เซ็นทรัลระดมทุน 'ไฟท์โควิด' ต่อยอดวิจัยวัคซีนโดยแพทย์ไทย
นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดลากยาวมาราธอนข้ามปี สิ่งที่เป็น “ความหวัง” ของคนทั้งโลก คือการมี “วัคซีน” มากำราบไวรัสมฤตยูให้สิ้นซาก เพื่อให้ประชากรทุกคนบนโลกใบนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิต ดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ดังเดิมโดยปราศจากความกลัว!
ทว่า การคิดค้น ทดสอบไปจนถึงกระบวนการผลิตวัคซีนโดยทั่วไปใช้ระยะเวลายาวนานเป็นปีๆ ยิ่งกว่านั้นยังใช้เทคโนโลยีและ “เงินทุน” มหาศาลในการวิจัย และพัฒนา ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยดังกล่าวเป็น “อุปสรรค” สำคัญทำให้การสร้างแพลตฟอร์มรองรับการวิจัยวัคซีนในประเทศไทยไม่เป็นรูปธรรมนัก
พลังและงบประมาณจากภาครัฐ เป็นส่วนสำคัญในการทำให้งานวิจัยวัคซีนเกิดขึ้น แต่การมีแรงหนุนจากภาค “เอกชน” ย่อมเป็นเรื่องดี และยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของเมืองไทย จึงออกโรงจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยอีกแรงผ่านโครงการ “ทำด้วยใจ ไฟท์โควิด-19” ภายใต้โครงการเพื่อสังคม “เซ็นทรัล ทำ-ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” ซึ่ง พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เท้าความถึงเจตนารมย์ในการทำโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นร่วมปีนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด กลุ่มเซ็นทรัลได้หารือกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทาง ตลอดจนมาตรการที่จะ “ยับยั้ง” โรคระบาด
การประชุมกับบุคลากรทางการแพทย์เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนที่สุดโปรเจคจึงเกิดขึ้น เพราะประเมินแล้วว่าโรคโควิด-19 จะอยู่กับคนไทยและทั้งโลกอีกเป็นปี
“กลุ่มเซ็นทรัลและบริษัทในเครือตระหนักถึงผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพประชาชนในวงกว้าง ปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคอยู่ ขณะที่หลายหน่วยงานได้ทุมเทอย่างมากเพื่อวิจัยอย่างเร่งด่วนหาทางยับยั้งเชื้อไวรัส ต้องการทุนทรัพย์ในการสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จคามเป้าหมาย กลุ่มเซ็นทรัลจึงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ลุยโปรเจคเพื่อระดมทุนช่วยเรื่องดังกล่าว”
สำหรับ “ทำด้วยใจ ไฟท์โควิด-19” เป็นการเชิญชวนประชาชน ภาคีเครือข่าย รวมถึงคู่ค้าร่วมระดมทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “ยาทำลาย/กระบวนการยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรน่าและวัคซีนป้องกันโรค” โดยฝีมือแพทย์ชาวไทย มอบผ่านแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ โดยมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ตั้งแต่วันนี้ถึงธันวาคม 2564
ทั้งนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ประเดิมมอบเงินทุนก้อนแรก 20 ล้านบาท และตลอดโครงการคาดหวังระดมทุนได้เงินทั้งสิ้นหลัก “ร้อยล้านบาท” โดยเงินทุนที่ได้จะส่งเสริมการวิจัย 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยายาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้านศ.เกียรติคุณ นพ. อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังมีอยู่ในหลายประเทศ แต่เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนคือกำลังมีการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยใหม่ลดลงได้ ส่วนในประเทศไทยแม้จะมีการระบาดรอบ 2 ยอดผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งหลายร้อยรายต่อวัน แต่ปัจจุบันลดเหลือต่ำกว่า 50 คนต่อวัน และคาดหวังให้เหลือตัวเลข 1 หลัก
ทั้งนี้ โจทย์การยังยั้งโรคโควิดปีนี้เปลี่ยนจากปีก่อน ตราบใดที่ไวรัสยังอยู่ย่อมไม่มีใครปลอดภัย ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนสำเร็จโดยเร็ว จากก่อนหน้านี้วิจัยแล้วขึ้นหิ้ง เพราะประเทศไทยปลอดจากผู้ติดเชื้อใหม่นานนับร้อยวัน
“โควิดมาเร็ว ไปเร็ว การดำเนินการทุกอย่างจึงต้องเร็ว รวมถึงการวิจัยวัคซีนด้วย จากปกติใช้เป็นปี”
ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด โดยทั่วไปจะใช้เทคโนโลยี และเงินทุนมหาศาลหลัก “พันล้านบาท” ซึ่งการขาดเงินทุนถือเป็นอุปสรรคใหญ่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสร้างแพลตฟอร์มในการวิจัยวัคซีนได้
ทั้งนี้ การที่เอกชนเข้ามาสนับสนุนงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาวัคซีน จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ไม่เพียงแค่โรงเรียนแพทย์รับเงินทุนวิจัย ในอนาคตหากไวรัสกลายพันธุ์ การมีแพลตฟอร์มวิจัยและพัฒนาวัคซีนเป็นของตัวเองยังต่อยอดการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆได้ด้วย
“หากประเทศไทยสามารถสร้างแพลตฟอร์มวิจัยและพัฒนา ตลอดจนผลิตวัคซีนได้เอง อย่างป้องกันโรคโควิด-19 คาดว่าจะทำให้ต้นทุนวัคซีนถูกลง 50% เมื่อเทียบกับนำเข้าจากต่างประเทศ”
สำหรับผู้สนใจสมทบทุนโครงการ “ทำด้วยใจ ไฟท์โควิด-19” สามารถดำเนินการผ่านช่องทางต่างๆ เช่น บัญชี มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 002-2-84631-9 หรือสแกนคิวอาร์โค้ด E-donation ณ จุดต่าง ๆ ภายในศูนย์การค้า ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล, เว็บไซต์ www.tham-dee.com/projects/help-thai-fight-covid19, กล่องรับบริจาค บริเวณจุดชำระเงินค่าสินค้าหรือจุดประชาสัมพันธ์ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลและwww.centralgroup.com/th/help-thai-fight-covid19 เป็นต้น