10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน  ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

ทุกครั้งที่เป็นประจำเดือน สาวๆ มักจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป บางคนปวดท้องน้อยจนตัวงอ บางคนหิวตลอดเวลา บางคนเหนื่อยง่าย บางคนหงุดหงิด บางคนสิวขึ้น หรือบางคนโชคดีหน่อยอาจไม่มีอาการอะไรเลย

Keypoint:

  • 'การปวดท้องประจำเดือน' กลายเป็นเรื่องปกติของสาวหลายๆ คนที่ต้องรับมือ  และพยายามหาวิธีเพื่อลดอาการปวดท้องน้อย 
  • ทว่าหลากหลายข้อห้ามข้อปฎิบัติ อาทิ ห้ามดื่มน้ำเย็น น้ำมะพร้าว มีเซ็กส์ได้ไม่ท้อง ห้ามออกกำลังกาย  ล้วนเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการมีประจำเดือน 
  • ความผิดปกติของประจำเดือน ไม่ว่าจะมามากเกินไป มากระปริดกระปรอย มาขาดๆ หายๆ หรือการปวดท้องประจำเดือนมาก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคจึงควรรีบพบแพทย์ 

ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อยและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น

โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

ยิ่งเครียดยิ่งแพ้ 'ความเครียดส่งผลต่อโรคภูมิแพ้'

'ผมร่วง'แบบไหน? ผิดปกติ สัญญาณเตือนส่อเกิดโรค

 

เช็กประเภทของอาการปวดประจำเดือน

อาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน’ จะมีอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง บางครั้งรับประทานยาแก้ปวดก็จะดีขึ้นแต่มีหลายรายที่อาการปวดท้องประจำเดือนจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย  เช่น  ปวดไปหลัง  ไปเอว ไปก้นกบ  ปวดร้าวไปที่หน้าขามีอาการท้องอืดท้องบวม  ท้องใหญ่ขึ้น ท้องเสีย  ปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้น  ปัสสาวะขัดหรือเวลามีเพศสัมพันธ์จะเจ็บท้องน้อย  เจ็บมดลูก ซึ่งปกติแล้วไม่ควรมี

อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน

1.ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป

2.ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) ทำให้อาจมีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกรานบริเวณที่มีเยื่อบุโพรวมดลูกไปเกาะในแต่ละรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงและอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
  • เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)  ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก และ/หรือ เลือดประจำเดือนมากและยาวนานกว่าปกติ 
  • เนื้องอกมดลูก (uterine fibroids)  มักไม่ใช่เนื้อร้าย  มักทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมามากหรือประจำเดือนกระปริบกระปรอยนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง 

10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน  ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 
  • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้าแต่หากรูปิดสนิท จะทำให้ของเหลวคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องมากและเรื้อรัง

 

ปวดแบบไหน? ที่ควรไปพบแพทย์

สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป

  • รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
  • อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น
  • มีอายุมากกว่า 25 ปีและรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
  • มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
  • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม
  • มีอาการติดเชื้อ เช่น ตกขาวมีกลิ่น อาการคันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ
  • มีบุตรยาก

อาหารส่งผลต่อประจำเดือนอย่างไร

พญ.อสมา วาณิชตันติกุล  สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยานรีเวชและผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่าช่วงที่เป็นประจำเดือน จะทำให้เสียเลือด อ่อนเพลีย ขาดธาตุเหล็ก เวียนศีรษะง่าย มดลูก มีการบีบตัว อาจทำให้ปวดท้อง (ปวดประจำเดือน) เพราะช่วงก่อนประจำเดือนมา ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาการทางใจ/อารมณ์ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อาการทางกาย เช่น มีท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้

ทั้งนี้ อาหารไม่มีผลโดยตรงกับมดลูกเพราะอาหารที่ทานนั้นผ่านลงสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งไม่ได้เชื่อมต่อกับมดลูก แต่อาหาร บางอย่างอาจมีผลต่ออาการต่าง ๆ ที่เกิดช่วงก่อนและขณะมีประจำเดือนได้ ดังนั้นจึงควรเลือกอาหารที่เหมาะสมเพื่อลดอาการเหล่านั้น

10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน  ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

