่วมลงทุน บริษัท อู่ตะเภา ฯ ขณะนี้ UTA อยู่ระหว่างเร่งจัดทำ Master Plan ฉบับสมบูรณ์เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนธุรกิจเมืองการบิน
อีกทั้งยังได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะการทำงานและจัดทำแบบแนวเส้นทางการเชื่อมโยงกับแผนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (HSR) และกรมทางหลวง ในส่วนที่จะต้องมีการเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การเชื่อมต่อคมนาคมเป็นไปอย่างราบรื่น โดยทั้งโครงการสนามบินและโครงการรถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะใช้แนวเส้นทางรถไฟเข้าสู่สนามบินเป็นไปตามแนวที่ทาง รฟท. ได้กำหนดไว้เดิม
นอกจากนี้ เพื่อให้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและส่วนอื่นๆ ที่จะดำเนินการในปี 2565 ซึ่งเป็นบริเวณเชื่อมโยงกับพื้นที่การบินของสนามบินอู่ตะเภาในปัจจุบันเป็นไปอย่างเรียบร้อย UTA จึงได้กำหนดแนวรั้วชั่วคราวเขตการบิน (Airside) ตามมาตรฐานที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด เพื่อรักษาความปลอดภัยระหว่างพื้นที่ก่อสร้างและสนามบินอู่ตะเภา โดยคาดว่าการก่อสร้างรั้วจะแล้วเสร็จภายใน มี.ค. 2564 นี้
ความคืบหน้าของการจัดให้มีสาธารณูปโภค ภาครัฐได้ดำเนินการจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคเอเชีย ได้มีการคัดเลือกบริษัทผู้ประกอบการเช่าที่ราชพัสดุเพื่อประกอบการให้บริการสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ที่นำเสนอนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการและผลิต เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างครบวงจร มีมาตรฐานระดับสากล มีความเป็น Smart Innovation
โดยได้มีการเข้าสำรวจพื้นที่สำหรับเตรียมการก่อสร้างในปี 2564 ได้แก่ ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น โดยบริษัท บี.กริมเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
สำหรับการให้บริการระบบเชื้อเพลิงอากาศยานนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอน การคัดเลือกเอกชน โดยอยู่ระหว่างการประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอและเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อไป คาดว่าจะทราบผลในเดือนเม.ย. 2564
ภายในปี 2565 การดำเนินงานของโครงการของแต่ละกิจกรรมจะมีความชัดเจนในแง่ของการก่อสร้าง หลังจากงานถมดินและการปรับระดับพื้นที่ และมีการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนร่วมลงทุนแล้ว ซึ่งคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะสามารถก่อให้เกิดการสร้างงานและการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจในบริเวณ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของโครงการ โดยการก่อสร้างท่าอากาศยานระยะที่ 1 จะใช้ระยะเวลา 3 ปี และมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน