สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น

สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น

ความเข้าใจเดิมเมื่อพูดถึงปัญหาช่องคลอดแห้ง เรามักนึกถึงความเหี่ยวแห้งจากการขาดฮอร์โมนในหญิงวัยหมดระดูหรือหมดประจำเดือน แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ภาวะช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง หรือที่เรียกว่า Vulvovaginal atrophy (VVA) นั้น

KEY

POINTS

  • ปัญหาช่องคลอดแห้งสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงตามวัยหรือที่เรียกว่าภาวะพร่องฮอร์โมน 
  • วิตามินหรืออาหารที่ช่วยบำรุงจากภายใน บรรเทาอาการ “ช่องคลอดแห้ง” ได้แก่ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ,สารสกัดจากจมูกถั่วเหลือง ,วิตามินอี  และรับประทานอาหารประเภทธัญพืช ผัก และผลไม้ เช่น กล้อยหอม น้ำมะพร้าว และถั่วเหลือง
  • วิธีเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันช่องคลอดแห้ง ต้องลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ก่อนมีเพศสัมพันธ์ควรเพิ่มเวลาในการเล้าโลมให้นานขึ้น และเปลี่ยนวิธีในการคุมกำเนิด 

ความเข้าใจเดิมเมื่อพูดถึงปัญหาช่องคลอดแห้ง เรามักนึกถึงความเหี่ยวแห้งจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงวัยหมดระดูหรือหมดประจำเดือน แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ภาวะช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง หรือที่เรียกว่า Vulvovaginal atrophy (VVA) นั้น พบได้บ่อยกว่านั้น แต่มักไม่ได้รับการรายงาน โดยสาเหตุหลักเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เนื้อเยื่อช่องคลอดลดลง และพบว่าสามารถเกิดกับผู้หญิงได้ทุกวัยในช่วงชีวิตหนึ่งเมื่อมีการขาดเอสโตรเจน โดยร้อยละ 50 พบในหญิงวัยหมดระดู

ช่องคลอดแห้ง (Vaginal Dryness) คือภาวะที่เมือกหล่อลื่นภายในช่องคลอดลดน้อยลง ส่งผลให้เยื่อบุช่องคลอดแห้งกร้าน ขาดความชุ่มชื้น มีสาเหตุหลักมาจากการที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จากสถิติพบว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้มีปัญหาช่องคลอดแห้งเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนปกติ ช่องคลอดจะมีผิวที่ชุ่มชื้น ผนังช่องคลอดหนาและมีลูกคลื่น

 แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเกิดภาวะพร่องฮอร์โมน คือภาวะที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงลดลง จึงทำให้ผนังช่องคลอดบางลง ความยืดหยุ่นลดลง การหลั่งน้ำหล่อลื่นลดลง ภาวะความเป็นกรดลดลง ทำให้มีการเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นมาแทนที่แบคทีเรียชนิดดี เป็นสาเหตุที่ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้ง่ายนั่นเอง แต่ทั้งนี้ผู้หญิงทุกช่วงวัยที่อยู่ในภาวะขาดเอสโตรเจนก็สามารถมีปัญหาช่องคลอดแห้งได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปวดประจำเดือนแบบไหน? ปกติ VS ผิดปกติที่สาวๆ ควรรู้

หิวจัดก่อน ‘ประจำเดือน’ มาไม่ใช่เรื่องแปลก วิทยาศาสตร์มีคำตอบ!

ช่องคลอด(น้องสาว)แห้งเกิดจากอะไร?

ปัญหาช่องคลอดแห้งมักพบมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงตามวัยหรือที่เรียกว่าภาวะพร่องฮอร์โมน ขณะที่ผู้หญิงในช่วงวัยอื่นๆ ก็สามารถเกิดปัญหาช่องคลอดแห้งได้ เช่นในกรณีดังต่อไปนี้

  • คนที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยาบางประเภท เช่น ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาโรคความดันเลือดสูง ยารักษาโรคทางจิตเวช รวมถึงเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง เป็นต้น
  • คนที่ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
  • คนที่มีความต้องการทางเพศต่ำ หรือผู้ที่มีปัญหาทางเพศอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ทำเกิดภาวะช่องคลอดแห้ง ในทางกลับกันภาวะช่องคลอดแห้งก็อาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้เช่นกัน
  • คนที่เกิดการระคายเคืองช่องคลอดเนื่องจากแพ้สบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น รวมถึงผู้ที่สวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ ซึ่งทำให้ช่องคลอดเสียความเป็นกรดและแห้ง จนเกิดผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด

สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น

อาการภาวะช่องคลอดแห้ง

พญ.ธิศรา วีรสมัย สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท กล่าวว่าสำหรับอาการของภาวะช่องคลอดแห้งนั้น มีดังนี้

  • รู้สึกร้อนๆ แสบแห้ง ระคายเคืองในช่องคลอด
  • ขาดน้ำหล่อลื่น และเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ บางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลง ถึงจุดสุดยอดได้ยากขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อย รู้สึกร้อนๆ แสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • ช่องคลอดอักเสบ เป็นตกขาวบ่อย เป็นๆ หายๆ และหายยาก เนื่องจากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนปกติช่องคลอดจะมีผิวชุ่ม หนาและมีลูกคลื่น พอเข้าวัยทองจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงทำให้ผนังบาง ความยืดหยุ่นลดลง เลือดมาเลี้ยงบริเวณช่องคลอดลดลง การหลั่งน้ำหล่อลื่นลดลง ภาวะความเป็นกรดลดลง กลายเป็นสภาวะด่างมากขึ้น เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ร่วมกับเซลล์ที่ผนังช่องคลอดลอก ทำให้ช่องคลอดมีความเป็นด่างมากขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่แบคทีเรียชนิดดี lactobacilli ที่คอยปกป้องช่องคลอดนั้นอยู่ไม่ได้  ทำให้มีการเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคต่างๆ ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้ง่ายและบ่อย

สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อตรวจร่างกายหรือตรวจภายใน

เมื่อผู้ป่วยมาตรวจร่างกายหรือตรวจภายใน เราจะพบอาการดังนี้

  • ช่องคลอดมีสีซีด แห้ง อาจพบจุดเลือดออก ลูกคลื่นของช่องคลอดหายไป ปากมดลูกอาจแบนแนบไปกับช่องคลอด
  • หากต้องการวินิจฉัยให้ชัดเจนขึ้น สามารถตรวจภาวะกรดด่าง จะพบความเป็นด่าง โดยค่า pH จะมากกว่าหรือเท่ากับ 4.6
  • เมื่อตรวจปัสสาวะ มักพบมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน (ในสตรีวัยหมดระดู เมื่อตรวจสุขภาพประจำปี ผลตรวจปัสสาวะมักมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน หากได้ตรวจวินิจฉัยแยกโรคของทางเดินปัสสาวะไปแล้ว ก็มักจะเป็นจากภาวะช่องคลอดแห้ง)

สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น

สาเหตุของภาวะช่องคลอดแห้ง

1.ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่ลดลงตามวัย ซึ่งในวัยก่อนหมดประจำเดือน

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ที่ 10-800 pg/ml ปริมาณแตกต่างตามระยะของรอบระดู แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมักน้อยกว่า 30 pg/ml และแหล่งของเอสโตรเจนจะมาจากเอสโตรเจนชนิด E1 มากกว่า ซึ่งถูกเปลี่ยนมาจากส่วนของไขมันที่สะสมบริเวณท้องแขน ต้นขา และพุงหรือหน้าท้อง

2.ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยา ได้แก่

  • การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง ในบางรายส่งผลให้รังไข่ทำงานล้มเหลว เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และพบปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้งตามมา มีการเก็บข้อมูลพบปัญหานี้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่านการให้ยาเคมีบำบัด ร้อยละ 23-61
  • การให้ยาซึ่งมีกลไกต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรักษาบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำช็อกโกแลตที่รังไข่ (เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งพบที่รังไข่) การฉีดยาเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูกก่อนการผ่าตัด ซึ่งอาจพบปัญหาช่องคลอดแห้งตามมาได้

ทำอย่างไรไม่ให้ช่องคลอดแห้ง?

สำหรับผู้ที่มีปัญหาช่องคลอดแห้งเนื่องจากมีภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงนั้น เพื่อเพิ่มและปรับสมดุลฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถเลือกวิธีการใช้ฮอร์โมนทดแทนได้ ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ด ครีม รวมถึงยาสำหรับสอดช่องคลอด ทั้งนี้การใช้ยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากมีการศึกษาของสมาคมวัยทองแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าการทายาฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่องคลอด ซึ่งเป็นเอสโตรเจนระดับฮอร์โมนน้อยๆ สามารถช่วยในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งได้ แต่ทั้งนี้ก็มีการศึกษาพบว่าการใช้ฮอร์โมนทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือดเพิ่มด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลในทางลบต่อระบบอื่นๆในร่างกายได้ ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจมีข้อบ่งห้ามในการใช้ฮอร์โมน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม เช็คลิสอาการเข้าสู่วัยทอง)

