‘KBANK’ เปิดเวที ‘THE WISDOM’ เจาะลึกทุกมิติด้านเศรษฐกิจ-การลงทุน
ภายใต้การเผชิญวิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนในระยะข้างหน้า ยิ่งมีความท้าทายมาก “KBANK” จึงเปิดเวที “THE WISDOM” ขึ้น
การจับจังหวะในการลงทุนในระยะข้างหน้า จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัย “ที่ปรึกษา” ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ ความรู้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าได้ ธนาคารกสิกรไทย หรือ "KBANK" จึงได้จัดงาน "THE WISDOM" The Symbol of Your Vision 2021 Economic Outlook Investment Forum แบบ Exclusive สำหรับนักลงทุน THE WISDOM เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุนแบบเจาะลึกมากขึ้น
งานนี้ได้รับเกียรติจาก ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดงาน โดย “ขัตติยา”กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทย จะพึ่งผ่านไปเพียง 2 เดือน แต่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากโควิด-19
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ มีผลซ้ำเติมเศรษฐกิจที่พึ่งฟื้นตัวในปลายปี 2563 หลังโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น
ในด้านธุรกิจก็ได้รับผลกระทบที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้น โดยขยายไปสู่ภาคการผลิต ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ภาคการส่งออกด้วย แม้ไม่มีล็อกดาวน์โควิด-19 เหมือนรอบแรก แต่ผู้ประกอบการร้านค้าในห้างต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบมากกว่าเชิงเปรียบเทียบ ทั้งหมดยังไม่รวมผลกระทบในธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ที่รายรับหายไปนานกว่า 12 เดือนแล้ว
ความซับซ้อนจะไม่หยุดแค่นี้ ช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีคำถามอีกหลายข้อที่รอความชัดเจน โควิด-19 จะควบคุมได้เมื่อไหร่ การฉีดวัคซีนจนถึงขั้นมีภูมิคุ้มกันหมู่ หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสิ่งที่เราต้องจัดการหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร?
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว KBANK เห็นว่ามีการฟื้นตัวจากลูกค้า ที่สามารถคืนเงินกู้ได้ในสัดส่วนที่ดีกว่าที่คาดไว้ ตั้งแต่ปลายปี 2563 มาจนถึงต้นปีนี้ ทั้งที่โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกสอง
“สถานการณ์จะตั้งอยู่บนเงื่อนไขเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง ที่นักลงทุนต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อราคาสินทรัพย์แต่ละประเภทแตกต่างกัน ทำให้การจับจังหวะในการลงทุนมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น”
กลับมาฉายภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยแบบล้วงลึกทุกมิติ กับ "ชญาวดี ชัยอนันต์" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูในด้านเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา หลายประเทศต่างมีการอัดฉีดมาตรการออกมาจนเกินพอ สูงกว่าตอน Crisis ในปี 2551 มาก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่มีการอีดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
ประเทศไทยได้ประโยชน์จากมาตรการของสหรัฐครั้งนี้อย่างไร?
แง่ส่งออกประเทศไทยน่าจะได้รับผลดีสำหรับปีนี้ แต่ปีถัดไป เมื่อ Build Back Better มา สหรัฐจะเน้นมุ่งในเรื่องสร้างเสริมเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ดังนั้นปีหน้าไทยต้องปรับตัว หากจะเติบโตไปกับปัจจัยบวกเหล่านี้
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้มีอะไรที่น่ากังวลและสบายใจได้? ธปท.มองว่า ความกังวลที่มีต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีค่อนข้างมาก แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่มีสิ่งที่ต้องกังวล คือภาคการค้าบริการ ภัตคาร ร้านอาหาร มีกิจกรรมลดลง ทำให้เห็น K Shape Recovery หรือการฟื้นตัวแบบไร้สมดุล ฉะนั้นการระบาดในระลอกสองนี้จะมีทั้งภาคส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ชั่วคราว และสามารถเติบโตต่อไปได้
ด้านการมองภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ เดิมปลายปี ธันวาคมปีก่อน ธปท.ประเมินว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะเติบโตได้ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ตอนแรกคิดว่าอาจจะแย่ลง แต่พอ โจ ไบเดนเข้ามา อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าเติบโตดีกว่าคาด ดังนั้นเป็นไปได้ที่อาจมีการปรับมุมมอง อาจเห็นจีดีพีไทยขยายตัวอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ต้นๆ
แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีล้มต้าน 2-3 เรื่อง ด้านแรกคือ พรก.ฟื้นฟู 1 ล้านล้านบาท ที่จะหมดในกันยายนปีนี้ ความเสี่ยงจากการจัดเก็บรายได้ปี 2565 จะน้อยลงไป รวมถึงต้องติดตามมาตรการพักหนี้ต่างๆ ที่จะครบกำหนดในมิถุนายนนี้ ที่ต้องมาดูว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำต่อหรือไม่ หากทำต่อเนื่องไปได้ ก็อาจพยุงและประคับประคองไปได้
สำหรับภาพการอัดฉีดซอฟท์โลนเข้าสู่ระบบ ที่ผ่านมาอาจทำได้ไม่มาก ดังนั้น ธปท.พยายามเร่งดูอยู่ เพื่อให้มาตรการที่ออกมาทำได้จริงในทางปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีได้
หากดูปัญหาหลักๆของเอสเอ็มอีมี 2เรื่องใหญ่ เงินเก่า และเงินใหม่ ซึ่งในส่วนภาระหนี้เก่า ต้องยอมรับว่าการช่วยเหลือเอสเอ็มอียังทำได้ไม่ดีมากนัก ดังนั้นก็ต้องเร่งช่วยเพิ่มเติม ข้างหน้าอาจมีกลไกการค้ำประกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อดูแลความเสี่ยงที่สูงขึ้นสำหรับมาตรการใหม่นี้ด้วย
อีกด้าน คือ “เงินใหม่” ที่ ธปท.อยากให้การช่วยเหลือกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่คนเดือนร้อน แต่ยังมีความต้องการสภาพคล่องหลังโควิด-19ด้วย เพื่อฟื้นกิจการ ดังนั้นมาตรการครั้งนี้ เน้นช่วยบริษัทขนาดเล็ก ช่วยเอสเอ็มอีมากขึ้นที่ธปท. เร่งดูอยู่
“ซึ่งในระยะถัดไปความท้าทายการทำนโยบาย ไม่ว่าจะธปท. หรือรัฐบาล คือทำอย่างไรให้มาตรการที่ออกมาตรงจุดมากขึ้น ไม่เหวี่ยงแห และตรงเป้า”
เครื่องมือหนึ่ง ที่นำมาใช้ได้ คือ “แอสเซท แวร์เฮ้าส์ซิ่ง” หรือโกดังเก็บหนี้ ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ ตั้งเป็นกองทุน หรือตั้งแวร์เฮ้าส์ซิ่งภายในของแบงก์ได้ เพื่อให้คนที่มีอสังหาฯ มีสินทรัพย์มาฝากไว้ที่กองทุน และกำหนดให้ซื้อคืนได้ 3-5 ปี หากจะใช้ประโยชน์ก็สามารถเช่าไปประกอบธุรกิจได้
สถานการณ์ “หนี้เสีย” ระยะข้างหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะมีหนี้ส่วนหนึ่งพักอยู่ ธปท.ถึงเร่งให้มีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพื่อให้มีความสามารถชำระหนี้ยั่งยืน ไม่เป็นเอ็นพีแอลในระยะถัดไป พอมี cliff effect หรือหน้าผาเอ็นพีแอล เราพยายามจะถ่างให้เป็นเนิน ฉะนั้นหากเอ็นพีแอลจะกระโดดมา ก็อยากให้อยู่ในจุดที่พอรับได้ และบริหารจัดการได้
“หากดูสิ่งที่น่าห่วงวันนี้ พบว่า ภาคการผลิตปรับตัวขึ้น แต่หากดูภาคบริการพบว่าอยู่ขาล่าง แม้จะมีสัดส่วนไม่มาก แต่หาก ‘K’ ฉีกไปเรื่อยๆในที่สุดก็จะลากเอาข้างบนลงมาด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือช้อนล่างให้เป็น V หรือ W ก็ยังดี เพราะเราคิดว่ายิ่งเหลื่อมล้ำมาก ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมอาจจะตามมามากขึ้น และภาคบริการมีการจ้างงานสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หากไม่สามารถช่วยกลุ่มนี้ได้ ปัญหาข้างหน้าก็จะแก้ยากกว่าเดิม”
อีกคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินการลงทุน ที่จะเป็นอีกเสียงที่จะฉายภาพการลงทุนในระยะข้างหน้าให้กับนักลงทุนได้
“ธิติ ตันติกุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ฉายภาพเศรษฐกิจและตลาดเงินปัจจุบันว่า ข่าวดีที่เราเผชิญวันนี้คือ การที่ประเทศต่างๆ เริ่มมีการฉีดวัคซีน โดยสหรัฐฉีดไปแล้ว 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ สหราชอาณาจักร 35 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่า UK จะไปสู่ 70 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่เป็น Herd immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่ข่าวดีนี้ยังไม่ส่งผลดีต่อไทย เพราะเพื่อนบ้านฉีดวัคซีนได้น้อย ดังนั้นข่าวดีของไทยอาจเห็นในปีหน้า
ที่สำคัญมองว่า แม้ต่างประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องเปิดประเทศ เพราะไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ หากปิดประเทศถึง 2 ปี อาจมีความเสียหายหนักมาก
ส่วนสภาพคล่องทั่วโลกของตลาดทุกวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วง หากดูงบดุล (Balance Sheet) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในช่วง ปี2538-2551 งบดุลเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านดอลฯ แต่โควิด-19 ปีเดียวทำให้งบดุลเฟดเพิ่มอีก 3 ล้านดอลฯ ในช่วงแค่ 1 ปี เทียบกับช่วงแรกที่ต้องใช้เวลา 12 ปี
ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แม้รายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกลดลง แต่ราคาหุ้นไม่ลดลง แต่การที่สภาพคล่องเยอะเกินไปก็ต้องระวัง เพราะทำให้คนมองความเสี่ยงที่ลดลง แต่หันไปมองผลตอบแทนที่ได้มากขึ้น
สะท้อนผ่านการลงทุนในบิสคอยน์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นถึง 540 เปอร์เซ็นต์ โดยมาจากนักลงทุนสถาบัน บริษัทมากขึ้น จากเดิมเป็นรายย่อย เพราะเงินไม่มีที่ไป
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย หากดูมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ในอดีต P/E Ratio หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น ของไทยอยู่ที่ 17 เท่า ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 30 เท่า แม้รายได้ตกลง 36 เปอร์เซ็นต์และประเมินว่าปีนี้ P/Eน่าจะอยู่ที่ราว 20-22 เท่า ซึ่งก็ยังสูงกว่าอดีต นักลงทุนยอมซื้อในราคาสูงขึ้นหากเทียบกับอดีต
สินทรัพย์อะไรที่น่าลงทุน?
ช่วงนี้เป็นการลงทุนที่ลำบากมาก เพราะสินทรัพย์ทุกทีแพงหมด ตลาดหุ้นสหรัฐ P/E ปัจจุบันขึ้นมา 26 เท่าก็ไม่ได้ถูก แต่คนยังซื้อ เพราะไม่รู้ลงทุนอะไร ภายใต้ดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในระบบล้น
ระหว่างทองคำและบิสคอยน์ อะไรน่าจะลงกว่ากัน? ทองคำยังมีสถิติ มีตัววัดการขึ้นลงของราคาทองคำ แต่บิสคอยน์วิเคราะห์ไม่ได้ เพราะไม่มีสถิติผลตอบแทน หรือกำไร การขึ้นลงอยู่ที่ดีมานด์และซัพพลายเต็มๆ ดังนั้นหากลงทุนบิสคอยส์มองว่าคงเป็นการลงทุนระยะยาว และต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิด หากราคาลงต้องมีวินัยตัดขาดทุนให้ได้
สถานการณ์เงินเฟ้อจะรุนแรงหรือไม่? เชื่อว่าไม่น่ารุนแรง ประเทศที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงขณะนี้คือสหรัฐ ที่ราว 1.4-1.5 เปอร์เซ็นต์ และเฟดเองก็บอกว่าสามารถไปถึงได้ถึงระดับ 2 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องทำอะไร ดังนั้นหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลคงดีใจเพราะคงอยากเห็นเงินเฟ้อ มากกว่าเงินฝืด!
