เอกชนไทย พร้อมเจรจา 'ลาว' เฟ้นหาทางออก 'จ่ายค่าไฟฟ้า'
เอกชนไทย ยัน ลาวชะลอจ่ายค่าไฟ มีผลกระทบเล็กน้อย เหตุส่วนใหญ่ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เผยเข้าใจสถานการณ์ พร้อมเจรจาหาทางออกที่ดีร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ
จากกรณีบริษัท ผลิตไฟฟ้า-ลาว มหาชน (อีดีแอล) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ได้ส่งหนังสือมาแจ้งมาทางผู้ผลิตไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้กับลาว โดยจะขอปรับเปลี่ยนสัญญาการจ่ายเงินค่าผลิตไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากรัฐบาลประสบปัญหาทางการเงิน ไม่มีเงินมาจ่ายให้ และขอให้คู่ค้าช่วยพิจารณาเงื่อนไขที่เสนอมาออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะสั้นขอชะลอการจ่ายเงินออกไปก่อนจนกว่าทางบริษัทอีดีแอล จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า และขอจ่ายในสกุลเงินกีบแทนในรูปแบบเงินดอลลาร์ และระยะถัดไป ได้ขอให้ลดผลตอบแทนด้านการลงทุนเหลือเพียง 8% และลดค่าเทคออร์เพย์ (Take or Pay) จากที่ไม่สามารถรับไฟฟ้าตามสัญญาได้ และขอเปลี่ยนราคาค่าไฟฟ้าตลอดสัญญาใหม่จากเดิมที่ที่ช่วงแรกจะซื้อแพงมาเป็นราคาซื้อถูกแทนนั้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความร่วมมือ(MOU) ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกับลาว อยู่ที่ 9,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว จำนวน 9 โครงการ กำลังการรวม 5,934.9 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)แล้ว 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 5,420.6 เมกะวัตต์ เหลือเพียงโครงการ น้ำเทิน 1 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำหนด COD ไตรมาส 2 ปี 2565 ดังนั้น ยังเหลือกอรบรับซื้อจากลาวได้อีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) ระบุว่า บริษัท อยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขขอผ่อนปรนการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าจากอีดีแอล ซึ่งเบื้องต้น บริษัทก็ได้รับการประสานขอเลื่อนชำระค่าใช้จ่ายและค่าใช้จ่ายในบางส่วนก็จะขอเปลี่ยนมาชำระเป็นเงินกีบแทน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อบริษัทเล็กน้อย เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จากทั้ง 2 โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)แล้ว คือ โครงการ ไซยะบุรี กำลังการผลิตรวม 1,285 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 160 เมกะวัตต์ และโครงการ น้ำเทิน 2 กำลังการผลิตรวม 1,070 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 374.50 เมกะวัตต์ ซึ่งปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าที่ขายให้กับ อีดีแอล มีสัดส่วนประมาณ 5% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บริษัท ได้บริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีแผนจะนำเงินที่ชำระเป็นรูปของเงินกีบ นำไปเป็นค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าบริหารจัดการโครงการในลาวแทน
“บริษัทเข้าใจดีถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลาว เพราะโควิด-19 ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ และที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น และลาวจะผ่านพ้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปได้”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท ยังมีโครงการ น้ำเทิน 1 ในลาวที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กำลังการผลิตรวม 644.3 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 514.3 เมกะวัตต์ และขายให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 130 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 27 ปี เป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 161.08 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งโครงการนี้ ยังไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด เพราะยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ
แหล่งข่าว บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ของกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลลาว ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้านั้น เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบกับกลุ่ม CKPower แต่อย่างใด เนื่องจาก CKPower ขายไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้ กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ปัจจุบัน บริษัทถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 สัดส่วน 46% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว (โดยการลงทุนผ่านบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ในบริษัท ไฟฟ้าน้ำ 2 จำกัด (“NN2”) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาว ในการออกแบบ พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 เป็นระยะเวลา 25 ปี เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เดือนม.ค.2556 กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้ขายไฟฟ้ากับ กฟผ.
