“MTC – SAWAD“ แข่งเดือดเงินสด ขยายพอร์ตจับมือพันธมิตรเร่งรายได้
หุ้นคู่แข่งที่ทำราคาร้อนแรงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาและยังมีโอกาสที่ราคาหุ้นยังไปต่อ ยกให้ธุรกิจสินเชื่อเงินสด ที่มีรายใหญ่ในตลาด
ทั้งบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ล่าสุดราคาขึ้นมาทำนิวไฮต่อเนื่อง
SAWAD ราคาหุ้นขยับก้าวกระโดดจากสิ้นเดือน ก.พ. อยู่ที่ 63 บาท แต่ในช่วงเดือนมี.ค.ราคาทะลุนิวไฮที่ 80 บาท และวานนี้(8 มี.ค.)ราคาหุ้นมาปิดที่ 83.75 บาท เพิ่มขึ้น 8.06% ระหว่างวันทำราคาสูงสุดที่ 89.25 บาท ต่ำสุด 78.50 บาท จนทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงจากสิ้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน 27.37 %
MTC เช่นเดียวกันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงเดียวกันจากสิ้นเดือน ก.พ. อยู่ที่ 62.25 บาท ก่อนที่ราคาหุ้นขึ้นไปทำราคานิวไฮจากราคาปิดวานนี้ (8 มี.ค.) มาปิดที่ 71.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.78 % ด้วยการทำราคาสูงสุดของวันที่ 73.75 บาท จนทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงจากสิ้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน21.18 %
การตัวขึ้นมาของราคารอบนี้กลายเป็นฐานใหม่เพราะมีหลายมุมมองของโบรกเกอร์ต่างปรับราคาเป้าหมายของหุ้นทั้งสองบริษัทนี้กันจำนวนมาก หลังจากที่ประกาศงบปี 2563 พร้อมให้มุมมองธุรกิจออกมา สอดคล้องกับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกพร้อมจะฟื้นตัวการใช้จ่าย ประชาชนกลับมากล้าเป็นหนี้ก่อนเกิดการระบาด
ตลอดปี 2563 เห็นได้ว่าเกิดหนี้จำนวนมาก จากมาตรการหยุดแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ธุรกิจและประชาชนขาดรายได้กระทบการชำระหนี้ตามมา จึงเป็นที่มาทำให้แบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์ต้องออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ชุดใหญ่ก่อนหน้านี้ รวมทั้งกดดันให้นอนแบงก์ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดแบบมีจำนำทะเบียนลงมาด้วย
ธุรกิจสินเชื่อเงินสดได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่แตกต่างกัน จากรายได้ดอกเบี้ยเป็นรายได้หลักหายไปแต่ปรากฎว่าหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวช่วงเดือนก.ย. รายได้ในช่วงไตรมาส 4 กลับเพิ่มขึ้นจนดันให้ปี 2563 ธุรกิจปล่อยสินเชื่อเงินสดแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ
โดย MTC รายงานกำไรรวมอยู่ที่ 5,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.06% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากรายได้ดอกเบี้ยเติบโตอยู่ที่ 13,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53 % บริษัทสามารถรักษาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ใกล้เคียงอยู่ที่ 1.06 % จาก 1.03 % ปีก่อน ท่ามกลางต้นทุนค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยมีการเพิ่มสาขาเป็น 4,884 แห่ง
ด้าน SAWAD รายงานกำไรรวมอยู่ที่ 4,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.01 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากรายได้ดอกเบี้ยเติบโตอยู่ที่ 8,166.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.80 % บริษัทสามารถลดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงอยู่ที่ 3.50% จาก 3.83 % ปีก่อน ท่ามกลางต้นทุนค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยมีการเพิ่มสาขาเป็น 4,750 แห่ง
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ SAWAD คือการมีพันธมิตรใหญ่อย่างธนาคารออมสินเข้ามาหนุนการปล่อยสินเชื่อ การประกาศร่วมลงทุนกับบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE ในบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอส ดับบลิว พี จำกัด (SWP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SAWADถือหุ้น 85 % เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA)
ส่วน MTC มีการเพิ่มทุนบริษัทย่อย “เมืองไทย ลิสซิ่ง” จาก 500 ล้านบาทเป็น 1,000 ล้านบาท มาพร้อมกับการรุกธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่บริษัทพร้อมจะรุกตลาดแม้จะไม่มีพันธมิตรเข้ามาหนุน
โดยมีการมองว่าพอร์ตดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งพอร์ตสินเชื่อให้กับ MTC ในปี 2564 เพราะสามารถใช้ฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่แล้วและเพิ่มกลุ่มลูกค้ามใหม่เข้ามา ซึ่งเบื้องต้นมีการตั้งเป้าตัวเลขสินเชื่อในธุรกิจนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท จะไปพร้อมกับการขยายสาขา 600 แห่ง เพื่อให้ตัวเลขสาขาอยู่ที่ 6700 แห่งปี 2567
อย่างไรก็ตามศักยภาพของทั้งอุตสาหกรรมสินเชื่อเงินสดยังเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แม้จะมีคู่แข่งรายใหม่(เจ้าเก่า) ในต่างหวัดตบเท้าเข้าตลาดหุ้นต่อเนื่อง และสามารถสร้างผลประกอบการได้ดีจนทำให้รายใหญ่ที่อยู่ในตลาดทั้ง MTC- SAWAD ต้องลุกขึ้นมาปรับโครงสร้างและหาช่องทางทิ้งคู่แข่ง