สำหรับผู้มีปัญหาช่องคลอดแห้ง และต้องการแก้ปัญหาในเฉพาะกรณีที่เจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ สามารถใช้เจลหล่อลื่นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บได้เป็นครั้งคราว โดยทาบริเวณช่องคลอด หรืออวัยวะเพศชาย หรืออีกทางเลือก คือ การใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อช่วยปกป้องและเคลือบผนังช่องคลอดให้ชุ่มชื้น ซึ่งมีให้เลือกทั้งชนิดน้ำ ชนิดเจล หรือชนิดเม็ดสอดช่องคลอด

สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น

วิตามิน อาหารที่ทานเพื่อป้องกัน ลดปัญหาน้องสาวแห้ง

สำหรับวิธีที่ผู้เชียวชาญแนะนำเพื่อป้องกันหรือช่วยลดปัญหาช่องคลอดแห้งที่ให้ผลดีในระยะยาว คือ การบำรุงจากภายใน ด้วยการเสริมสารอาหารที่จำเป็นให้กับร่างกายของผู้หญิง

สารอาหารสำคัญสำหรับบรรเทาอาการ “ช่องคลอดแห้ง”

1. น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส
สารสำคัญ GLA ในน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว จากการเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ผิว ทำให้ผิวแข็งแรง และชุ่มชื้นขึ้น ทำให้ช่วยแก้ปัญหาช่องคลอดแห้งได้ นอกจากนี้น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสยังมีกรดไขมันจำเป็นชนิดไม่อิ่มตัว Omega-6 ที่ช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้อีกด้วย

2. สารสกัดจากจมูกถั่วเหลือง

การปรับฮอร์โมนเพศหญิงให้สมดุล ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีร่วมในแก้ปัญหาช่องคลอดแห้ง รวมถึงคนที่ต้องการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงให้กับร่างกาย เพราะเป็นแหล่งของฮอร์โมนเพศหญิงจากธรรมชาติ ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีชื่อเรียกว่า ไฟโตเอสโตเจน (Phytoestrogen) ปัจจุบันมีสารสกัดจากจมูกถั่วเหลืองในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงตามธรรมชาติได้ นอกจากนี้การรับประทานสารสกัดจมูกถั่วเหลืองร่วมกับแคลเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ ยังมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันกระดูกพรุน ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ และยับยั้งการเติบโตของมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมนเพศได้ด้วย

3. วิตามินอี เป็นวิตามินที่ชื่อว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ยอดเยี่ยม ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายรวมไปถึงเซลล์ผิวด้วย โดยช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว รวมไปถึงผิวบริเวณช่องคลอดด้วย

4.รับประทานอาหารประเภทธัญพืช ผัก และผลไม้ เพราะจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มน้ำหล่อลื่น เช่น กล้วยหอม น้ำมะพร้าว และถั่วเหลือง

สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น

วิธีเพิ่มความชุ่มชื้นเพื่อป้องกันช่องคลอดแห้ง

  • ลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียด จะส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศที่ลดลง
  • ออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ก่อนมีเพศสัมพันธ์ควรเพิ่มเวลาในการเล้าโลมให้นานขึ้น
  • เปลี่ยนวิธีในการคุมกำเนิด เช่น การสวมห่วงอนามัย หรือการใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารหล่อลื่น

การวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ในช่องคลอด จากภาวะช่องคลอดแห้ง

การวินิจฉัยแยกโรคอื่นนอกจากภาวะช่องคลอดแห้ง จำเป็นต้องพิจารณาเสมอก่อนการให้การรักษา เนื่องจากรักษาแตกต่างกัน

  • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อรา ซึ่งอาจมีอาการแสบร้อน คัน ปัสสาวะขัดร่วมด้วย นอกจากการมีตกขาว
  • ระคายเคืองช่องคลอดจากการแพ้สบู่ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือชุดชั้นในที่สวมใส่ หรือแผ่นอนามัย
  • ผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด
  • ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งช่องคลอด ปากช่องคลอด ซึ่งจะมีอาการแห้ง คัน ระคายเคืองเรื้อรังได้ ดังนั้น หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยก่อนเสมอ

ปัญหาช่องคลอดและปากช่องคลอดแห้ง อาจฟังดูเหมือนผิวแห้ง แต่เมื่อเกิดบริเวณช่องคลอดแล้วจะส่งผลต่อหลายระบบ เนื่องจากผนังช่องคลอดรองรับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะด้วย จึงทำให้มีอาการทั้งแห้ง ระคายเคือง แสบร้อน ปัสสาวะขัด และรวมถึงกิจกรรมกับสามี ดังนั้น หากมีอาการควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรค และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท ,megawecare, โรงพยาบาลเพชรเวช