หิวจัดก่อน ‘ประจำเดือน’ มาไม่ใช่เรื่องแปลก วิทยาศาสตร์มีคำตอบ!
อยากกินทุกอย่างก่อน “ประจำเดือน” มา ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมาจากระบบการทำงานของ “ฮอร์โมน” และ “สมอง” แต่ก็ต้องระวังอย่ากินเยอะจนน้ำหนักขึ้น
Key Points:
- หิวง่ายก่อนมี “รอบเดือน” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับผู้มีประจำเดือนทุกคน เนื่องจากมีงานวิจัยอธิบายว่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ “ฮอร์โมนอินซูลิน” และสมองส่วนควบคุมความหิวที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส”
- ช่วงที่จะรู้สึกหิวมากที่สุดก็คือประมาณ 7 วันก่อนมี “ประจำเดือน” เพราะจากการศึกษาในอาสาสมัครพบว่า “ระยะวันก่อนการตกไข่” สมองจะไวต่อผลกระทบของอินซูลินมากขึ้น
- นอกจากความหิวแล้วยังมีอีกหลายอย่างตามมาด้วย เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงปวดศีรษะไมเกรน
ผู้มีประจำเดือนหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมช่วงก่อนรอบเดือนมาประมาณ 7 วัน มักจะรู้สึก “หิว” มากเป็นพิเศษ เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้งกับของหวาน ไม่ใช่แค่นั้นบางคนยังมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายและน้ำหนักตัวขึ้นตามมาอีกด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของ “ฮอร์โมน” แต่การทำงานของ “สมอง” ก็มีส่วนไม่แพ้กัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Metabolism อธิบายว่า ความหิวที่เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงก่อนมี “ประจำเดือน” นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้มีรอบเดือนทุกคน เนื่องจาก “ฮอร์โมนอินซูลิน” และสมองส่วนควบคุมความอยากอาหารที่เรียกว่า “ไฮโปธาลามัส” มีการเปลี่ยนแปลง
- การทำงานของฮอร์โมนและสมอง ตัวแปรความหิวก่อนมี “ประจำเดือน” ?
แม้ว่าการศึกษาในครั้งนี้ไม่ได้เน้นไปที่ความอยากอาหารโดยตรง แต่หลังทำการทดลองแล้วทีมผู้วิจัยพบว่าการตอบสนองของเซลล์ของที่มีต่อ “ฮอร์โมนอินซูลิน” จะแตกต่างกันไปในแต่ละรอบเดือน ซึ่งจะตอบสนองได้สูงที่สุดช่วงก่อนถึงวันตกไข่ และจะต่ำที่สุดในช่วงใกล้มีประจำเดือน
โดยฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่ควบคุมระดับกลูโคส เมแทบอลิซึม และการรับประทานอาหาร จึงเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้นได้
“สมองมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมแทบอลิซึมและอาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินตลอดรอบประจำเดือน” มาร์ติน เฮอนี (Martin Heni) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาต่อมไร้ท่อซึ่งเป็นผู้ร่วมทำวิจัยในครั้งนี้กล่าว นอกจากนี้ มาร์ติน ยังอธิบายต่อว่าความอยากอาหารที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นกลไกพื้นฐานของร่างกายรูปแบบหนึ่ง
สำหรับการทดลองในครั้งนี้เริ่มจากคัดเลือกอาสาสมัครผู้หญิง 11 คน อายุเฉลี่ย 24 ปีที่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ และนักวิจัยจะติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่ออาสาสมัครมีประจำเดือนด้วยการพ่นอินซูลินผ่านจมูกและวัดการตอบสนองของ “ไฮโปธาลามัส” ในสองระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะแรกก่อนวันตกไข่และระยะที่สองคือช่วงก่อนมีประจำเดือน