อาหารที่แนะนำช่วงมีประจำเดือน

  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
  • ปริมาณน้ำที่แนะนำอย่างน้อย 2.7 ลิตร ต่อวัน
  • ช่วยทดแทนการเสียเลือด ช่วยให้ลดอาการปวด/มึนศีรษะ
  • ช่วยลดอาการท้องอืด
  • อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง (ได้แก่ ปลา ไก่ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า) ช่วยทดแทนการเสียธาตุเหล็กจากการเสียเลือด
  • อาหารโปรตีนสูงและอาหารกากใยสูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้พลังงานคงที่ ไม่หิวง่าย
  • โอเมกา3 (Omega-3 / Fish oil) ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ช่วยลดอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าหรือเหวี่ยง
  • สมุนไพรบางชนิด ได้แก่ ขิง อบเชย ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานมากเกินไป
  • อาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงมีประจำเดือน

  • อาหารเค็ม / เกลือ

การกินเกลือหรืออาหารเค็มมากเกินไปทำให้น้ำในร่างกายคั่ง ตัวบวม และท้องอืด

  • ของหวาน / อาหารน้ำตาลสูง

หากทานมากเกินไปจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแกว่งและทำให้อารมณ์แปรปรวน

  • คาเฟอีน / ชา / กาแฟ

คาเฟอีนทำให้น้ำในร่างกายคั่ง ตัวบวม และอาจทำให้ปวดศีรษะมากขึ้น แต่การขาดคาเฟอีนอาจทำให้ปวดศีรษะได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องงดคาเฟอีน เพียงแต่ไม่ควรดื่มมากเกินไป

  • แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายขาดน้ำและอาจทำให้ปวดศีรษะและท้องอืดตามมาได้

  • อาหารรสจัด / เผ็ด

อาหารรสเผ็ด ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ไม่ได้มีผลต่อมดลูกโดยตรง แต่อาจทำให้ร้อนท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ซึ่งส่งผลต่ออาการช่วงมีประจำเดือนได้

  • เนื้อสัตว์ / เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู

มีธาตุเหล็ก ช่วยทดแทนเลือดที่เสียไป แต่มีสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) มากเช่นกันซึ่งอาจทำให้มดลูกบีบตัวและปวดประจำเดือนได้

ความเชื่อผิด ๆ เรื่องอาหารกับประจำเดือน

1.  ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือทานน้ำแข็งช่วงมีประจำเดือน

"ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็งไม่ส่งผลใด ๆ ต่อประจำเดือน เพราะประจำเดือนคือเลือดที่ออกมาจากมดลูก อาการปวดประจำเดือนคืออาการปวดท้องอันเนื่องมาจากการบีบตัวของมดลูก เมื่อดื่มน้ำเย็น ร่างกายจะมีระบบปรับอุณหภูมิของอาหารที่ทานเข้าไป และน้ำที่เข้าสู่ร่างกายนั้นจะผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่เกี่ยวกับมดลูกแต่อย่างใด ซึ่งสองระบบนี้แยกจากกันชัดเจน ดังนั้น น้ำเย็นหรือน้ำแข็งจึงไม่ทำให้ปวดท้องประจำเดือนและไม่ทำให้ประจำเดือนเป็นลิ่ม "

10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน  ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

2.  ไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวช่วงมีประจำเดือน

"ไม่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำมะพร้าวแต่ไม่แนะนำดื่มมากเกินไป น้ำมะพร้าวมีไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารประกอบจากธรรมชาติที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง"

3.  น้ำมะพร้าวทำให้ประจำเดือนผิดปกติและทำให้ปวดประจำเดือน

"กลไกการปวดประจำเดือนเกิดจากการบีบตัวของมดลูกซึ่งเกี่ยวกับสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) ในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักของอาการ แต่อาจส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูกและรบกวนปริมาณประจำเดือน อย่างไรก็ตามหากไม่ดื่มมากจนเกินไป น้ำมะพร้าวนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะอุดมไปด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย"

4. เพราะประจำเดือนคือ 'เลือดเสีย' ยิ่งมามาก...ก็เท่ากับได้ขับของเสียมาก

 "ประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย! แต่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาพร้อมเลือดเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่า การมีประจำเดือนจึงไม่ใช่การขับของเสียออกจากร่างกายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และประจำเดือนมามาก... ก็ยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะผิดปกติได้อีกด้วย"

5.ไม่ควรออกกำลังกายช่วงมีประจำเดือน

"สาวๆ มักเชื่อว่า ไม่ควรออกกำลังกายในระหว่างมีประจำเดือน เพราะร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนเพลียอาจเสี่ยงเป็นลมได้ ซึ่งความจริงแล้ว แม้มีประจำเดือนก็สามารถออกกำลังกายได้ เพราะสารเอนดอร์ฟินที่หลั่งออกมาไม่เพียงช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ โดยเลือกเป็นกิจกรรมเบาๆ อย่าง โยคะ หรือ ว่ายน้ำ เพียงแต่ต้องดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด"

10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน  ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

6. มีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนสิ...ไม่ท้อง!

"มีคู่รักหลายๆ คู่เชื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือนจะช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งความจริงแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือนก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เพราะการมีเลือดไหลซึมออกมาวันแรกๆ อาจไม่ใช่เลือดจากประจำเดือน แต่บางคนอาจมีเลือดซึมออกมาในช่วงไข่ตก... หากไม่สวมถุงยางอนามัยก็อาจเสี่ยงตั้งครรภ์ได้ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ในวันท้ายๆ ของการมีประจำเดือน เพราะอสุจิผู้ชายสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดหลังจากการหลั่งได้ถึง 72 ชั่วโมง"

7. ถ้าประจำเดือนมาไม่ปกติ ต้องกินยาขับเลือด

"เพราะความเข้าใจผิดที่ว่าประจำเดือนคือเลือดเสีย ทำให้เมื่อประจำเดือนขาด... ก็เข้าใจว่าต้องกินยาขับเลือดเพื่อให้ของเสียถูกขับออกมา ซึ่งการที่ประจำเดือนไม่มาหรือมาๆ ขาดๆ อาจเกิดจากการมีโรคทางนรีเวชซ่อนอยู่ และการกินยาขับเลือดอาจส่งผลรุนแรงหากผู้ป่วยมีโรคบางโรคแฝงอยู่ เช่น เนื้องอกมดลูก หรือช็อกโกแลตซีสต์"

8. มีประจำเดือนห้ามอาบน้ำเย็น เพราะจะทำให้เป็นไข้ไม่สบาย

"คนโบราณมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ช่วงระหว่างมีประจำเดือนฮอร์โมนในร่างกายจะแปรปรวน การอาบน้ำเย็นจึงอาจส่งผลให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทัน มีไข้หรือเจ็บป่วยได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระหว่างมีประจำเดือนสามารถอาบน้ำเย็นในอุณหภูมิปกติได้เหมือนเดิม"

9. ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย ทำให้เสี่ยง 'มะเร็งปากมดลูก'

"สาวๆ ที่ประจำเดือนมาค่อนข้างเยอะ อาจเปลี่ยนผ้าอนามัยใหม่อยู่บ่อยครั้งในแต่ละวัน แต่สำหรับคนที่ประจำเดือนมาน้อย...จนเรียกว่าผ่านไปกว่าครึ่งวันถึงเปลี่ยนผ้าอนามัยสักครั้ง ทำให้มีความเชื่อว่า พฤติกรรมไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัยอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งความจริงแล้ว สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัส hpv ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง แต่การใช้ผ้าอนามัยแผ่นเดิมนานหลายชั่วโมงเกินไป อาจส่งผลในเรื่องความสะอาดของจุดซ่อนเร้นมากกว่า"

10 ความเชื่อผิดๆ เมื่อเป็นประจำเดือน  ห้ามดื่มน้ำเย็น- น้ำมะพร้าวจริงหรือ?

10. การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจะทำให้เยื่อพรหมจรรย์ขาด

"หนึ่งในความเชื่อของสาวๆ ที่ยังเวอร์จิ้น ก็คือ ความเข้าใจที่ว่า การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดจะทำให้เยื่อพรหมจรรย์ขาด ซึ่งไม่เป็นความจริง! เพราะเยื่อพรหมจรรย์เป็นเยื่อบางๆ ที่สามารถยืดหยุ่นได้ และมีรูให้ประจำเดือนไหลผ่านเข้าออก ซึ่งขนาดของรูก็กว้างพอสำหรับผ้าอนามัยแบบสอดอีกด้วย"

อ้างอิง : โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลเปาโล