ปี65 เปิดช่องการค้า-ลงทุน ผ่านช่องทาง“อาร์เซ็ป” ด้าน สศช.จี้รัฐฯตัดสิน ร่วม “ซีพีทีพีพี”

ปี65 เปิดช่องการค้า-ลงทุน   ผ่านช่องทาง“อาร์เซ็ป”   ด้าน สศช.จี้รัฐฯตัดสิน ร่วม “ซีพีทีพีพี”

พาณิชย์ ดัน ธุรกิจเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและบริการ ใช้ประโยชน์ อาร์เซ็ป หลังรัฐสภา ไฟเขียวเข้าร่วม คาดผลหารือเสร็จสิ้นปีนี้และมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2565

ภายหลังที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ การให้สัตยาบัน การเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement : RCEP) หรืออาร์เซ็ป แล้ว ควบคู่กันไปคือการทำสรุปสาระสำคัญของอาร์เซ็ปและนำความตกลงอาร์เซ็ป ฉบับสมบูรณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dtn.go.th ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ว่าจะตั้งรับหรือรุกต่อโอกาสทางการค้าใหม่นี้อย่างไร

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไปกระทรวงการต่างประเทศจะต้องออกหนังสือการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ ก่อนการออกหนังสือฯ มี 3 หน่วยงานที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วย 1.กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรต้องปรับอัตราพิกัดศุลกากรจาก HS 2012เป็น 2017 ให้ทันสมัยสอดคล้องกับองค์การศุลกากรโลก พร้อมออกประกาศกฎกระทรวงในการลดเลิกอัตราภาษีศุลกากร

 

2.กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ต้องออกแบบฟอร์มเรื่องกฎระเบียบเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า 3.กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะต้องออกประกาศกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากไทยต้องเปิดตลาดชิ้นส่วนยานยนต์บางรายการ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าต้องเป็นผู้ผลิตยานยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้น

 

“เมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2-6 เดือน จากนั้นก็แจ้งให้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศขอให้ออกหนังสือการให้สัตยาบัน ในการนำไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียน”

  161348058036

ส่วนประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปก็ต้องดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงอาร์เซ็ปรวมถึงจัดทำแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ปซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป จะต้องดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลัง จากนั้นความตกลงอาร์เซ็ปจะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในปีนี้และมีผลบังคับใช้ 1ม.ค.2565

เบื้องต้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป คือ 1. กลุ่มเกษตร ผู้ประกอบการ ที่ได้รับประโยชน์จากการลด ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าจากไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากจีน อาทิ พริกไทย สับปะรดกระป๋อง น้ำสัปปะรด น้ำมะพร้าว จากญี่ปุ่น อาทิ ผักแปรรูป มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง แป้งสาคู ผลไม้สดแห้ง แช่แข็ง ส้ม สับปะรด น้ำมันถั่วเหลือง สินค้าประมง น้ำส้ม น้ำผลไม้ผสม และเกาหลีใต้ อาทิ ผลไม้สดหรือแห้ง ข้าวโพดหวานแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันรำข้าว สับปะรดแปรรูป น้ำสับปะรด และสินค้าประมง

 

2.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เป็นต้น

 

3.กลุ่มภาคบริการ นักลงทุน โดยในส่วนของนักลงทุนก็จะเป็นโอกาสให้กับนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในตลาดอาร์เซ็ป โดยเฉพาะภาคบริการที่เรามีศักยภาพ เช่น การให้บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว การก่อสร้าง เกมออนไลน์ ซึ่งเดิมการลงทุนในต่างประเทศอาจเป็นเพียงการถือหุ้น แต่อาร์เซ็ปสามารถไปลงทุนและถือหุ้นได้ 100 % ขณะเดียวกันในภาคบริการที่ต้องการเทคโนโลยีชั้นสูงจะได้ใช้โอกาสนี้เปิดตลาดให้สมาชิกอาร์เซ็ปมาลงทุนในไทยได้ เช่น ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การกำจัดของเสีย การซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน เป็นต้น

 

“ พันธกิจอาร์เซ็ปลุล่วงไปแล้ว 80 % โดยเฉพาะข้อตกลงอาร์เซ็ปซึ่งใช้เวลาการเจรจา 8 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จที่เหลือก็คือการใช้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป โดยปีนี้กรมจะเน้นการทำงานในเรื่องนี้ เพราะข้อตกลงอาร์เซ็ปมีกว่า 14,000 หน้า บวกภาคผนวกอีก 13,000 หน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาในรูปที่นำไปใช้ได้โดยประสานความร่วมมือกับพันธมิตร นอกจากนี้เราจะมีระบบจับตามองทางการค้า เพราะเจรจาเอฟทีเอมีทั้งคนเข้าใจและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางกระทรวงพร้อมที่จะดูแล”

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าแม้ว่าเศรษฐกิจในปี 2564 ของประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในปีนี้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกในประเทศจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ การส่งออกถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ต้องรักษาโมเมนตัมในการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญๆในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หรือพหุภาคีเพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมแนวทางการเจรจาที่ชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) 

แม้ในเรื่องของซีพีทีพีพีต้องใช้เวลาในการเจรจาค่อนข้างนาน แต่พอเริ่มเจรจาก็จะเกิดผลเชิงบวกทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุนเพราะการตัดสินใจที่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนเห็นทิศทางว่าไทยจะเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้ในอนาคต

"ในเรื่องของซีพีทีพีพีหากเราสามารถเริ่มต้นการเจรจาได้ ก็จะสามารถสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทย รวมทั้งการลงทุนในอนาคต โดยการเจรจาในลักษณะนี้ไม่ใช่เราต้องไปรับเงื่อนไขจากทุกประเทศสมาชิกมาทั้งหมด ในหลายๆข้อประเทศเพื่อนบ้านเราที่ได้เป็นสมาชิกแล้วก็มีการทำข้อสงวนเอาไว้ บางเรื่องใช้เวลา 10ปี – 15 ปี ซึ่งของไทยเองก็กำหนดเงื่อนไขในรูปแบบนี้ได้”

นอกจานี้ สศช.ยังมีข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าในปี 2564 ในประเด็นต่างๆได้แก่ 1.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด -19 2.การสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยของสินค้าไทย3.การใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป 4.เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีต่างๆ  เช่น สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และสหราชอาณาจักรภายหลัง Brexit  

5.การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า 6.การเร่งรัดพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประทศผู้นำเข้า 7.การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ ๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้านและแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า และ 8.การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน