ปวดประจำเดือนแบบไหน? ปกติ VS ผิดปกติที่สาวๆ ควรรู้

ปวดประจำเดือนแบบไหน? ปกติ VS ผิดปกติที่สาวๆ ควรรู้

เมื่อวันนั้นของเดือนมาถึง ผู้หญิงหลายคนมักจะมีอาการปวดท้องประจำเดือนจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ และหลายคนก็มีวิธีบรรเทาอาการปวดแตกต่างกันออกไป

KEY

POINTS

  • การปวดท้องประจำเดือนแบบปกติก็มีอยู่เช่นกัน แต่การปวดท้องประจำเดือนแบบผิดปกติสามารถนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตหรือเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้
  • อาการปวดประจำเดือนปกติ กับผิดปกตินั้นแตกต่างกัน สาวๆ ต้องสังเกตอาการของตัวเอง และหากมีอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
  • การป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน สามารทำได้ง่ายๆ อาทิใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง อาบน้ำอุ่น  รับประทานยา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานผักและผลไม้ 

เมื่อวันนั้นของเดือนมาถึง ผู้หญิงหลายคนมักจะมี อาการปวดท้องประจำเดือน จนเหมือนเป็นเรื่องปกติ และหลายคนก็มี วิธีบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แตกต่างกันออกไป บางคนอาจใช้เพียงกระเป๋าน้ำร้อนบรรเทาอาการปวด หรือบางคนกินยาระงับอาการปวดประจำเดือน แต่มีบางคนอาการปวดประจำเดือนนั้นทรมานมากจนไม่สามารถขยับตัวได้

แล้วอาการปวดประจำเดือนที่สาวๆ เป็นกันอยู่นั้น อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือว่ากำลังมีความผิดปกติที่ซ่อนอยู่กันแน่ วันนี้เรามีข้อสังเกตที่อยากให้ลองเช็กกันดูค่ะ

ประจำเดือนคือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกเดือน ซึ่งในแต่ละคน รายละเอียดของการมีประจำเดือนก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะการปวดท้องประจำเดือนแต่เคยสงสัยไหมว่าแล้วปวดท้องแบบไหนกันที่เรียกว่าปกติ และแบบไหนคือผิดปกติและควรไปพบแพทย์โดยเร็ว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กอาการปวดประจำเดือน แบบไหนปกติ หรือผิดปกติ

อาการปวดท้องประจำเดือนปกติ มีดังนี้

  • ปวดใน 48 - 72 ชั่วโมงช่วงที่มีประจำเดือน และอาการหายไปหลังเป็นประจำเดือน
  •  ปวดบีบหรือหน่วงที่ท้องน้อย
  •  เริ่มปวดจากอุ้งเชิงกรานร้าวไปหลังหรือต้นขา
  •  อาจมีอาการคลื่นไส้ ถ่ายเหลว หรืออ่อนเพลีย
  •  ตรวจภายในไม่พบความผิดปกติ

 

อาการปวดประจำเดือนที่ผิดปกติ  มีดังนี้ 

  •  ปวดท้องเหมือนมีประจำเดือน แม้ตอนไม่มีประจำเดือน
  •  ปวดท้องจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
  •  กินยาแก้ปวดจำนวนมาก หรือต้องฉีดยาแก้ปวดทุกเดือน
  •  กินยาแก้ปวดแล้วอาการปวดท้องไม่ทุเลา
  •  ประจำเดือนมามากขึ้นหรือมาผิดปกติร่วมกับอาการปวดท้อง
  •  เจ็บช่องคลอดหรือปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
  •  ปวดท้องจนอาเจียน เป็นลม วิงเวียนศีรษะ หรือมีไข้สูง
  •  ปวดท้องรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกเดือน
  •  ตรวจภายในพบความผิดปกติ

หากใครที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนดังกล่าว ต้องรีบไปพบหรือปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

ปวดประจำเดือนแบบไหน? ปกติ VS ผิดปกติที่สาวๆ ควรรู้

อาการผิดปกติจะรู้ได้อย่างไร?

นพ. มฆวัน ธนะนันท์กูล แพทย์สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่าการปวดท้องประจำเดือนแบบปกติก็มีอยู่เช่นกัน แต่การปวดท้องประจำเดือนแบบผิดปกติสามารถนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตหรือเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้ การปวดท้องประจำเดือนแบบผิดปกติอาจเป็นตัวบ่งบอกถึงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรือเนื้องอกในมดลูก เป็นต้น ในบางกรณีคุณผู้หญิงบางคนไม่ตระหนักว่าอาการปวดท้องของตนเองผิดปกติจนกระทั่งสายเกินไป

การปวดท้องประจำเดือนของตนเองผิดปกติ? คุณสามารถสังเกตได้ง่ายๆ หากมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • ปวดท้องแม้ตอนไม่มีประจำเดือน ปวดท้องช่วงก่อน-หลังประจำเดือนมา หรือปวดท้องแบบเดิมเกือบตลอดทั้งเดือน
  • ปวดท้องจนไม่สามารถทำอะไรได้ การปวดท้องประจำเดือนส่วนใหญ่เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณผู้หญิงปวดมากจนไม่สามารถลุกทำอะไรได้ นอนตัวงอเป็นกุ้ง หรือต้องกินยาแก้ปวดอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าการปวดท้องนี้ไม่ธรรมดาซะแล้ว
  • ปวดท้องจนลามไปถึงส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ขา ทวารหนัก แขน ไหล่ หลัง ฯลฯ
  • มีอาการปวดท้องหรือเจ็บปวดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง หรือท้องอืดอย่างรุนแรง ก่อน หลัง หรือระหว่างมีประจำเดือน
  • ปวดท้องจนอาเจียน เป็นลม หรือวิงเวียนศีรษะ
  • ปวดท้องจนเป็นไข้สูง
  • ปวดท้องมากจนต้องไปฉีดยาแก้ปวดทุกครั้งที่มีประจำเดือน
  • มีอาการปวดท้องประจำเดือนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกเดือน
  • ปวดท้องประจำเดือนและมีบุตรยาก

คุณผู้หญิงทุกคนควรสังเกตอาการปวดท้องประจำเดือนของตัวเองกรณีพบว่าตนเองมีความผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันทีหรือถ้าหากคุณผู้หญิงไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ยังคงระแวงหรือเป็นกังวลอยู่ก็สามารถเข้าตรวจร่างกายได้เช่นกัน

ปวดประจำเดือนแบบไหน? ปกติ VS ผิดปกติที่สาวๆ ควรรู้

สาเหตุของการปวดประจำเดือน

โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

 

ป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย

  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง
  • อาบน้ำอุ่น
  • ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ
  • รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมหวาน

ปวดประจำเดือนแบบไหน? ปกติ VS ผิดปกติที่สาวๆ ควรรู้

เมื่อมีอาการปวดประจำเดือนอย่างผิดปกติ อย่าปล่อยไว้ หรือมองข้าม  เพราะความผิดปกติที่ว่าอาจมีที่มาจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ดังนั้นรีบพาตัวเองมาพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยสาเหตุ เพราะสุดท้ายคงไม่มีใครอยากให้มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเราทุกเดือน

 

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลวิมุต ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์