"ห้องน้ำ-ความหลากหลายทางเพศ"ถึงเวลาพท.ราชการ-สาธารณมีAll Gender Restroom
ถ้าการกินมีความสำคัญ การขับถ่ายก็น่าจะสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น “ห้องน้ำ” หรือ “ส้วม” จึงเป็นสาธารณสุขจำเป็นขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องได้มีใช้ไม่ว่าจะที่พักอาศัยส่วนตัว หรือ ในพื้นที่่สาธารณต่างๆ
แต่การจัดให้มีห้องน้ำตามเพศสรีระอันเป็นเพศแต่กำเนิด ได้แก่ ห้องน้ำชายและหญิง มีผลกระทบต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มที่ไม่อาจใช้ห้องน้ำได้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศหรือตามการแสดงออกทางเพศของตน
รายงานข่าวจากสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ 27 มิ.ย. 2566 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) เสนอ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ผลประชุมโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ พม. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะของ กสม. สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม ได้แก่ 1.ระยะสั้น ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานของรัฐพิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางในการใช้ห้องน้ำในสถานที่ราชการและหน่วยงานอื่นในกำกับของรัฐ โดยส่งเสริมให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนได้ โดยให้พิจารณาบริหารจัดการจากห้องน้ำที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะเพิ่มเติมห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศนอกเหนือไปจากห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำสำหรับคนพิการ
"พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมจากห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิ โดยมท. ได้แจ้งเวียนหน่วยงานภายในเพื่อขอความร่วมมือให้จัดให้มีห้องสุขาสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างน้อย 1 ห้อง หรือตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่โดยติดป้าย All Gender Restroom และป้ายบอกทางให้ชัดเจนแล้ว"
2. ระยะยาว ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานของรัฐทำการศึกษาและออกแบบการจัดทำห้องน้ำว่าห้องน้ำสาธารณะควรมีลักษณะอย่างไรจึงจะรองรับการใช้งานของบุคคลทุกคนได้อย่างเหมาะสม เป็นไปตามหลักความเสมอภาคของบุคคล เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวข้อง
"กรณีแนวทางจัดทำห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรศึกษา วิจัยเพิ่มเติมโดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยกก. ได้จัดทำแบบแปลนห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวระดับสากล เพื่อรองรับทุกเพศทุกวัยรวมถึงผู้พิการ ซึ่งแบบแปลนดังกล่าวสามารถใช้เป็นทางเลือกได้"
สำหรับกรณีห้องน้ำสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เกิดขึ้นจากที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า หน่วยงานราชการ สถานศึกษา รัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานเอกชน ไม่มีบริการห้องน้ำสาธารณะที่รองรับการใช้งานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