ผู้หญิงระวัง !!เสี่ยง 'PCOS' ภัยเงียบใกล้ตัว มีบุตรยาก

ผู้หญิงระวัง !!เสี่ยง 'PCOS' ภัยเงียบใกล้ตัว มีบุตรยาก

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS) เป็นภาวะที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เบาหวาน และอ้วน การรักษาช่วยบรรเทาอาการได้

KEY

POINTS

  • PCOS มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุประมาณ 15-30 ปี)
  • สัญญาณเตือนโรค PCOS สังเกตได้จากประจำเดือนมาไม่ปกติ รอบประจำเดือนขาด ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมามากเกินไป ขนตามร่างกายขึ้นเยอะ มีสิวขึ้นบนร่างกาย และมีน้ำหนักมากเกิน 
  • วิธีป้องกันPCOS ต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง และรักษาด้วยฮอร์โมน

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS) เป็นภาวะที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เบาหวาน และอ้วน การรักษาช่วยบรรเทาอาการได้

เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกายโดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ อาจส่งผลต่อประจำเดือน การตั้งครรภ์ และสุขภาพโดยทั่วไป

PCOS มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุประมาณ 15-30 ปี) แม้ว่าอาการอาจเริ่มแสดงให้เห็นในช่วงวัยรุ่นที่ประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ แต่บางคนอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้จนกระทั่งมีปัญหาในการตั้งครรภ์ในช่วงวัยผู้ใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TSE รุกธุรกิจ Health Care จับตลาด 'รักษาภาวะมีบุตรยาก'

‘มีบุตรยาก’ ดันตลาดท่องเที่ยวโต คาดปี 70 มูลค่า 3.36 หมื่นล้านเหรียญ

รู้จักถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS

กลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบเป็นปัญหาที่เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย และหลายคนมักจะเป็นโดนไม่รู้ตัว หากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหามีบุตรยาก ดังนั้นสำหรับการดูแลสุขภาพเพศในระยะยาว สาว ๆ ควรทำความรู้จักภาวะนี้ไว้

ซีสต์ในรังไข่ หรือถุงน้ำในรังไข่ เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปสำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นได้ทั้งเนื้องอกผิดปกติหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบเดือน มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และเกิดขึ้นในช่วงที่มีการตกไข่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาของการมีรอบเดือน ซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่ทั่วไปไม่มีอันตรายและมักหายไปได้เอง ( ถ้าไม่ใช่เนื้องอกร้ายแรง) แต่ในบางกรณีต้องรักษาโดยการผ่าตัด

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic ovary syndrome: PCOS เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย หากตรวจดูจะพบซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จึงมีชื่อว่า ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ผู้ที่มีภาวะนี้มักได้รับผลกระทบต่ออาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยาก

สัญญาณอาการของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

สัญญาณที่พบได้บ่อยเมื่อมีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบอาจสังเกตได้ด้วยอาการต่อไปนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือปีหนึ่งมีประจำเดือนไม่เกิน 6-8 ครั้ง
  • รอบประจำเดือนขาด โดยไม่มาติดต่อกันนานเกิน 3 รอบในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาปกติสม่ำเสมอหรือไม่มาติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมามากเกินไป อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
  • ขนตามร่างกายขึ้นเยอะ เนื่องจากความผิดปกติของฮอร์โมนเพศชายในร่างกาย ผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบจึงพบลักษณะขนในร่างกายคล้ายกับร่างกายเพศชาย ขนยาวและขึ้นเยอะในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าอก หลัง ริมฝีปาก ต้นแขน ต้นขา
  • มีสิวขึ้นบนร่างกาย บริเวณหน้าอก หลัง ใบหน้า จากความผิดปกติของฮอร์โมน
  • ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีถุงน้ำในรังไข่หลายใบจากการตรวจอัลตราซาวด์
  • มีน้ำหนักมากเกินหรือมากขึ้น ทำให้ดื้อต่ออินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

สาเหตุเกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น

  • ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินตับอ่อนจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้น ซึ่งกระบวนนี้จะกระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายระงับการตกไข่ และมีอาการอื่น ๆ ของ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ตามมา
  • ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น (Excess Androgen) ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เพิ่มสูงขึ้นจะไปยับยั้งการตกไข่ ส่งผลให้รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งการตกไข่ไม่สม่ำเสมอนี่เองที่ทำให้เกิดถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนหนึ่งภายในรังไข่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คล้ายเพศชาย เช่น ขนขึ้น สิวขึ้น
  • พันธุกรรม (Heredity) ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) สามารถส่งต่อไปยังลูกได้ แต่พบว่าบางคนที่เป็น PCOS ลูกสาวมีโอกาสที่จะเป็นด้วย

ความน่ากลัวของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)

  • ภาวะมีบุตรยาก
  • ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์
  • แท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด
  • ตับอักเสบจากไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ (NASH / Nonalcoholic steatohepatitis)
  • กลุ่มอาการอ้วนลงพุง ระบบเผาผลาญผิดปกติ หรือ ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)
  • ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และ เบาหวานชนิดที่ 2
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 
  • อาการซึมเศร้า วิตกกังวล มีความผิดปกติในการรับประทานอาหาร (Eating disorders)
  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

การรักษาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) เป็นภาวะที่ต้องรักษาตามอาการ ซึ่งการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยเฉพาะการรักษาในคนที่วางแผนตั้งครรภ์และไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ เช่น

การรักษากรณีที่วางแผนตั้งครรภ์

  • ปรับโภชนาการและพฤติกรรม แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้ปรับอาหารและออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อลดน้ำหนักและช่วยให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนอินซูลินอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยให้กลับมาตกไข่ได้อย่างปกติ
  • ใช้ยากระตุ้นไข่ตก ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ การให้ยากระตุ้นให้ตกไข่ตก สามารถช่วยให้ไข่ตกสำหรับการตั้งครรภ์ได้ แต่ยามีผลข้างเคียงเช่น เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์แฝด และอาจกระตุ้นไข่ตกมากเกินไป นอกจากนี้ช่วงที่รังไข่ปล่อยฮอร์โมนมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ท้องอืดและปวดกระดูกเชิงกราน

การรักษากรณีที่ยังไม่วางแผนตั้งครรภ์

  • ใช้ยาคุมกำเนิด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อควบคุมรอบประจำเดือน ลดระดับฮอร์โมนเพศชาย (Androgen)
  • ยารักษาโรคเบาหวาน ในบางกรณีแพทย์อาจรักษาโดยยาที่ช่วยควบคุมภาวะดื้ออินซูลินคล้ายผู้ป่วยเบาหวาน
  • ปรับโภชนาการและพฤติกรรม เช่นเดียวกับกรณีที่วางแผนตั้งครรภ์ การปรับโภชนาการและออกกำลังกายเป็นพื้นฐานในการสร้างสุขภาพที่ดี ช่วยให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างปกติ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยให้ไข่ตกปกติ
  • ยารักษาตามอาการอื่น ๆ เช่น อาการสิวขึ้น อาการขนขึ้นตามตัวจากภาวะ PCOS

แนวทางป้องกัน PCOS ด้วยการมีสุขภาพที่ดี

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่ป้องกันโรคนี้ได้สมบูรณ์แบบ แต่สาว ๆ สามารถป้องกันโรคนี้ด้วยการมีสุขภาพที่ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ ลดเสี่ยงโรคอ้วน (Obesity)โรคเบาหวาน เป็นต้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ อย่าเพิ่งเป็นกังวลไป ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่แพทย์แนะนำในการรักษาและดูแลสุขภาพตามความเหมาะสมของแต่ละคน

สำหรับวิธีการป้องกันมีดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และการออกกำลังกาย
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง
  3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  4. ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ
  5. ยารักษา ยาคุมกำเนิดเพื่อควบคุมประจำเดือนและฮอร์โมน ยารักษาสิวหรือยารักษาอาการมีขนเยอะ ยาเมตฟอร์มินสำหรับผู้ที่มีปัญหาอินซูลิน
  6. การรักษาด้วยฮอร์โมน ในบางกรณีอาจมีการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
  7. การผ่าตัด ในกรณีที่รุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น อาจมีการผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำออก

เนื่องจาก PCOS เป็นภาวะที่เกิดจากหลายปัจจัย การป้องกันที่ชัดเจนอาจไม่สามารถทำได้ แต่การรักษาสุขภาพที่ดีด้วยการรับประทานอาหารที่สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการ PCOS ได้

อ้างอิง:โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต