'คนข้ามเพศ' ก็มีสิทธิ์ 'มีความสุข' ได้
แม้ไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ "คนข้ามเพศ" ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติด้วยความเชื่อและทัศนคติแง่ลบ นำมาสู่การจัดเวที "ข้ามเพศมีสุข" มุ่งสร้างโอกาส สร้างสิทธิอย่างเท่าเทียม เพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศในสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จับมือกับเพื่อนภาคีที่สนับสนุนความหลากหลาย ร่วมกันขจัดช่องว่าง สร้างโอกาส สร้างสิทธิ และการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาวะทางเพศ รวมถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับ "คนข้ามเพศ" อย่างเท่าเทียมเฉกเช่นที่เกิดขึ้นในนานาประเทศมาแล้ว
ลดช่องว่างระหว่างเพศ
การขับเคลื่อนครั้งนี้ทำให้เผชิญข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างต่างๆ มากมายที่ทำให้คนข้ามเพศเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวกับสุขภาวะข้ามเพศ สสส. จึงให้การสนับสนุนโครงการ "ส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย" ซึ่งล่าสุดมีการจัดงานประชุมสุขภาวะของคนข้ามเพศ "ข้ามเพศมีสุข" ครั้งที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์คนทำงานเรื่องสุขภาวะของคนข้ามเพศ มาร่วมกันออกแบบการสร้างระบบบริการด้านสุขภาวะแบบองค์รวมที่เหมาะสม
ณชเล บุญญาภิสมภาร ตัวแทนคณะทำงานโครงการฯ และผู้จัดงาน "ข้ามเพศมีสุข" กล่าวว่า การบริการด้านสุขภาวะข้ามเพศมีราคาสูงและการให้บริการยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เรามองว่า อันดับแรกคนในชุมชนต้องตระหนักรู้ก่อนว่าสุขภาพข้ามเพศ เป็นเรื่องสำคัญกับพวกเขา เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงสิทธิและเรียกร้องในสิทธิ์และเสียงของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเมื่อชุมชนและสังคมส่งเสียงไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สังคมข้างนอกเข้าใจ เชื่อว่าจะส่งไปถึงระดับนโยบาย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐเห็นว่ามันจำเป็นและจะออกแบบนโยบายหรือชุดบริการ รวมถึงสวัสดิการที่เป็นเรื่องจำเป็นให้กับพวกเขา
เพราะทุกคนอยากถูกมองเห็น
ฐิติญานันท์ หนักป้อ มูลนิธิซิสเตอร์ ตัวแทนจากกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่มาเผยความรู้สึกผ่านเวทีการประชุมครั้งนี้ เธอบอกว่า ที่ผ่านมาพูดตลอดถึงการนิยามตัวตน ซึ่งเป็นความสำคัญอันดับแรกของตัวเรา โดยทุกวันนี้มีแค่ตัวตนทางสังคม แต่ตัวตนทางกฎหมายไม่มี ทุกอย่างที่เป็นเราถูกนับภายใต้ความเป็นชาย นาย มิสเตอร์ เด็กชาย เพราะระบบต่างๆ มันถูกออกแบบเป็น binary ความเป็นทรานส์มันเลยทำให้ตัวตนของเราไม่มี เราอยู่ในพื้นที่สีเทาตลอด เราไม่ถูกนับเสียที
"ประเด็นเรื่อง visibility หรือการมองเห็นตัวตนมันถึงสำคัญ เราต้องการถูกมองเห็น เพราะเมื่อถูกมองเห็นก็จะได้รับการรับรอง ทำให้รัฐต้องสร้างระบบรับรองความเป็นมนุษย์ ความมีตัวตนของเราในฐานะที่เรา เป็นคนไทยคนหนึ่ง ถ้าเรามีตัวตนภายในตัวเราเองก็จะรู้สึกยอมรับตัวเราเอง มันมีทำให้เรามีความรู้สึกเข้มแข็งในใจมากขึ้น เป็นการเห็นตัวเองและภาคภูมิใจตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องไปซ่อนอยู่ภายใต้ความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่เราคือ Trans Women" ฐิติญานันท์ กล่าว
อาทิตยา อาษา กลุ่มทีค พลังทรานส์ กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้คนยังไม่เข้าใจเลยว่าแม้จะข้ามเพศเหมือนกัน แต่ผู้ชายข้ามเพศกับผู้หญิงข้ามเพศก็มีความแตกต่างกัน แต่มักจะถูกเรียกผิดอยู่เสมอ
ทัศนคติที่ต้องก้าวข้าม
นอกเหนือจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง คนข้ามเพศ ยังต้องเผชิญคือ "ทัศนคติ" ที่คนในสังคมมีต่อตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขเอง ก็ยังตีตราคนข้ามเพศด้วยทัศนะที่ไม่เข้าใจ
ณชเล กล่าวในประเด็นนี้ว่า หลายคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสวยงาม ทำให้คนกลุ่มนี้แค่มีเพศตรงกับเพศสำนึก แต่จริงๆ แล้วลึกลงไปมากกว่านั้น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาวะข้ามเพศทางสรีระ ยังส่งผลทั้งหมดกับเรื่องสุขภาวะด้านอื่นของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิทยา
"แพทย์บางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนข้ามเพศต้องใช้ฮอร์โมน ทำไมคนข้ามเพศต้องอยากผ่าตัด มีน้องผู้ชายข้ามเพศที่เป็นวัยรุ่นที่ได้คุยด้วย เราพบว่าพวกเขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจกับร่างกายของพวกเขา ต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้ให้รับรองก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ หลายครั้งผู้ชายข้ามเพศในต่างจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพได้ เขาไปโรงพยาบาลก็ถูกปฏิเสธการฉีดฮอร์โมน หมอไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องใช้ หรืออย่างเราไปเจอพี่ที่อายุเกิน 45 หลายท่านที่ไม่กล้าหรือไม่ยอมไปโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เพราะเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี ไม่นับรวมคนข้ามเพศจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวและไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว จึงตัดสินใจออกมาอยู่คนเดียว สุดท้ายต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน" ณชเล กล่าว
ยกระดับเสียงชุมชน แตะภาครัฐ
เพราะตระหนักดีว่าลำพังการทำงานกับชุมชนอย่างเดียวคงไม่สามารถส่งแรงกระเพื่อมในวงกว้างได้ ที่ผ่านมาโครงการฯ ยังพยายามผลิตสื่อเพื่อสื่อสารไปสู่สังคมสร้างความเข้าใจว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ถึงสำคัญกับคนข้ามเพศ แม้ว่าเส้นทางที่กำลังเดินนี้ยังอีกยาวไกล แต่ก็ไม่ทำให้เป้าหมายของการทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้เปลี่ยนไป
ณชเล ยอมรับว่า พอพูดถึงเรื่องนี้ต้องเจอแรงต้านอยู่แล้ว เราเข้าใจว่าการทำงานเชิงนโยบายต้องใช้เวลา แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็คงต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่อาจห้าหรือสิบปี เราอาจไม่ได้นโยบายที่เราอยากได้ เราอาจจะยังไม่ได้มีกฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะข้ามเพศ แต่อย่างน้อยชาวบ้านหรือชุมชนก็จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของความจำเป็นต้องมีสุขภาวะในเรื่องนี้
หนุนคลินิกเพศหลากหลาย ขยายสู่ภูมิภาค
ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบัน สสส. กำลังหนุนประสานให้กลุ่มข้ามเพศมีสุขทำงานคู่ขนานกับ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ให้การดูแลกลุ่มคนเพศหลากหลายแบบครบวงจร โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งกำลังขยายการให้บริการสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยจะเริ่มต้นนำร่องที่ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ ขอนแก่น สงขลา นครนายก และเชียงใหม่ ที่ยังร่วมขับเคลื่อนโดยสถาบันด้านแพทย์และสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ โดยโครงการฯ ยังมุ่งเน้นการขยายองค์ความรู้ด้านต่างๆ มีการทำงานเชื่อมต่อระหว่างศูนย์บริการสุขภาพ และองค์กรชุมชน ซึ่งข้ามเพศมีสุขจะสนับสนุนให้องค์กร ชุมชน สามารถมีพลังทำงานขับเคลื่อน พัฒนาระบบข้อมูลที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานเรื่องสุขภาวะข้ามเพศต่อไป
"จริงๆ กลุ่มคนข้ามเพศต้องเผชิญประเด็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือประเด็นเชิงสังคม เช่น การถูกบูลลี่รังแก การเปิดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการพื้นฐาน เป็นเรื่องที่ สสส. ให้ความสำคัญ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติ สสส. มองว่าเป็นมิติสำคัญที่จะต้องพุ่งเป้าการทำงานเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ใช้ได้จริง หลากหลายและผู้ให้บริการได้ทราบถึงข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงสะท้อนภาคนโยบายด้วย" ชาติวุฒิ กล่าว
ดึงรัฐจัดสรรสิทธิเรื่องฮอร์โมน
ชาติวุฒิ ยังชี้แจงต่อว่า นอกจากการยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพของคนข้ามเพศแล้ว อีกการทำงานสร้างสุขภาวะของคนข้ามเพศที่จะเป็นจุดคานงัดสำคัญคือ การสร้างสิทธิให้ กลุ่มคนข้ามเพศ รู้ว่าบริการที่สำคัญและจำเป็นสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศมีอะไรบ้างโดยเฉพาะเรื่องความรู้ความเข้าใจในการใช้ฮอร์โมน ทาง สสส. และภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงอยากให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการใช้ฮอร์โมนที่ถูกต้อง โดยการสร้างช่องทางการให้บริการเกี่ยวกับฮอร์โมนที่เข้าถึงง่ายและเป็นมิตร
"การใช้ฮอร์โมนที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ปลอดภัยไปนานๆ มีผลเสี่ยงถึงชีวิตได้ ฮอร์โมนบางตัวไม่ได้ช่วยให้แค่เปลี่ยนสภาพร่างกายอย่างเดียว แต่มีผลต่อจิตใจ มีผลต่อสมองหรือฟังก์ชันการควบคุมร่างกาย การรับฮอร์โมนที่ผิดประเภท หรือการรับฮอร์โมนที่เกินความจำเป็นนั้นอันตราย สิ่งที่เจอคือคนข้ามเพศมีความท้าทายจากการไปซื้อฮอร์โมนหรือยาต่างๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงรูปกาย ซึ่งหลายครั้งส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต เราหยุดให้เขาใช้ฮอร์โมนไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขาใช้อย่างปลอดภัย มีมาตรฐานและคุณภาพมากที่สุด" ชาติวุฒิ กล่าว
ชาติวุฒิ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังโฟกัสไปเกี่ยวกับคนข้ามเพศที่เป็นผู้สูงวัย เนื่องจากคนข้ามเพศสูงวัย ถือเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนเข้มข้นมากและสะสมอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นมายาวนานมาก โดยงานนี้ สสส. และภาคี ยังร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมอนามัย และภาคีที่เกี่ยวข้องทางนโยบาย ปัจจุบัน สปสช. ได้มีคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับคนข้ามเพศ ในเรื่องชุดฮอร์โมน ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่คนข้ามเพศใช้แพร่หลายมากที่สุด จะเป็นการพิจารณาว่าสิทธิประโยชน์ชุดไหนตัวไหน ประเภทไหนที่จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มคนข้ามเพศมากที่สุด
ชนาทิพย์ มารมย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สปสช. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ แม้จะเพิ่งร่วมงานกันอย่างจริงจัง ในปี 2566 นี้ แต่ที่ผ่านมาเคยทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงเชื่อว่าเมื่อทำงานร่วมกันในฐานะภาคีอีกด้านหนึ่งจะช่วยรวบรวมความเห็นในแง่มุมสุขภาพและบริการที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการนำมาเสนอเป็นสิทธิประโยชน์ในอนาคตได้ ทั้งเรื่องการเข้าถึงยาฮอร์โมนบางชนิด ดีกว่าไปซื้อหามารับประทานเอง แล้วเกิดอันตราย หรือแม้แต่การผ่าตัดแปลงเพศ เรื่องเหล่านี้ก็จะได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันต่อไป