'วันนั้นของเดือน' ไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิง คนข้ามเพศ สามารถมีอาการได้

'วันนั้นของเดือน' ไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิง คนข้ามเพศ สามารถมีอาการได้

ไม่ว่าจะเป็นในอดีต หรือปัจจุบัน เรื่องของเพศ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามธรรมชาติ ซึ่งในอดีตอาจถูกจำกัด เพียงความเป็นชาย และหญิง ตามเพศที่เกิด ทว่าปัจจุบันความหลากหลายทางเพศ  หรือเพศสภาพ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

Keypoint:

  • ร่างกายของคนข้ามเพศแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงต่างกัน ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ถึงจะดีที่สุด
  • การเทคฮอร์โมน ทำให้หญิงข้ามเพศ และชายข้ามเพศ ทำให้มีลักษณะร่างกายแบบผู้หญิง และผู้ชายตามที่ตนเองต้องการ ดังนั้น การมีประจำเดือนในคนข้ามเพศ จึงสามารถเกิดขึ้นได้
  • ต้องการปรึกษาเรื่องการหยุดประจำเดือน  ปรึกษาและทำนัดการผ่าตัดมดลูก/รังไข่ ปรับยา ติดตามผลจากยา ต้องติดต่อโรงพยาบาล อย่าพยายามซื้อยามารับประทานเอง

‘เพศสภาพ’ ภาวะความเป็นชายหรือหญิงที่ไม่ได้ถูกกำหนดโดยระบบชีววิทยา แต่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคม และอื่นๆ รวมทั้งประสบการณ์และการแสดงออกของบุคคลต่อเพศนั้นๆ ตลอดจนกิจกรรมและพฤติกรรมทางเพศทุกรูปแบบ

คนข้ามเพศ (transgender) หมายถึง ผู้ที่รู้สึกพึงพอใจกับเพศภาวะหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน ซึ่งมักจะหมายถึงผู้ที่ได้รับการแปลงเป็นเพศที่ต้องการแล้ว

ฮอร์โมนเพศแบ่งได้เป็น  2 กลุ่ม คือ  

  • ฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
  • ฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือเทสโทสเทอโรน (Testosterone)

สำคัญที่สุด คือ การใช้ยาฮอร์โมนไม่ใช่วิธีที่จะใช้ได้กับทุกคน บางรายไม่อาจใช้ยาฮอร์โมนได้เลย เช่น คนไข้ที่มีโรคมะเร็งเต้านม กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบ คนไข้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป คนไข้ที่มีค่าตับหรือค่าไขมันผิดปกติ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ชีวิต 'คนข้ามเพศ' เส้นบางๆ ของการเข้าไม่ถึงโอกาสทางสุขภาพ

'คลินิกสุขภาพเพศ' ครบวงจรดูแลเพศหลากหลาย บนพื้นฐานอย่างเท่าเทียม

 

คนข้ามเพศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

‘หญิงข้ามเพศ หรือ ทรานส์วูแมน (Trans women)’การเทคฮอร์โมนสำหรับชายเป็นหญิง (Feminizing hormone therapy) ด้วยการให้ยายับยั้งฮอร์โมนเพศชายเพื่อลด หรือกดฮอร์โมนเพศชายให้น้อยลง และเสริมฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อให้ฮอร์โมนความเป็นชายไม่เหลือ เพื่อเปลี่ยนสรีระร่างกายให้คล้ายเพศหญิงมากขึ้น 

หญิงข้ามเพศ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะส่งผลให้

  • ไขมันสะสมเพิ่มขึ้นบริเวณสะโพก
  • ขนาดของอัณฑะและองคชาตจะลดขนาดลงเล็กน้อย
  • การแข็งตัวขององคชาตจะทำได้ลำบากขึ้น
  • รู้สึกกดเจ็บและมีลักษณะเป็นก้อนมากขึ้นที่บริเวณเต้านม
  • ขนบริเวณร่างกายและใบหน้าจะลดลง ช่วยให้การกำจัดขนของหญิงข้ามเพศทำได้สะดวกขึ้น
  • ลักษณะศีรษะล้านแบบเพศชายอาจลดลงหรือหยุดลงได้

‘ชายข้ามเพศ (Transmen)’ การเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงเป็นชาย (Masculinizing hormone therapy) หรือที่เรียกว่า เป็นการเสริมฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือเทสโทสเทอโรน (Testosterone) โดยจะเข้าไปลดทอน หรือกำจัดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอยู่เดิมให้ค่อยๆ หายไป แล้วเสริมและกระตุ้นฮอร์โมนเพศชายขึ้นมาแทน

