คิกออฟสมัครนายก อบจ.วันแรกราบรื่น เลขา กกต.สั่งจับตาบางพื้นที่ป้องรุนแรง
คิกออฟวันแรก! สมัครนายก อบจ.-ส.อบจ.ทั่วประเทศ เลขา กกต.เผยภาพรวมยังเรียบร้อยดี เตือนผู้สมัครตรวจคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามให้ครบถ้วน ขอความร่วมมือบริษัทเอกชน-โรงงานให้โอกาสลูกจ้างมาใช้สิทธิ 1 ก.พ. 68 เผยประสานฝ่ายมั่นคง-ตร.คุมเข้มป้องเกิดเหตุรุนแรง
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงถึงภาพรวมการรับสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ (ส.อบจ.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นถือเป็นรากฐานของการพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ถ้าท้องถิ่นดีระดับชาติก็จะดีไปด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทำให้ผู้แทนหรือตัวนายก อบจ. ได้ทราบปัญหา และเข้าถึงได้ง่าย
นายแสวง กล่าวว่า จากนี้ไปก็จะเป็นการเลือกนายก อบจ.และ ส.อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ.2568 โดย อบจ.มีอยู่ 5 ขนาด คือ จังหวัดที่มี 24 เขตเลือกตั้ง มีจำนวน 23 จังหวัด จังหวัดที่มี 30 เขตเลือกตั้ง มีจำนวน 33 จังหวัด จังหวัดที่มี 36 เขตเลือกตั้ง มีจำนวน 12 จังหวัด จังหวัดที่มี 42 เขตเลือกตั้ง มีจำนวน 7 จังหวัด และจังหวัดที่มี 48 เขตเลือกตั้ง มีจำนวนจังหวัดเดียวคือนครราชสีมา
เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในส่วนของการรับสมัครวันนี้เป็นวันแรก ได้รับรายงานทั้ง 76 จังหวัด จะมีเลือกตั้งทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. จำนวน 47 จังหวัด 29 จังหวัดได้เลือกเฉพาะนายก อบจ.ไปแล้ว ขอสื่อไปถึงผู้สมัคร และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ในส่วนของผู้สมัครเข้าใจว่าจะมาสมัครในวันแรก อยากให้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองให้ดี และดูคุณสมบัติต้องห้าม และเมื่อสมัครแล้ว ผอ.กกต.ประจำจังหวัดนั้น ๆ ไม่ได้ประกาศเป็นผู้สมัคร ก็สามารถใช้สิทธิไปร้องที่ศาลอุทธรณ์ ส่วนประชาชนอย่างที่บอกว่าการเลือกตั้งทุกเรื่องเป็นเรื่องของประชาชนให้ติดตามการหาเสียงของผู้สมัครเอง และตรวจสอบดูสิทธิของตัวเองว่ามือชื่อตกหล่นในทะเบียนบ้านหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถช่วยสอดส่องให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตได้ โดยทางสำนักงานกกต. มีประกาศเกี่ยวกับการให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแสการกระทำอันไม่เป็นสุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง โดยมีเงินรางวัลตั้งแต่ 1 แสนบาท จนไม่เกิน 1 ล้านบาท
นายแสวง กล่าวอีกว่า สำหรับหน่วยงานเข้าใจว่าวันเลือกตั้งตรงกับวันเสาร์ อาจจะมีบางส่วนที่ยังทำงาน ทางสำนักงานฯ จึงขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ทั้งส่วนราชการ และโรงงาน ให้อำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิมาเลือกตั้ง ส่วนการหาเสียง
"คิดว่าจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทั้ง 29 จังหวัด และเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง เราได้เดินผ่านมาอีกจุดหนึ่งของการหาเสียง สิ่งที่สังเกตได้จากการเลือกตั้งที่พิษณุโลก อุดรธานี และอุบลราชธานี เราเห็นสิ่งที่ดีงามในทางการเมือง มีการแสดงความยินดีกับผู้ชนะ และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ก่อนไม่ค่อยมี ทั้งที่เราหวังให้เห็นสิ่งแบบนี้ ซึ่งเข้าใจดีว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติที่มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ แต่นอกจากผลการแข่งขันว่าใครชนะ เราก็อยากเห็นผู้แพ้และผู้ชนะที่ดี โดยฝากถึงผู้ที่จะไปสมัคร หรือผู้ที่จะไปให้กำลังใจผู้สมัครสามารถทำได้ แต่ตอนกลับเมื่อได้หมายเลขแล้วอย่าไปแห่กระทำในลักษณะรื่นเริงอย่างตีกลอง เพราะจะเป็นการรื่นเริง ซึ่งศาลอุทธรณ์เคยมีคำพิพากษามาแล้ว" นายแสวง กล่าว
เมื่อถามถึงพื้นที่ปราจีนบุรี และพื้นที่อื่น ๆ ที่เคยมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นนั้นจะมีการกำชับอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า คิดว่าด้วยบรรยากาศที่ผ่านมา ต้องดูว่าเหตุรุนแรงมาจากอะไร แต่เรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพูด จากเมื่อก่อนเป็นการร้องเรียนเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง การใช้อำนาจที่ไม่ชอบ การใช้กลไกเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วย โดยตั้งแต่ปี 2566 ตนไม่เห็นคำร้องลักษณะอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ดี ส่วนมากเป็นคำร้องการใช้เสรีภาพ หากใช้เกินก็ผิดกฎหมาย เข้าข่ายหลอกลวง หรือใส่ร้าย จากนี้จะเริ่มมีการหาเสียงนั้นจะมี 2 อย่าง คือความเข้มข้นของการหาเสียง เช่น กรณีมีบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเอง เราไม่ได้เรียกว่าเป็นการแข่งขันรุนแรง แต่เป็นการแข่งขันเข้มข้น เป็นเรื่องที่ดีใจการจูงใจให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
เลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความรุนแรงในความหมายของ กกต.คือการกระทำที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตำรวจต้องดูแลความสงบเรียบร้อย ก็มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากจะมีความรุนแรงก็คงจับตาเป็นบางพื้นที่ และมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสถานการณ์ให้มีความสงบเรียบร้อย มีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนสบายใจที่จะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตนไม่กังวลอะไรเพราะไม่คิดว่าคนที่อาสาไปรับใช้ประชาชนแล้วจะทำเรื่องไม่ดีอย่างนั้น
"พอเป็นคนการเมือง และอยู่ในช่วงใกล้จะมีการเลือกตั้งพอดี กกต.ก็ใส่ใจ โดยในสัปดาห์หน้า กกต.และผม ก็จะลงพื้นที่นำผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์ ไม่ได้รู้สึกกังวล คิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีกจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ว่าในจังหวัดใดก็ตาม ทั้งนี้ในมุมของความไม่สงบเรียบร้อย เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เรียกว่าเหตุความรุนแรง ไม่ได้เกิดในระหว่างของการเลือกตั้ง เมื่อเกิดเหตุ กกต. เป็นเรื่องขอความไม่สงบเรียบร้อย ตามกฎหมายบ้านเมืองจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล เมื่อมีการเลือกตั้ง กกต.ต้องเข้าไปดูแลในเรื่องของการหาเสียง ขณะที่ความสงบเรียบร้อยก็เป็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าบรรยากาศไม่ได้เป็นเช่นนั้น คล้ายเป็นอุบัติเหตุเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน กกต.ก็ไม่ทราบ" เลขาธิการ กกต.กล่าว
เมื่อถามว่า ได้รับรายงานการข่าวหรือไม่ว่ามีพื้นที่ใดเสี่ยงเกิดวามรุนแรง นายแสวง กล่าวว่า จากการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่คนจะไปสมัครนั้นเราจะทราบพอสมควรว่าใครจะไปสมัครบ้าง เพราะมีการปรึกษาหารือ สอบถามเรื่องคุณสมบัติต่าง ๆ ภาพรวมดูแล้วก็ยังสงบดี บางส่วนฝ่ายการเมืองอาจจะตกลงกันได้ในบางเรื่อง แต่หากเลยจากนั้นก็เป็นหน้าที่ฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองที่ต้องดูแล อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ยังไม่มีลักษณะตามที่สอบถามมา
ส่วนการจับตาการหาเสียง นายแสวง กล่าวว่า กรณีเป็นคนของพรรคการเมืองไปช่วยหาเสียงนั้น ไม่กังวล เพราะจะถูกจับตามองจากฝ่ายตรงข้ามอยู่แล้ว อีกทั้งเขาก็ต้องดูแลตัวเองด้วย ดังนั้นไม่กังวลว่าพรรคการเมืองหรือผู้สมัครจะไปทำอะไรเกินเลย แต่บางครั้งคนที่อยากชนะจึงทำเกินเลยไปกว่ากฎหมาย ในส่วนนี้สำนักงาน กกต.ต้องดูแลการหาเสียง การแข่งขันที่จะต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับพื้นที่แข่งขันที่ต้องจับตานั้น ส่วนใหญ่เป็นการเลือกนายก อบจ. แต่เนื่องจากมีการเลือกไปแล้ว ดังนั้นต้องดูหลังการสมัครอีกครั้งว่ามีใครลงสมัครบ้าง แต่ก็ย้ำว่าไม่กังวลพื้นที่ที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงแข่งขัน เพราะพรรคก็ต้องรับผิดชอบด้วย เรามีมาตรการดูแลหลายชั้น คิดว่าควรร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ดีทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยทุกวันนี้ก็ดีขึ้นจริง ๆ จากที่เห็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีหลังจบการแข่งขันถือเป็นรอยต่อที่ทำให้เราเดินไปข้างหน้าที่ดีได้
เมื่อถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นจากนี้ มองว่าการเมืองกับผู้มีอิทธิพลอยู่ด้วยกัน หรือสามารถแยกออกจากกันได้ นายแสวงกล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้สุจริต และให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มาก ๆ ใครใหญ่แค่ไหนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากกฎหมายเลือกตั้ง ก็เป็นหน้าที่ กกต. หากกฎหมายบ้านเมืองก็เป็นของหน่วยงานอื่น
ซักอีกว่า กังวลหรือไม่เหตุการณ์รุนแรงจะส่งผลให้ประชาชนไม่อยากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง นายแสวง กล่าวว่า กกต.ต้องทำความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น คิดว่ามองอีกมุมหนึ่ง อาจจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นก็ได้ แต่ กกต.ต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนในระหว่างการหาเสียงและการออกมาใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง เชื่อว่าในจังหวัดที่มีคนจับมามองเป็นพิเศษ คนคิดจะทำอะไรจะทำให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น