ผู้หญิงควรรู้ หงุดหงุด เศร้า กังวล ก่อนมี 'ประจำเดือน' เสี่ยงภาวะ PMS
ทำความรู้จัก ภาวะ 'PMS' อาการที่มักเกิดกับผู้หญิง 1-2 สัปดาห์ก่อนมี 'ประจำเดือน' ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด เศร้าวิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องอืด สิวขึ้น ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
Key Point :
- ช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ ผู้หญิงหลายคนมักมีอารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล เศร้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง สิวขึ้น ฯลฯ
- อาการดังกล่าว ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และบางรายถึงขั้นโมโหร้ายมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นภาวะ PMS
- สาเหตุของ PMS มาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน ในบางรายที่มีอาการ PMS อย่างรุนแรง อาจเกิดอาการ PMDD ได้
ทุกเดือนผู้หญิงจะเจอกับปัญหาที่เจ็บปวดทั้งร่างกายและความรู้สึก นั่นก็คือ การมีประจำเดือน ที่ทำให้ปวดท้อง ปวดหลัง ท้องผูก และมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย บางรายอาจจะถึงขั้นโมโหร้าย อาการแบบนี้ถ้าหากรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เสี่ยงต่อการเป็นภาวะ PMS ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
ข้อมูลจาก รศ. พญ.อรวี ฉินทกานันท์ สาขาวิชาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในเว็บไซต์ RAMA Channel อธิบายว่า ช่วงเวลาที่ผู้หญิงกำลังเป็นประจำเดือนเกิดจากการที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อที่ผนังมดลูกให้มีความหนาขึ้น เพื่อเตรียมการตั้งครรภ์ แต่ถ้ายังไม่มีการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกและไหลผ่านทางช่องคลอดเป็นเลือด ทำให้ผู้หญิงที่กำลังเป็นประจำเดือนมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ หน้าอกขยาย และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ยังทำให้อารมณ์แปรปรวน จนทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า PMS
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หญิงไทย 37% มี ภาวะ ‘โลหิตจาง’ เพราะประจำเดือนมามากผิดปกติ
- สาววัยทำงานต้องเข้าใจ 'สิวประจำเดือน' มีอะไรซ่อนไว้มากกว่าที่คิด
- ไขข้อสงสัยทำไมบางคนถึงเป็น “ไมเกรน” ก่อนมี “ประจำเดือน”
PMS คืออะไร
PMS (premenstrual syndrome) คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยสาเหตุของอาการนั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งอาการ PMS นี้ส่งผลทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ
สาเหตุของภาวะPMS
PMS ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างไข่ตกในแต่ละรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยอาการPMSจะหายไปในช่วงที่ไม่มีการตกไข่ เช่น ขณะตั้งครรภ์หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (serotonin) ลดต่ำลง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนได้
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะ PMS
โดยทั่วไป PMS มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงและไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการ PMS อย่างรุนแรง อาจเกิดอาการ PMDD ได้ ซึ่งจะกระทบต่อสภาวะอารมณ์ เช่น วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ซึมเศร้า และอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
อาการ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย
- ไม่มีสมาธิ
- เศร้าวิตกกังวล
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง
- ปวดศีรษะ
- เจ็บเต้านม
- ปวดท้อง ท้องอืด
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- สิวขึ้น
- หิวบ่อย
- เครียด
วิธีป้องกันและรักษา
- ไม่สูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- นอนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- กินอาหารที่มีประโยชน์และแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง
- กินยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดหากอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 รอบเดือนควรพบแพทย์
สีของ ประจำเดือน บอกอาการอะไรบ้าง ?
สีแดงสด > สุขภาพแข็งแรง ปกติ
สีแดงเข้ม > ช่วงวันมามาก สาเหตุมาจากอากาศร้อนทำให้มดลูกทำงานหนักและมีปริมาณเลือดออกมากกว่าปกติ
สีดำหรือน้ำตาลเข้ม > เลือดเก่าที่ถูกขับออกมา
สีชมพูแดง > มีบาดแผลภายในหรือมีฮอร์โมนต่ำ
สีแดงส้ม > ติดเชื้อภายในห้องคลอด มีกลิ่นเหม็นอับ ปวดท้อง
สีเทาปนเขียว > หากมีตกขาว ปวดท้องน้อย หรือมีไข้ร่วมด้วย เป็นอาการบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
ปวดท้องประจำเดือนมากควรทำอย่างไร
- ใส่เสื้อผ้าโปร่งไม่รัดตัว เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว
- รับประทานอาหารไขมันต่ำ (low fat) เช่น บลูเบอร์รี มะเขือเทศ พริกหยวก
- ดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดียิ่งขึ้น
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลดอาการปวด
- นอนขดตัวจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องคลายตัว
- รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน หากมีอาการปวดมาก เช่น ปวดจนเดินไม่ไหว
การปวดท้องประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือขาดเป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง บางรายที่มีอาการเครียดมาก ๆ ก็ส่งผลทำให้ประจำเดือนขาด ไม่มาตามรอบได้และถ้าปวดท้องประจำเดือนมากควรเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี
อ้างอิง : RAMA Channel