และบริษัทถือหุ้นในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (“XPCL”) สัดส่วน 37.5% ของทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้ว โดย XPCL เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในลาว และได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ลาว ในการออกแบบพัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นระยะเวลา 31 ปี เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 29 ต.ค.2562 กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้ขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่ากรณีลาว ขอชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้ามายังผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าในลาวนั้น คาดว่า มีผลกระทบต่อบริษัทเล็กน้อย ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ก็มีสัญญาสัมปทานครอบคลุมไว้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันลาว ยังคงจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับบริษัท แต่อาจมีประเด็นในส่วนของลาวที่แจ้งเข้ามาว่า ไม่สามารถจัดหาเงินสกุลดอลลาร์ได้ จึงขอเปลี่ยนมาจ่ายในรูปแบบของเงินกีบแทน ซึ่งในส่วนคิดเป็นวงเงิน ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ และจะเริ่มจ่ายประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้า ดังนั้น บริษัทก็จะบริหารจัดการโดยการนำเงินกีบดังกล่าว ไปใช้เป็นค่าบริหารจัดการโครงการในลาว เช่น โครงการในหงสา ที่มีคอนแทรคเตอร์จำนวนมากก็จะขอนำเงินในส่วนนี้มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายแทน ซึ่งก็เจรจากับเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในวิสัยที่บริษัทยอมรับได้
ปัจจุบัน ราช กรุ๊ป มีการลงทุนโรงไฟฟ้าในลาว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ถือหุ้น 40% กำลังการผลิตรวม 1,878 เมกะวัตตต์ มีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ถือหุ้น 25% กำลังการผลิตรวม 615 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี และโครงกโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียน-เซน้ำน้อย ถือหุ้น 25% กำลังการผลิตรวม 410 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี
แหล่งข่าวจากบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า บริษัท อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของลาว และเจรจาเงื่อนไขเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เช่น การขอสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆชดเชย หรือต่ออายุโครงการออกไป เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทมีการลงทุนในลาว ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 25% ขายให้กับอีดีแอล 60 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าห้วยเหาะ กำลังผลิต 152 เมกะวัตต์ ถือหุ้นทางอ้อม 67.25% ขายให้อีดีแอล 2 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 ขนาด 65 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 40% ขายให้อีดีแอลทั้งหมด
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีเอกชนไทยร่วมถือหุ้นหลายราย ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ถือหุ้น 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด 5%
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ระบุว่า กรณีของลาว บริษัท ยังไม่เห็นผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญ แม้ที่ผ่านมาอาจมีการการชำระเงินล่าช้าบ้างแต่ยังคงได้รับการชำระอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทฯ ได้ลงนามกับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ในการส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้า ใน ลาว ไปขายยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยจะเริ่มต้นขายไฟฟ้าได้ในปีหน้า (ปี 2565) ระยะเวลาตามสัญญา 25 ปี โดยการไฟฟ้าเวียดนามจะมีการรับประกันการรับซื้อไฟในรูปแบบ Take-or-Pay และมีการรับชำระค่าไฟฟ้าในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ และเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนให้กับบริษัทฯ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลโวลต์ ระยะทางรวม 150 กิโลเมตร เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ไปยังเวียดนาม โดยโครงการยังมีศักยภาพในการรองรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งการก่อสร้างมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด สามารถขายไฟฟ้าให้กับเวียดนามได้ตามแผนงานที่วางไว้อย่างแน่นอน
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า กรณีลาวขอชะลอจ่ายค่าไฟฟ้านั้น ยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำแจ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2562 เป็นโครงการขนาดเล็ก กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ เท่านั้น และทางลาว ยังจ่ายค่าไฟฟ้าทุกงวด และยังไม่มีการขอเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงินกีบ ซึ่งการลงทุนของบริษัทในลาวยังเป็นไปด้วยดีและส่วนสำคัญก็คือบริษัทมีพันธมิตรที่ดีด้วย
นอกจากนี้ บี.กริม ยังมีโครงการที่ได้รับสัมปทานในลาว อีก 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม ประมาณ 100 เมกะวัตต์ เป็นพลังน้ำทั้งหมด โดยการจะตัดสินใจลงทุนในโครงการเหล่านี้ ทางลาวยังเปิดกว้างให้สามารถดำเนินการได้แบบยืดหยุ่น ซึ่งบี.กริม ก็จะพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบครอบก่อนจะตัดสินในเดินหน้าแต่ละโครงการต่อไป