จากการทดลองพบว่าในระหว่างระยะวันก่อนการตกไข่ สมองจะไวต่อผลกระทบของอินซูลินมากขึ้น และอาการนี้ก็จะหายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงที่ประจำเดือนมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน”
ผลการวิจัยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการดื้อต่ออินซูลินในสมองอาจทำให้การควบคุมการผลิตพลังงานในส่วนที่เหลือของร่างกายทำได้ยากขึ้น เช่น การควบคุมความอยากอาหาร มาร์ติน จึงมองว่าการค้นพบนี้จะช่วยอธิบายได้ว่าทำไมหลายคนถึงรู้สึกอยากอาหารในช่วงที่รอบเดือนใกล้มา
เพื่อยืนยันผลการทดลองทีมวิจัยจึงทำการทดลองครั้งที่ 2 โดยใช้การถ่ายภาพระบบประสาทเพื่อดูรายละเอียดการทำงานของสมองในช่วงรอบของประจำเดือนอย่างใกล้ชิดกับอาสาสมัคร 15 คน มีอายุเฉลี่ย 23 ปี
ผลจากภาพถ่ายพบว่ารูปแบบความไวต่ออินซูลินคล้ายกับผลการทดลองในรอบที่แล้ว โดยเฉพาะไฮโปธาลามัสส่วนของสมองที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการบริโภคอาหารและการเผาผลาญ
นอกจากนี้ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้เป็นช่วงที่มีแนวโน้มจะอยากอาหาร “รสหวาน” มากที่สุด
แม้ว่าผลการวิจัยทั้ง 2 ครั้งจะออกมาในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กมาก อาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่สมบูรณ์แบบและยังไม่สามารถอ้างอิงถึงผู้มีประจำเดือนในภาพกว้างได้
- ไม่ใช่แค่หิวจัด แต่น้ำหนักก็ขึ้น แถมบางคนระบบเผาผลาญรวน
แน่นอนว่าเมื่อกินเยอะก็ย่อมส่งผลให้น้ำหนักตัวขึ้นเป็นธรรมดา โดยเฉพาะผลจากแป้งและน้ำตาลที่บางคนรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนมีรอบเดือน
เชบเนม อุนลวิสเลอร์ (Şebnem Ünlüişler) วิศวกรพันธุศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงความไวของอินซูลินในระหว่างรอบประจำเดือนอาจส่งผลกระทบต่อการเผาผลาญและน้ำหนักตัว เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างความผันผวนของฮอร์โมนกับระบบการเผาผลาญของผู้หญิง เพราะประมาณ 7 วันก่อนมีประจำเดือนจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ในบางคนยังมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน” ลดระดับลงทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้รัดตัวมากขึ้น ทำให้การย่อยอาหารและการขับถ่ายคล่องตัวน้อยลง รวมถึงมดลูกยังมีการหลั่งฮอร์โมนออกมามากขึ้นด้วย ส่งผลให้ระดับน้ำในร่างกายแปรปรวนจนเกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ไม่ใช่แค่นั้นแต่บางคนยังมีอาการปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
อ่านข่าว :
ไขข้อสงสัยทำไมบางคนถึงเป็น “ไมเกรน” ก่อนมี “ประจำเดือน”
ท้ายที่สุดนี้งานวิจัยเกี่ยวกับความหิวที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือนชิ้นนี้จะอธิบายเหตุผลที่หลายคนเคยสงสัยได้ค่อนข้างดี แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้ต้องรอดูต่อไปในอนาคตว่าจะมีการนำไปต่อยอดเพื่อหาคำตอบโดยละเอียดอย่างไรได้บ้าง แต่ทั้งนี้ผู้มีประจำเดือนเองก็ต้องคอยระมัดระวังการรับประทานอาหารของตัวเองรวมถึงหมั่นสังเกตอาการเวลามีรอบเดือนเสมอ หากพบความผิดปกติก็ต้องรีบพบแพทย์ทันที
อ้างอิงข้อมูล : SCIAM, Medical News Today และ healthline