ด้าน“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในเวที “THE WISDOM” โดยมองว่า
‘วัคซีน’ เป็น game changer จริงๆ จะทำให้เกิดการกลับมาของเศรษฐกิจไม่ว่าจะในประเทศไทย หรือทั่วโลก
เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในระดับสูง ปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39-40 ล้านคน รายได้จากต่างประเทศ 2 ล้านล้าน พอเจอโควิด-19 ทำให้เราได้รับผลกระทบมหาศาล นักท่องเที่ยวเหลือ 6.7 ล้านคนปีก่อน ขณะที่รายได้ลดลงถึง 73 เปอร์เซ็นต์
เบื้องต้น สิ่งที่ททท.ประเมินคือ คาดนักท่องเที่ยวจะกลับมาในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ททท.จะพยายามเร่งผลักดัน คือต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวให้ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ หากต้องการนักท่องเที่ยว 6.5 ล้านคน ดังนั้นเราก็ต้องเปิดให้เข้ามาให้เร็ว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเร็วสุดในช่วงไตรมาส3 คือนักท่องเที่ยวยุโรป
ถามว่า 6.5 ล้านคนเป็นไปได้หรือไม่ปีนี้ มั่นใจว่าได้ แต่ขอให้เริ่มเปิดประเทศได้ในไตรมาส 3 ให้ได้ แต่ถ้า worse case ก็คาดว่านักท่องเที่ยวปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3 ล้านคน แต่ไม่อยากให้มองโลกในแง่ร้ายเกินไป
“วันนี้สิ่งที่พยายามทำคือ ทำ sand box ขึ้นมาก่อน เปิดในบางพื้นที่ เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมา เราต้องการเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาสัก 6.5 ล้านคน รายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท (รวมนักท่องเที่ยวไทย) ขณะเดียวกันเรื่องสำคัญคือต้องเน้นคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่โฟกัสจำนวน เราอยากให้เข้ามาแล้วเกิดการใช้จ่ายลักษณะที่เป็น inclusive ด้วย”
หากถามว่าใช้เวลาแค่ไหนที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนก่อนโควิด? ปี 2565 ตั้งเป้าไว้ว่าจะกลับมาประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของระดับรายได้ของปี 2562 และอาจเห็นการกลับไปใกล้ปี 2562 ได้ราว ปี 2566-2567
ด้านภาพตลาดอาเซียน “ปิติ ศรีแสงนาม”ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากมองในมุมภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจมันน่าจะมีประเด็นที่คนที่ทำการค้า การลงทุนในประเทศไทย ในช่วง 3ปี นับจากนี้ ที่น่ากังวล 4+1 ประเด็น
ประเด็นแรก เรื่องของ Global value chain ที่เปลี่ยนไป
ประเด็นที่สอง การเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจ สหรัฐเปลี่ยนผู้นำ จีนมีผู้นำใหม่ และยังมีมหาอำนาจอื่นๆรวมถึงสถานการณ์การเมืองของเมียนมา
ประเด็นที่สาม คือ disruptive technology e-platform ที่เปลี่ยนชีวิตการเป็นอยู่ไปมากมาก
สุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม
อีกด้านเรื่องการเงิน นวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ที่ส่งผล value chain ทั้งโลกการเงินเปลี่ยนไป รวมไปถึง สงครามการค้าระหว่างจีน สหรัฐ ที่ยังไม่ได้หยุดลง
ทั้งนี้หากดู global value chain ปี 2558-2562 อยู่ที่ราว 18 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ปีก่อนตกฮวบ ดังนั้นการกลับไปยืนจุดเดิมได้อาจต้องรอปี 2566 ที่จะเริ่มเห็นกลับไปสู่จุดเดิมได้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีศักยภาพของไทยมีโอกาสเห็นหรือไม่? Capability ของไทย ศักยภาพของเรามี แต่จะใช้หรือไม่นั้นก็อีกเรื่อง ปัญหาตอนนี้ คือบางภาคส่วนทำงานหนักเต็มที่ อย่างภาคไฟแนนซ์ แบงก์กิ้ง โรงแรม คนที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวทำงานกันอย่างหนัก
หากดูเพื่อนบ้านไทย อย่างเวียดนาม สิงค์โปร์มีการปรับวิสัยทัศน์ หลังโควิด-19 อย่างสิงค์โปร์ ก็จะมีการเปลี่ยนรูปโฉมอุตสาหกรรม จะก้าวไปสู่ automation logistic มีการพูดถึง global supply chain ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19
ขณะที่ประเทศไทย มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล่าสุดสภาพัฒน์ มีการปรับยุทธศาสตร์ชาติ ให้เข้ากับบริบทปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เรามีแผนดี มียุทธศาสตร์ดีที่อัพเดทแล้ว ซึ่งควรทำให้เกิดขึ้นได้ เชื่อมต่อทุกภาคส่วนให้ได้
“เวลาเราพูดเรื่องการต่างประเทศ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ แต่มันเป็นหน้าที่ของทุกกระทรวง ประชาชน เอกชน ฉะนั้นการต่างประเทศมันใกล้ตัวเรามากๆ แล้วทุกคนเองก็สามารถที่จะเป็น local diplomacy ในการที่จะต้อนรับชาวต่างชาติได้”