สิทธิในการลาปวดประจำเดือน | ชญานี ศรีกระจ่าง
การปวดประจำเดือน เป็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นระหว่างการมีประจำเดือน เนื่องจากการบีบตัวของมดลูก ซึ่งระดับของความเจ็บปวดในแต่ละบุคคลก็จะแตกต่างกันไป
บางรายมีอาการปวดเล็กน้อย ในขณะที่บางรายมีอาการปวดรุนแรง ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องมีการลาหยุดงานเพื่อพักรักษาตัว ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดสนับสนุนให้มีการกำหนดสิทธิในการลาปวดประจำเดือน
ด้วยเหตุผลที่ว่าสิทธิในการลาปวดประจำเดือนมีความสำคัญเช่นเดียวกับสิทธิลาคลอด ซึ่งเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ต่อข้อแตกต่างทางกายภาพระหว่างเพศ
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมีแนวคิดว่าการให้สิทธิลาปวดประจำเดือนนั้น อาจเป็นเหตุให้นายจ้างไม่รับลูกจ้างหญิงเข้าทำงาน อีกทั้งลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้อยู่แล้ว เนื่องจากการปวดประจำเดือนเป็นอาการที่กระทบต่อการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีวันลาปวดประจำเดือนแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พบว่าไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิลาปวดประจำเดือนไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น หากลูกจ้างหญิงมีความจำเป็นต้องลาเนื่องจากอาการปวดประจำเดือน จะต้องใช้สิทธิลาป่วย
โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ใช้บังคับกับทั้งลูกจ้างชายและหญิง โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างทางกายภาพระหว่างเพศแต่อย่างใด
สำหรับในประเทศไทย เรื่องสิทธิในการลาปวดประจำเดือนกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน
โดยเมื่อปลายปีพ.ศ.2566 กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมและเครือข่าย ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานหญิง ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในประเด็นเรื่องสิทธิในการลาว่า กฎหมายควรให้สิทธิในการลาปวดประจำเดือนแยกต่างหากจากสิทธิลาป่วย โดยลูกจ้างที่ลายังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ...
โดยนายเซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลกับคณะเป็นผู้เสนอ ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการลาปวดประจำเดือนว่าควรให้สิทธิแรงงานหญิงในการลาปวดประจำเดือน
โดยแยกต่างหากจากสิทธิลาป่วย เนื่องจากปัจจุบันความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนไม่ถูกให้ความสำคัญ ซึ่งต่างจากกรณีการเจ็บป่วยจากโรคภัยหรืออุบัติเหตุ
และหากถือเอาการลาปวดประจำเดือนเป็นการลาป่วยทั่วไป จะทำให้ลูกจ้างหญิงมีวันลาที่เกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วยน้อยกว่าลูกจ้างชาย ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในที่ทำงาน
ปัจจุบันหลายประเทศมีการบัญญัติกฎหมายให้สิทธิแรงงานหญิงลาเนื่องจากปวดประจำเดือน โดยมีเงื่อนไขและระยะเวลาในการลาที่แตกต่างกันออกไป
ในบทความนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกฎหมายสเปน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และแซมเบีย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สเปน
สเปนเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ผ่านกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิลูกจ้างหญิงลากรณีปวดประจำเดือน (The Menstrual Leave Law) โดยกฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิลาได้เป็นระยะเวลา 3 วันต่อเดือน และอาจขยายได้ถึง 5 วันต่อเดือนหากมีความจำเป็น โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน
เกาหลีใต้
สิทธิในการลาปวดประจำเดือน (physiologic leave) ถูกบัญญัติในกฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้ (the Standard Labour Act) ตั้งแต่ปีค.ศ.2001 กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิลูกจ้างหญิงทุกคนสามารถลาเนื่องจากการปวดประจำเดือนได้เป็นเวลา 1 วันต่อเดือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง และหากลูกจ้างหญิงรายใดไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวก็จะได้รับค่าจ้างพิเศษ
ไต้หวัน
กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศในการจ้างแรงงานของไต้หวัน (the Gender Equality Employment Law) ให้สิทธิลูกจ้างหญิงในการลาเนื่องจากการปวดประจำเดือนได้เป็นเวลา 1 วันต่อเดือน โดยได้รับค่าจ้างกึ่งหนึ่งของค่าจ้างปกติ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายจำกัดให้ลาเนื่องจากปวดประจำเดือนได้สูงสุดไม่เกิน 3 วันต่อปี และหากเกินกว่านั้นให้นับเป็นการลาป่วย
ญี่ปุ่น
สิทธิในการลาเนื่องจากปวดประจำเดือน (Seirikyuuka-Physiological Leave) ถูกบัญญัติในกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น (the Labour Standards Law) ตั้งแต่ปีค.ศ.1947 กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิลูกจ้างหญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนสามารถลางานได้ โดยไม่ได้กำหนดถึงจำนวนวันที่สามารถลาได้สูงสุดต่อเดือนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในปีค.ศ.2017 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจ พบว่ามีลูกจ้างเพียง 0.9% เท่านั้นที่ใช้สิทธิลาดังกล่าว
แซมเบีย
กฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานแซมเบีย (Employment Code Act 2019) บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการลาปวดประจำเดือน โดยกำหนดให้ลูกจ้างหญิงทุกคนมีสิทธิลาได้เป็นเวลา 1 วันต่อเดือน โดยไม่จำเป็นต้องยื่นใบรับรองแพทย์ต่อนายจ้าง และหากนายจ้างไม่อนุญาตให้ลูกจ้างลา นายจ้างรายนั้นอาจถูกดำเนินคดีได้
เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายต่างประเทศข้างต้น พบว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ ให้สิทธิลูกจ้างหญิงที่มีอาการเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนสามารถลางานได้ โดยกำหนดเป็นสิทธิที่แยกต่างหากจากสิทธิในการลาป่วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงาน และในบางประเทศยังมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเจริญพันธุ์อีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยควรมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยขยายสิทธิของลูกจ้างหญิงให้ครอบคลุมถึงสิทธิลาปวดประจำเดือน หรืออนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้ในช่วงที่มีอาการปวดประจำเดือน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานและสร้างความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน