รัฐเล็งปั้น 6 ชุมชนต้นแบบ’ท่องเที่ยว’ยั่งยืน

รัฐเล็งปั้น 6 ชุมชนต้นแบบ’ท่องเที่ยว’ยั่งยืน

‘อพท. ตั้งเป้าปี 2564 สร้างชุมชนต้นแบบตามมาตรฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก 6 แห่ง ใน 6 พื้นที่พิเศษ พร้อมเล็งผลักดันเมืองเก่า สุโขทัย ขึ้นแท่นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุด 100 อันดับแรกของโลก’

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ระบุ ในปี 2564 อพท.จะดำเนินนโยบายและแผนการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น โดยมีภารกิจสำคัญคือ การประกาศพื้นที่พิเศษ ที่ อพท.อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า

ภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ตามองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่งได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี ในเขตพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง อพท.ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดตราด ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางซึ่งเป็นผลพวงจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และการเดินทางเชื่อมโยงของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางเชื่อมโยงทางฝั่งตะวันออก

รวมถึงพื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท.จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจด้านการพัฒนการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยการ สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับความสามารถทาการแข่งขันโตมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน

ทั้งนี้ อพท. มีแนวทางที่จะยกระดับหน่วยงานสู่สากลโดยร่วมมือกับองค์การยูเนสโก เกี่ยวกับเครื่องมือการประเมินการจัดการนักท่องเที่ยว หรือ VMAT ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยเลยที่นำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมดกโลกและพื้นที่พิเศษ อพท. และจะมีการต่อยอดไปถึงระดับอาเซียนในอนาคต