‘ไทยออยล์’ ชน Samsung - Saipem ลุยศึกคดีทวงค่าปรับ 1.2 หมื่นล้าน

‘ไทยออยล์’ ชน Samsung - Saipem  ลุยศึกคดีทวงค่าปรับ 1.2 หมื่นล้าน

ไทยออยล์ ชน ซัมซุง - ไซเปม สู้คดีอนุญาโตฯ โครงการ CPF 2.4 แสนล้าน มีสิทธิเรียกค่าปรับล่าช้า 1.2 หมื่นล้าน บันทึกรับเงินประกันไตรมาส 1 คาดเปิดเชิงพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2571

KEY

POINTS

  • โครงการ CFP ของไทยออยล์ เริ่มวันที่ 5 มี.ค.2563 หลังวางศิลาฤกษ์อาคาร เงินลงทุนเริ่มโครงการ 160,279 ล้านบาท ดอกเบี้ยระหว่างการ 5,016 ล้านบาท เพิ่มกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ก่อนหน้านี้กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 แต่ทันทีที่เริ่มก่อสร้างเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการจัดหาอุปกรณ์และการก่อสร้าง โดยได้ทำสัญญา EPC กับผู้รับเหมาหลักในนามกิจการร่วมค้า UJV-S

โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ปักหมุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 หลังมีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โดยมีเงินลงทุนประเมินช่วงเริ่มโครงการ 160,279 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 5,016 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่น จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน

ก่อนหน้านี้กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 แต่ทันทีที่เริ่มก่อสร้างเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการจัดหาอุปกรณ์และการก่อสร้าง โดยได้ทำสัญญาสำหรับการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาและการก่อสร้าง (EPC) กับผู้รับเหมาหลักในนามกิจการร่วมค้า UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem

ในปี 2564 UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem เริ่มเจรจากับไทยออยล์เพื่อขอเพิ่มงบประมาณในสัญญา EPC และขยายเวลาส่งมอบ ซึ่งได้อนุมัติแก้ไขสัญญา EPC และให้งบประมาณเพิ่ม 550 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท

รวมทั้งไทยออยล์ให้ UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem จ่ายค่าตอบแทนค้างจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วง โดยส่งหนังสือสอบถามบริษัทแม่ของ UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem 

ล่าสุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นไทยออยล์อนุมัติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2568 เพิ่มงบลงทุนอีก 63,028 ล้านบาท ประมาณการดอกเบี้ย 17,922 ล้านบาท รวมงบลงทุน 241,472 ล้านบาท หรือ 7,151 ล้านดอลลาร์ และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 37,216 ล้านบาท หรือ 1,078 ล้านดอลลาร์

ยื่นคัดค้านคำโต้แย้ง Sumsung

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2568 ว่า Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของผู้ร่วมกิจการร่วมค้า UJV ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับไทยออยล์ต่อ Singapore International Arbitration Centre

ทั้งนี้ได้ขอให้ข้อพิพาทเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเด็นสัญญา EPC โดยเฉพาะกรณีการใช้สิทธิของไทยออยล์บังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้า 358 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวอ้างว่าการใช้สิทธิบังคับหลักประกันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิก่อนถึงกําหนดเวลาและดําเนินการที่ไม่สมควร อีกทั้งได้เรียกร้องค่าเสียหายกับไทยออยล์ที่ผู้ร้องยังมิได้ระบุรายละเอียด

นอกจากนี้ ไทยออยล์ยืนยันว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา EPC เคร่งครัดตลอด โดยวันที่ 25 มี.ค.2568 ไทยออยล์ยื่นคําคัดค้านเพื่อโต้แย้งข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อผู้ร้องตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการด้วย 

“กระบวนการอนุญาโตตุลาการจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการ CFP และไทยออยล์เตรียมการสําหรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว” นายบัณฑิต ระบุในหนังสือที่แจ้ง ตลท.

บันทึกรับเงินประกันไตรมาส 1 ปีนี้

ทั้งนี้ ไทยออยล์จะได้เงินจากเงินค้ำประกันรวม 358 ล้านดอลลาร์ หรือ 12,339 ล้านบาท ซึ่งจะมาช่วยลดงบลงทุนโครงการ CFP ที่ไทยออยล์ประกาศก่อนหน้านี้ โดยผู้ตรวจสอบบัญชีของไทยออยล์พิจารณาให้รายการเงินหลักประกันที่ได้รับจากกลุ่ม UJV ไปลดต้นทุนวงเงินก่อสร้างในโครงการ CFP ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ โดยไม่ให้บันทึกเป็นรายได้อื่น

นอกจากนี้ ไทยออยล์จะบันทึกการรับเงินหลักประกันโดยหักต้นทุนของงานระหว่างก่อสร้างในโครงการ CFP จำนวน 12,241 ล้านบาท และบันทึกรายได้อื่นจำนวน 98 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยไทยออยล์ ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์