'อคติแบ่งแยก'ฝังลึกสังคมเอเชีย ฉุดสิทธิพื้นฐานคนข้ามเพศ

'อคติแบ่งแยก'ฝังลึกสังคมเอเชีย ฉุดสิทธิพื้นฐานคนข้ามเพศ

'อคติแบ่งแยก'ฝังลึกสังคมเอเชีย ฉุดสิทธิพื้นฐานคนข้ามเพศ โดยในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และเนปาล ที่อนุญาตให้ประชาชนเปลี่ยนเพศได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในสัปดาห์แห่งการสนับสนุนทรานส์ของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ปีนี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมารวมตัวกันที่นครเจนีวาอย่างคึกครื้น ขณะที่งาน Pride Month ของปีนี้ก็ใกล้จะจบลง แต่กลุ่มคนข้ามทางเพศในเอเชียยังต้องเผชิญกับความรุนแรง, การเลือกปฏิบัติ และถูกละเลยจากสังคมอยู่

ข้อมูลจากเครือข่ายคนข้ามเพศในเอเชียแปซิฟิก (เอพีทีเอ็น) ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียมีกลุ่มคนข้ามเพศประมาณ 9 ล้านคน 

นักเคลื่อนไหวบอกว่า แม้บางประเทศดำเนินขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อปกป้องกลุ่มคนข้ามเพศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่การขาดการบังคับใช้กฎหมาย บวกกับการถูกตีตราในสังคม ทำให้กฎหมาย สังคม ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชนของทรานส์ถูกละเมิดในหลายประเทศ

ข้อมูลที่รวบรวมจากทรานส์เจนเดอร์ยุโรป องค์กรด้านสิทธิมุนษยชน คาดว่า ในระหว่างปี 2551 และ 2565 ทรานส์และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในเอเชียถูกฆาตรกรรมราว 384 ราย และคาดว่ามีคดีดังกล่าวที่ไม่ได้รายงานมากกว่านี้

ในอิหร่าน ฟัตวาหรือคำวินิจฉัยทางศาสนา ประกาศใช้ในยุค 1980 โดยรูฮุลลอฮ์ โคมัยนี อดีตผู้นำอิหร่าน อนุญาตให้คนข้ามเพศผ่าตัดแปลงเพศ(เอสอาร์เอส) และเปลี่ยนเพศให้ถูกต้องตามกฎหมาย

องค์กรนิติศาสตร์การแพทย์ เผยว่าทุก ๆ ปีมีชาวอิหร่านประมาณ 270 คน เข้าผ่าตัดแปลงเพศ

โฟนิกซ์ ชาวอิหร่านที่เป็น LGBTQ ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิเอเชียว่า เธอถูกคนแปลกหน้าในสังคมทำร้ายและครอบครัวไม่ยอมรับที่เธอเป็นคนมีความหลากหลายทางเพศ

จากกรณีนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้อิหร่านให้สิทธิทางกฎหมายกับทรานส์ แต่ความคิดดั้งเดิมที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับเพศและครอบครัวแสดงให้เห็นว่า การเลือกปฏิบัติกับกลุ่มทรานส์ยังมีอยู่

โฟนิกซ์ บอกด้วยว่า ขณะที่เธอยังคงถูกแบ่งแยกในสังคม แม่ของเธอเพิ่งยอมรับการตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างหญิงสาวของเธอ ช่วง 2 เดือนก่อนแม่จากไปด้วยโรคโควิด-19 เมื่อปี 2564 ซึ่งโฟนิกซ์มีความสุขที่แม่ยอมรับในสิ่งที่เธอเป็น

การได้รับการยอมรับจากสังคมคือเป้าหมายร่วมกันของนักเคลื่อนไหวกลุ่มทรายส์ทั่วทั้งภูมิภาค และสิทธิในการเปลี่ยนเพศทางกฎหมายคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การยอมรับในสังคม
 

“โจ หว่อง” ผู้อำนวยการเอทีพีเอ็น บอกว่า การรับรองเพศสภาพตามกฎหมายสำหรับคนกลุ่มทรานส์ ช่วยต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ และสนับสนุนความเท่าเทียมด้วยกฎหมาย