ชายข้ามเพศ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจะส่งผลให้

  •  มีขนและเคราเพิ่มขึ้นที่ใบหน้าและร่างกาย
  •  ลักษณะศีรษะล้านแบบเพศชายอาจเกิดขึ้นได้
  •  ปุ่มกระสันของอวัยวะเพศหญิง (Clitolis) จะเพิ่มขนาดขึ้นได้เล็กน้อย
  •  ความต้องการทางเพศอาจเพิ่มขึ้นได้
  •  เสียงเปลี่ยน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงระดับของเสียงผู้ชายทั่วไป
  •  ประจำเดือนจะหยุดลง แต่อาจยังมีเลือดไหลกะปริดกะปรอยได้ซึ่งต้องอาศัยการปรับขนาดยา
  •  สิวอย่างเกิดขึ้นได้

 

วันนั้นของเดือน ของหญิงข้ามเพศ

ประจำเดือนเป็นเอกลักษณ์ของเพศหญิง และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญพันธุ์ ความสามารถในการเป็นแม่ ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ของผู้ชาย

นอกจากนี้ การมีประจำเดือนยังเป็นความทุกข์ในบางคน ที่มีปัญหาปวดท้องประจำเดือนมาก หรือประจำเดือนมามากจนเลือดจาง หรือจนล้นออกมานอกผ้ารองเลือด บางคนต้องใส่ผ้าอ้อมแทนกันเลย ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก

โดยทั่วไป ชายข้ามเพศที่เทคฮอร์โมนเพศชายจะขาดประจำเดือนภายใน 6-12 เดือนหลังจากเริ่มยา แต่ชายข้ามเพศบางคนก็อาจจะยังมีเลือดออกได้ และสมควรได้รับการประเมินเพื่อรักษาให้เหมาะสม

ในรายที่ยังมีเลือดออกผิดปกติ และมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือโรคอื่นๆที่อาจจะมีความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก แพทย์อาจจะพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตร้าซาวนด์ หรือการเก็บชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกมาตรวจ เมื่อมั่นใจว่าชายข้ามเพศไม่ได้เป็นมะเร็งที่ซุกซ่อนมาในคราบของประจำเดือน จึงจะรักษาอย่างเหมาะสม

ถ้าชายข้ามเพศ ปฏิเสธการใช้ฮอร์โมนเพศชาย การใช้ยากลุ่มโปรเจสโตเจน เช่น ยาเลื่อนประจำเดือน หรือยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ก็สามารถทำให้ประจำเดือนลดลง มากะปริดกะปรอย และขาดประจำเดือนได้เช่นกัน

โดยถ้าใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ซึ่งมีผลข้างเคียงคือการกระตุ้นความอยากอาหารต้องระวังผลข้างเคียงคือน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นด้วย และชายข้ามเพศต้องเข้าใจว่า การใช้ยากลุ่มโปรเจสโตเจนจะไม่ทำให้มีลักษณะภายนอกของเพศชายได้

แต่ถ้าชายข้ามเพศใช้ฮอร์โมนเพศชาย แพทย์จะตรวจว่าระดับฮอร์โมนในเลือดอยู่ในระดับที่ดีแล้วหรือยัง ถ้าขาดยา ระดับยายังไม่ดี จะปรับขนาดยาหรือระยะห่างระหว่างการฉีดแต่ละครั้งเพื่อให้ประจำเดือนขาดไป

ยาอื่น ๆ ที่สามารถช่วยฮอร์โมนเพศชายทำให้ประจำเดือนแห้งหายไปได้ ได้แก่

ยาฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ยาฮอร์โมนทดแทนผู้หญิงวัยทองหรือยาคุม ซึ่งถ้าจะใช้ ต้องตัดสินใจดีๆ เพราะก็จะได้รับผลของฮอร์โมนเพศหญิงด้วย รวมทั้งความเสี่ยงในการกระตุ้นการอุดตันของหลอดเลือด ดูย้อนแย้งหน่อยๆ ดังนั้น จึงอาจจะพิจารณาการรักษาอื่นดีกว่า

ยาอีกชนิดที่สามารถทำให้ผนังมดลูกฝ่อแห้งลงไปจนไม่มีประจำเดือน เพราะกลไกคือการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย  ก็คือยาต้านเอนไซม์อะโรมาเทส (aromatase inhibitor)  ยานี้ปกติใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม และมีการนำมาใช้กระตุ้นไข่ในสตรีมีบุตรยาก

