เปิดบทวิเคราะห์ ระดมความเห็นปรับเกณฑ์ 'คริปโตเคอเรนซี'

เปิดบทวิเคราะห์ ระดมความเห็นปรับเกณฑ์ 'คริปโตเคอเรนซี'

เปิดบทวิเคราะห์ "คริปโตเคอเรนซี" ในตลาดทุนไทยเป็นอย่างไร? หลังจากสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้น ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ เข้ามาดูมากขึ้น และออก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลต่อการกำกับเกณฑ์อย่างไรบ้าง?

ฉบับนี้ผู้เขียนประสงค์จะวิเคราะห์มุมมองที่มีต่อตลาดคริปโตในไทย และอธิบายข้อเสนอของสำนักงาน ก.ล.ต.ในการปรับเกณฑ์กำกับคริปโตในเรื่อง “การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโตเคอเรนซี และการกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

  • คริปโตตามกฎหมายไทย

ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายโดยย่อถึงกฎหมายที่รองรับคริปโตในไทยโดยพิจารณากฎหมายที่กำกับดูแลเป็นหลัก กล่าวคือ หากพิจารณาว่าเป็น “เงิน” หรือ “สื่อกลางที่ใช้แทนเงินตรา” หรือไม่ ก็ต้องพิจารณากฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสรุปได้ว่าคริปโตไม่มีสถานะเป็นเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้สินค้าหรือบริหารตามกฎหมายได้ และไม่ถือเป็นวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ ที่สามารถใช้แทนเงินตรา

อย่างไรก็ดี ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ถือว่าคริปโตเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์เป็นสื่อกลางในการระดมทุน กล่าวคือในตลาดแรก คริปโตจะมีสถานะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลในกระบวนการ ICO (ผู้ลงทุนจะได้โทเคนกลับมา) และในตลาดรอง คริปโตสามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้

  • วิเคราะห์คริปโตในตลาดทุนไทย

ผู้เขียนขอวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตที่มีต่อคริปโตในตลาดทุนไทยใน 4 ประเด็น กล่าวคือ 

ประเด็นแรก หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 คริปโตเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว และมีเอกชนบางรายในช่วงเวลานั้นได้นำไประดมทุนแบบ ICO โดยที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับและกฎหมายหลักทรัพย์ไม่สามารถใช้กำกับได้ 

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายโดยใช้กลไกของพระราชกำหนด ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งตามรัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นรีบด่วนอันอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ ประกอบกับการตราพระราชกำหนดมีเหตุจากความเร่งด่วน จึงมีเวลาค่อนข้างจำกัดในการจัดทำกฎหมายให้ครอบคลุมในทุกประเด็นตั้งแต่ในคราวแรก

ประเด็นที่สอง หากพิจารณาคริปโตที่มีอยู่ในตลาด พบว่าส่วนมากไม่มีปัจจัยพื้นฐานสินทรัพย์อ้างอิงหรือกิจการใดรองรับชัดเจน ดังนั้น การขึ้นลงของราคาคริปโตจึงอยู่ที่การเก็งกำไรของนักลงทุนเป็นหลัก ผนวกกับในระยะหลังกระแสการใช้คริปโตเป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มมากขึ้นจากภาคเอกชน จึงส่งผลให้ราคาของคริปโต โดยเฉพาะบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตอาจมีสภาวะผันผวนเนื่องจากอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ ได้ง่าย

ประเด็นที่สาม เมื่อราคาขึ้นสูง ก็เป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนสนใจเข้าไปเก็งกำไร ซึ่งข้อสังเกตที่สำคัญคือ นักลงทุนในตลาดคริปโตมี Financial Literacy หรือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคริปโตอยู่ในระดับใด และหากพิจารณาในอีกด้าน การส่งเสริมทักษะทางการเงินที่เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยสามารถส่งผ่านความรู้ความเข้าใจถึงประชาชนในวงกว้างได้หรือไม่

ประเด็นที่สี่ เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดและประชาชนจำนวนมากอยากลองลงทุนเพื่อทำกำไร ความพร้อมของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย ต้องมีระบบการจัดการที่ดีพอในการรองรับนักลงทุนด้วย ซึ่งในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเกณฑ์กำกับควบคู่กันไป

  • หลักการใหม่ที่เสนอ 

ดังนั้น หลักการใหม่ภายใต้การรับฟังความคิดของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ จึงโฟกัสอยู่ใน 2 ประเด็น กล่าวคือ

ประเด็นแรก “กำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโต” โดยเสนอให้ 1) ผู้ลงทุนต้องมีคุณสมบัติด้านความรู้ คือมีประสบการณ์ในการลงทุนคริปโต หลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเป็น professional (เช่น ผู้แนะนำการลงทุนตามเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน หรือผู้ผ่านการทดสอบ CISA เป็นต้น)

และ 2) คุณสมบัติด้านทางการเงิน เช่น มีรายได้ต่อปี (ไม่นับรวมคู่สมรส) ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 10 ล้านบาท (ไม่นับมูลค่าอสังหาฯ ที่ใช้พักอาศัยเป็นประจำ) หรือมีมูลค่าการลงทุน (ในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล) โดยมี port size ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

ประเด็นที่สอง “กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านการทำ knowledge test ก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยเสนอให้ทุกครั้งที่มีการเปิดบัญชีซื้อขายกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เปิดบัญชีกับศูนย์ซื้อขาย จะต้องมีข้อกำหนดให้นักลงทุนทำ knowledge test ก่อนเสมอ โดยผู้ลงทุนจะต้องมีคะแนนการทดสอบความรู้ในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (ทั้งนี้ หากเป็นการเปิดบัญชีกับผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ DA Fund Manager จะไม่ถูกกำหนดให้ต้องทำแบบทดสอบดังกล่าว เพราะถือว่ามีผู้ลงทุนแทนให้)

  • หากขาดคุณสมบัติก็ยังลงทุนได้

แม้ผู้ลงทุนจะขาดคุณสมบัติการลงทุนในคริปโตตามข้อเสนอข้างต้น เช่น อาจมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือสินทรัพย์สุทธิไม่ถึง 10 ล้านบาท ก็ยังสามารถลงทุนในคริปโตผ่าน “ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งก็คือธุรกิจที่ ก.ล.ต.เพิ่งอนุญาตให้สามารถดำเนินการในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ช่วยนักลงทุนในการดำเนินการหรือจัดการเงินทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนักลงทุนไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเองโดยตรง ทั้งนี้ การเปิดบัญชีกับ DA Fund Manager ต้องมีการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ 1,000 บาทด้วย

  • หากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงจะได้รับยกเว้น

ข้อกำหนดเรื่องคุณสมบัติในเรื่องความรู้และฐานะการเงินจะไม่นำมาปรับใช้ หากนักลงทุนเลือกลงทุนในคริปโตที่มีกลไกการผูกมูลค่าไว้กับ “สินทรัพย์ที่มั่นคงปลอดภัย” อาทิเช่น สกุลเงิน fiat currency พันธบัตรรัฐบาล และ Stable coin เป็นต้น สาเหตุเพราะคริปโตประเภทนี้จะมีการอ้างอิง Underlying Asset และโดยสภาพเป็นการแก้ปัญหาการออกคริปโตโดยขาดปัจจัยพื้นฐาน

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี และจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะส่งผลบวกต่อระบบนิเวศของตลาดคริปโตในเมืองไทย โดยผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องสามารถร่วมเสนอข้อคิดเห็นทางหน้าเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 27 มี.ค.2564

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)