‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่ 29.98บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่ 29.98บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทระยะสั้นเคลื่อนไหวตามดอลลาร์ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจและแนวโน้มค่าเงิน ส่วนระยะถัดไปจะถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ เกิดแรงขายบอนด์ในภูมิภาคเอเชีย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยน แปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.85-30.15 บาทต่อดอลลาร์

ด้านเงินบาท ระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบและอ่อนค่าตามทิศทางของเงินดอลลาร์ สัปดาห์นี้จึงต้องจับตาทั้งตัวเลขเศรษฐกิจและแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ เชื่อว่าฝั่งดุลการค้าของไทยยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากการเกินดุลต่อเนื่อง หมายความว่าจะมีแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกกลับมาในที่สุด

ส่วนในช่วงถัดไป เชื่อว่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชียจะถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ เพราะมักส่งผลให้เกิดแรงขายตราสารหนี้ในภูมิภาคตามมา ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่องเมื่อมีสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว หรือการเดินทางที่คาดว่าจะกลับมาบ้าง

ในสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจและการแถลงการของเฟดที่ต้องติดตาม

เริ่มต้นด้วยการรายงานตัวเลขการค้าของไทยเดือนมกราคม ตลาดคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 3.8% ขณะที่การนำเข้าจะกลับไปหดตัว 10.8% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าต่อเนื่อง ตามมาด้วยการรายงานผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางจีน (PBOC) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (LPR 1ปี) ที่ระดับ 3.85%

ต่อมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ มีกำหนดขึ้นให้แถลงรายงานด้านนโยบายการเงินกับรัฐสภาสหรัฐในวันอังคาร เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่มุมมองของนายพาวเวลล์กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านของประธานาธิบดีไบเดน ประเด็นเงินเฟ้อที่กำลังจะปรับตัวขึ้น และเงื่อนไขในการลดการทำ QE ของเฟด อย่างไรก็ดีเชื่อว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณคงนโยบายช่วยเหลือทั้งหมดตามเดิม และจะยอมปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นกว่าเป้าหมายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ส่วนในตลาดเงิน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดอลลาร์แข็งค่าจากบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับหุ้นที่ปรับฐาน แต่ในวันศุกร์ดอลลาร์กลับตัวอ่อนค่าลงเมื่อตลาดหุ้นฝั่งยุโรป และสกุลเงินที่มีความสัมพันธ์กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงอย่างดอลลาร์แคนาดา (CAD) และดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) แข็งค่า

ในสัปดาห์นี้เชื่อว่าดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่ากลับลงไปอีกครั้งถ้าตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวและนโนบายการเงินสหรัฐมีแนวโน้มผ่อนคลายนาน มองว่าสกุลเงินในทวีปยุโรปมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ต่อถ้าเห็นการแจกจ่ายวัคซีนเกิดขึ้นได้ตามแผนของแต่ละประเทศ แต่ในระยะยาว เงินดอลลาร์จะไม่อ่อนค่ามากเพราะได้แรงสนับสนุนจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามภาพเงินเฟ้อ

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.00-91.00 จุด ระดับปัจจุบัน 90.30 จุด

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า ตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างมีแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนในกรอบ (Sideways) โดยเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ หรือการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่ามากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจอื่นๆ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หนุนสินทรัพย์ที่ปรับตัวได้ดีตาม Reflation Trades อาทิ สกุลเงิน EM เป็นต้น ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน อาทิ การอัดฉีดสภาพคล่องและการปรับดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้นำเข้า ก็รอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนที่มักจะเริ่มมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้ากลับเข้ามา นอกจากนี้ ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติในระยะสั้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินบาทได้บ้าง หากตลาดยังเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง จนเกิดฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิต่อเนื่อง

มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 29.85-30.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์