ผลข้างเคียงคืออาจจะทำให้มีอาการร้อนวูบวาบได้

ถ้าใช้ยาที่กล่าวมาแล้วยังมีประจำเดือน อาจจะพิจารณายา GnRH agonist ที่จะทำให้ผู้ใช้เหมือนสตรีวัยทอง คือรังไข่จะไม่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงแล้ว หรืออาจจะใช้ยากลุ่ม SERM ซึ่งออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศหญิงในบางอวัยวะ

โดยเลือกใช้ยาชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศหญิงที่ผนังมดลูก และทำให้ผนังมดลูกฝ่อ หากใช้ยามาทุกชนิดแล้วยังไม่ดี การรักษาที่สามารถเลือกได้คือการผ่าตัด

การมีประจำเดือน ต้องมีผนังมดลูก และมีรังไข่ ดังนั้น การหยุดประจำเดือนอาจจะทำได้โดยใช้เครื่องจี้ทำลายผนังมดลูกทั้งหมด หรือตัดมดลูก/ตัดรังไข่ออก ซึ่งเป็นการรักษาที่ทำให้หมดทางมีประจำเดือนในอนาคตแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ต้องการปรึกษาเรื่องการหยุดประจำเดือน  ปรึกษาและทำนัดการผ่าตัดมดลูก/รังไข่ ปรับยา ติดตามผลจากยา รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องทางสุขภาพจิต เชิญที่คลินิกสุขภาพเพศ ชั้น 7 อาคาร ภปร รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดบริการทุกบ่ายวันจันทร์ ติดต่อสอบถามและทำนัด 022565286  

ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาฮอร์โมนเอสโตรเจน 

  • การเกิดลิ่มเลือด
  • โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis)
  • โรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke)
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)
  • กระทบการทำงานของตับ  ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน คือโรคเลือดข้น (Polycythemia)

การเทคฮอร์โมนที่คุณควรรู้!!

นพ.อติวุทธ กมุทมาศ แพทย์ศูนย์สุขภาพเพศ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ กล่าวว่าเมื่อพูดถึง 'การเทคฮอร์โมน' ในกลุ่มคนข้ามเพศ หรือ ทรานเจนเดอร์ (Transgender) หลายคนอาจรู้ดีว่า…นี่คือการนำฮอร์โมนเพศที่ต้องการเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือข้ามเพศไปยังเพศที่ต้องการ คือข้ามจากชายเป็นหญิง เรียกว่า ทรานสวูแมน (Transwomen) หรือจากหญิงเป็นชาย เรียกว่า ทรานสแมน (Transman) ซึ่งจริงๆ แล้ว การเทคฮอร์โมนยังมีรายละเอียดต่างๆ อีกมากมาย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังวางแผนจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นี่คือหัวใจสำคัญเกี่ยวกับการเทคฮอร์โมน

รู้ไหม? การเทคฮอร์โมน มีทั้งหมด 3 วิธี

1.รับประทาน ต้องต่อเนื่องทุกวัน

ข้อดี คือ สะดวก ไม่เจ็บตัว สามารถเทคได้เอง ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ (แต่ถึงแม้จะเลือกวิธีกิน ก็แนะนำให้มาโรงพยาบาลให้หมอจัดยาให้นะครับเพราะถ้าซื้อกินเองอาจจะได้ขนาดยาไม่ถูกต้อง และเกิดความไม่ปลอดภัยได้โดยเฉพาะผลเสียทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน) นอกจากนี้ต้องมีวินัย เพราะถ้าลืมระดับฮอร์โมนจะตกลง

ที่สำคัญ! วิธีนี้มีอาจผลต่อตับและเห็นผลช้ากว่าวิธีอื่น สำหรับทรานสวูแมน (ผู้ที่ข้ามจากชายเป็นหญิง) ที่ต้องการใช้วิธีรับประทาน ควรใช้ปริมาณที่เหมาะสมโดยให้แพทย์เป็นผู้ดูแล เพราะการรับประทานยาคุมกำเนิด พบว่ามีปริมาณฮอร์โมนสูงมากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 6 เท่าอาจเกิดผลเสียระยะยาว เช่น ผลต่อตับหรือลิ่มเลือดอุดตันได้ เพราะการใช้ฮอร์โมนต้องใช้ระยะยาว