ประเทศเวียดนามออกกฎหมายให้คนกลุ่มทรานส์มีสิทธิแปลงเพศและเปลี่ยนเพศในเอกสารราชการได้เมื่อปี 2558 แต่ระเบียบทางกฎหมายในการใช้สิทธิดังกล่าวยังไม่ได้รับการชี้แจง แต่สมัชชาแห่งชาติเวียดนามเตรียมอภิปรายสรุปขั้นตอนต่าง ๆ ของกฎหมายดังกล่าวในปีหน้า

ชะตากรรมของทรานส์ในเวียดนาม เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสิทธิมุนษยชนบางส่วนที่นำมาหารืออย่างเปิดเผย และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามไม่เข้ามาคุกคามสิทธิ แต่เมื่อไม่มีระเบียบในกฎหมายดังกล่าว กลุ่มทรานส์ในเวียดนามกว่า 5 แสนคน ตามข้อมูลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ยังคงไม่สามารถเปลี่ยนเพศในเอกสารทางการ จึงเป็นอุปสรรคต่อการสมัครงาน ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และการแต่งงานของกลุ่มทรานส์

จากผลวิจัยโดยสมาคมอิลก้า เครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน เผยว่า ในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และเนปาลที่อนุญาตให้ประชาชนเปลี่ยนเพศได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กฎหมายในประเทศเหล่านี้ อนุญาตให้ผู้คนเปลี่ยนเพศเป็น ‘ไม่ระบุ’ ได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนกลับเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง

บางประเทศในเอเชีย รวมทั้งฟิลิปปินส์ ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนเพศอย่างถูกกฎหมาย แต่ประเทศอื่น ๆ อนุญาตให้เปลี่ยนเพศได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ เช่นบุคคลที่ผ่านการแปลงเพศทำหมัน หรือหย่าร้างกับสามีภรรยา

อย่างไรก็ตาม สัญญาณของความก้าวหน้าสำหรับกลุ่มทรานส์ในเอเชียยังมีอยู่ โดยเมื่อเดือน ก.พ. ศาลอุธรณ์วินิจฉัยว่า “เฮนรี เซ” ชายข้ามเพศชนะคดีด้านสิทธิของทรานส์ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายฮ่องกงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง เพราะกำหนดให้ชายข้ามเพศต้องผ่าตัดแปลงเพศแบบเต็มรูปแบบ เพื่อมีสิทธิเปลี่ยนเพศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

คดีของเซ ได้รับการยกย่องว่าเป็นความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น แต่เซ บอกว่ากฎหมายเพื่อ LGBTQ ในฮ่องกงยังคงต้องพัฒนาไปอีก

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังผ่านกฎหมายแก้ไขการแบ่งแยกทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เมื่อต้นเดือน มิ.ย. เป็นกฎหมายสนับสนุนความเข้าใจกลุ่ม LGBTQ ห้ามให้เกิดการแบ่งแยกที่ไม่ยุติธรรม และกำหนดรัฐบาลท้องถิ่น โรงเรียนและสถานที่ทำงาน ให้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

“โตโยมะ อาซานูมะ” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนกลุ่มทรานส์ญี่ปุ่น แย้งว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ช่วยปกป้องกลุ่มทรานส์ เนื่องจากกฏหมายมีข้อกำหนดว่าจะนำไปปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อพลเมืองทุกคนรู้สึกสบายใจ นั่นเท่ากับว่า ทำให้กฏหมายไร้ความหมายไปโดยปริยาย กลุ่มต่อต้านสิทธิคนข้ามเพศอาจอ้างได้ว่า"ไม่สบายใจ"หากหญิงข้ามเพศได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะของผู้หญิง เช่น ห้องน้ำ

“กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกไม่ควรให้ความสำคัญแค่เรื่องห้องน้ำ แต่ควรเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและปกป้องชีวิตของคนกลุ่มทรานส์” อาซานูมะ เตือน