2.ฉีด ออกฤทธิ์เร็วกว่าแบบกิน

ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบระยะสั้น แนะนำให้ฉีดทุก 2-4 สัปดาห์ (ทรานสแมน) เพราะการออกฤทธิ์จะค่อยๆ สูงขึ้นในสัปดาห์แรกแล้วลดลงเมื่อครบ 2 สัปดาห์ เมื่อมารับเข็มต่อไป ระดับฮอร์โมนก็จะสูงขึ้นไปใหม่ แต่ถ้าภายใน 2 สัปดาห์ยังไม่ได้เทคต่อ ในสัปดาห์ที่ 3-4 ระดับฮอร์โมนก็จะลดลงมา ต้องได้รับยาเข็มต่อไปโดยเร็ว ข้อดี คือ สามารถปรับระดับฮอร์โมนสูง-ต่ำได้ เพราะออกฤทธิ์อยู่ในช่วงสั้นๆ แต่ต้องฉีดบ่อยๆ สำหรับทรานวูแมน ก็สามารถฉีดเอสโตรเจน และ/หรือ ร่วมกับโปรเจสเตอโรนได้โดยส่วนใหญ่จะแนะนำฉีดทุก 1 สัปดาห์

แบบระยะยาวสำหรับทรานสแมน ตัวฮอร์โมนจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์สูงขึ้นแล้ว ลดลงอย่างช้าๆ โดยออกฤทธิ์ได้นานถึง 3 เดือน แต่ถ้ามารับเข็มต่อไปช้า ระดับฮอร์โมนก็จะตกลงมาเล็กน้อย แนะนำให้ฉีดทุก 3 เดือน ข้อดี คือ ไม่ต้องมาฉีดบ่อย ระดับฮอร์โมนไม่เหวี่ยง ค่อนข้างคงที่ แต่ไม่สามารถปรับระดับฮอร์โมนได้ดีเท่าแบบระยะสั้น สำหรับทรานสวูแมน ยังไม่มีฮอร์โมนแบบฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะยา

 3.ทา จะเป็นเจลทาตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทุกวัน และต้องทาบริเวณที่ไม่ได้ไปสัมผัส บริเวณที่ไม่มีขนปกคลุมมาก ๆ เช่น หน้าท้อง หัวไหล่ ด้านในต้นขา เป็นต้น เพื่อให้ตัวฮอร์โมนดูดซึมได้ดี

ข้อดี คือ สะดวก ไม่เจ็บตัว สามารถทาได้เอง ออกฤทธิ์ระยะสั้นเพียง 24 ชั่วโมง

ข้อเสีย คือ ราคาสูง ต้องทาทุกวัน และต้องรอให้แห้งก่อนถึงสวมใส่เสื้อผ้าได้ มีทั้งชนิดเป็นฮอร์โมนเพศชายสำหรับทรานสแมน และเป็นชนิดฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับทรานสวูแมน

อยากเทคฮอร์โมนให้เห็นผล…ต้องเทคนานแค่ไหน?

การเทคฮอร์โมน ไม่ใช่เทคเพียง 1-2 ครั้ง แล้วจะเห็นผล แต่การเทคฮอร์โมนจะต้องเทคอย่างสม่ำเสมอ หลัง 3-6 เดือนขึ้นไปถึงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น เสียง โครงหน้า เป็นต้น

ข้อควรระวังในการเทคฮอร์โมน

  • ปัญหาทางสุขภาพต่างๆ เช่น ป่วยบ่อย มวลกระดูกบางลง ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง
  • อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้
  • ต้องคอยรักษาระดับฮอร์โมนให้คงที่ ถ้าน้อยเกินไป…ก็จะไม่เห็นผลตามต้องการ

การใช้ฮอร์โมนที่ถูกต้อง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ข้อควรรู้เมื่อต้องใช้ฮอร์โมน

  • เลือกใช้ฮอร์โมนที่มีผลข้างเคียงตํ่า (ตาม guideline) และปรับขนาดฮอร์โมน ให้ถูกต้องกับสภาพร่างกาย
  • หาความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาฮอร์โมนที่ถูกต้อง รวมทั้งอันตรายของการใช้ยาเกินขนาด
  • ตรวจระดับฮอร์โมน และตรวจติดตามผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ฮอร์โมน

สิ่งที่ควรทำ สำหรับผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเพศจากเพศชายเป็นหญิง 

  • ประเมินทุก 3-6 เดือน ในปีแรก และ 1-2 ครั้งในปีต่อไป เพื่อดูอาการแสดงของเพศหญิงและ ภาวะแทรกซ้อน
  • ตรวจวัดระดับฮอร์โมน testosterone และ estradiol ทุก 3-6 เดือน
  • ในผู้ที่ใช้ยา spironolactone ควรตรวจ serum electrolytes โดยเฉพาะ serum potassium ตรวจทุก 3 เดือนในปีแรก ทุก 6 เดือนในปีต่อไป
  • ควรตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การตรวจ Bone mineral density (UCSF excellent center, 2016)
  • ตรวจเมื่ออายุ 65 ปีในกลุ่มที่มีไม่มีความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน
  • ตรวจเมื่ออายุ 50-64 ปีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน เช่น มีประวัติครอบครัวมีการใช้ ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • ตรวจโดยไม่คํานึงถึงอายุในกลุ่มที่ตัดรังไข่ ตัดอัณฑะแล้ว และหยุดใช้ฮอร์โมนนานกว่า 5 ปี

อย่างไรก็ตาม  แพทย์จะตรวจติดตามสุขภาพเพื่อให้แน่ใจว่ายาฮอร์โมนได้เข้าสู่ร่างกายของคุณจริง และสามารถตรวจพบความผิดปกติหรือปัญหาสุขภาพได้ทันท่วงที ซึ่งแพทย์อาจมีการปรับยา และ/หรือ สั่งยาเพิ่ม ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

ดังนั้นประวัติการเป็นโรคต่างๆ อาทิ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือด หรือโรคตับ ของคุณรวมทั้งคนในครอบครัว  จึงมีความจำเป็นที่แพทย์จะต้องรับทราบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณมีโรคดังกล่าวแล้วจะถูกห้ามใช้ฮอร์โมน แต่ข้อมูลเหล่านั้นจะช่วยให้แพทย์ได้แนะนำถึงแนวทางการดูแลรักษาที่เหมาะสมแทน รวมถึงติดตามอาการของคุณได้ดียิ่งขึ้น

ยังมีลูกได้หรือไม่ เมื่อเทคฮอร์โมน

การใช้ฮอร์โมนจะทำให้คุณเกิดภาวะเป็นหมันหลังจากใช้ยาไปช่วงระยะหนึ่ง เนื่องจากผลลัพธ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด การใช้ฮอร์โมนจึงไม่ใช่วิธีสำหรับการคุมกำเนิด ควรใช้ถุงยางอนามัยแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ถ้าคุณเป็นหญิงข้ามเพศ การหยุดยาฮอร์โมนอาจช่วยให้การสร้างสเปิร์มกลับมาได้บ้าง ปัจจุบันยังไม่มีช่วงเวลาแน่นอนของการเป็นหมันหลังเริ่มการใช้ยาฮอร์โมน อีกทั้งยังแตกต่างกันในแต่ละคน คุณจะกลายเป็นหมันถาวรหลังจากผ่าตัดนำอัณฑะออกแล้ว

ถ้าคุณเป็นชายข้ามเพศ การใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าที่คุณจะกลายเป็นหมันถาวร แต่ก็เช่นเดียวกันว่าไม่มีช่วงเวลาที่แน่ชัด เมื่อคุณผ่าตัดเอารังไข่ออก คุณจะไม่สามารถตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติได้ แต่เมื่อคุณผ่าตัดเอามดลูกออกคุณจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
ดังนั้น อย่าลืมที่จะปรึกษาแพทย์เรื่องผลกระทบของการใช้ฮอร์โมนกับโอกาสที่จะมีบุตรในอนาคต รวมถึงควรได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บสเปิร์มหรือไข่เอาไว้ด้วย

อันตรายที่เกิดจากการซื้อยามากินเอง

  • ผลิตภัณฑ์อาจไม่ใช่ของแท้และอาจไม่ก่อให้เกิดผลอะไรกับร่างกายเลย ทำให้คุณต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
  • ผลิตภัณฑ์อาจไม่มีคุณภาพและก่อให้เกิดอันตรายได้
  • คุณอาจไม่ได้รับทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • คุณอาจไม่ทราบถึงผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณกินยาฮอร์โมนร่วมกับยาชนิดอื่นหรือร่วมกับยาสมุนไพรต่างๆ
  • คุณจะไม่ได้รับการตรวจที่ถูกต้องจากแพทย์ถึงผลที่อาจเกิดจากยาฮอร์โมน
  • ขนาดยาที่กินหรือวิธีใช้ยาฮอร์โมนบางชนิด อาทิ ยากิน แผ่นแปะผิวหนัง อาจไม่ได้เหมาะสมกับคุณ

อ้างอิง :คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ,โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์