Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 23 December 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 23 December 2024

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังกิจกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบในช่วงเทศกาลซบเซา ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนอ่อนแอและท่าทีเฟดที่ชะลอปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า ท่ามกลางความตึงเครียดมากขึ้นของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-78ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 23 December 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 - 27 ธ.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวหลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดก่อนหน้า ขณะที่เฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปี 68 หลังคาดการณ์นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นกดดันผู้ผลิตกลุ่มโอเปคพลัสให้ไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ตามที่คาดการณ์ก่อนหน้า ขณะเดียวกันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสมีแนวโน้มคลี่คลายลงหลังการเจรจาเรื่องข้อยุติหยุดยิงมีความคืบหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซีย-ยูเครนหลังมีการลอบสังหารนายพลโท อิกอร์ คิริลลอฟ นายทหารระดับสูงของรัสเซีย ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าสถานการรณ์ความขัดแย้งอาจมีทิศทางรุนแรงมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

•  ตลาดคาดว่าราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันต่อเนื่องในระยะสั้นจากเศรษฐกิจจีนที่ไม่ฟื้นตัว ล่าสุดตัวเลขยอดค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดผู้บริโภคของจีนเดือน พ.ย. 67 ปรับลดตัวลดลงแตะระดับ 3.0% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 4.6% ส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับแรงกดดันในการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แม้ว่าจีนมีแผนจะปรับแผนนโยบายการคลังเป็นลักษณะเชิงรุกมากขึ้นและเพิ่มการขาดดุลงบประมาณขึ้นเป็น 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าจีนจะประกาศเป้าหมายเหล่านี้อย่างเป็นทางการในการประชุมประจำของรัฐสภาจีนในเดือน มี.ค. 68 

•  ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าหลังมีการเปิดเผยตัวเลข FED Dot Plot ที่บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลอดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปีหน้า ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย. 67 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% รวมถึงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจเร่งตัวสูงขึ้นจากนโยบายด้านการค้าและเพิ่มภาษีนำเข้าต่างประเทศของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แม้ว่าล่าสุดเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. ที่ผ่านมา 

•  กลุ่มโอเปคพลัสยังคงกังวลต่อตัวเลขการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ที่เน้นการเพิ่มการผลิตน้ำมันและผ่อนคลายนโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อแผนการทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตของโอเปคพลัสในเดือน เม.ย. 68 เพราะอุปทานน้ำมันดิบที่สูงเกินอุปสงค์น้ำมันโลกจะกดดันราคาน้ำมันดิบ และส่งผลกระทบต่อโอเปคพลัสซึ่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก

•  ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและฮามาสมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น หลังสหรัฐฯ เผยการเจรจาหารือเรื่องข้อตกลงยุติหยุดยิงในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและฮามาสมีความคืบหน้ามากขึ้นภายใต้การไกล่เกลี่ยของกาตาร์และอียิปต์ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและแลกเปลี่ยนตัวนักโทษหากอิสราเอลไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใหม่ ส่งผลความกังวลเรื่องผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางปรับลดลงเช่นกัน
 

•  ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงตึงเครียดต่อเนื่องหลังนายพลโท อิกอร์ คิริลลอฟ นายทหารระดับสูงของรัสเซียถูกลอบสังหารในกรุงมอสโกในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่าสำนักงานความมั่นคงของยูเครน (SBU) อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการในครั้งนี้ พร้อมระบุว่าพลโท อิกอร์ คิริลลอฟ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเคมีโจมตีกองทัพยูเครน แม้ว่ารัสเซียจะมีการออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ตาม ส่งผลให้ตลาดคาดว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้น รวมไปถึงการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในประเทศอีกด้วย

•  ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 67 ดุลการค้าเดือน พ.ย. 67 และรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี เดือน ธ.ค. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ กำไรภาคอุตสาหกรรมของจีน เดือน พ.ย. 67 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 ธ.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 69.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.55 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 72.94 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 72.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจีนเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกจีนเดือน พ.ย. 67 หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดก่อนหน้า รวมถึงตลาดยังมีความกังวลต่อผลกระทบการขึ้นภาษีการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค. 68 ขณะเดียวกันดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 67 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.3 ในเดือนก่อนหน้าซึ่งต่ำกว่า 50 แสดงถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตและนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากการที่สหรัฐฯ เห็นชอบต่อมาตรการคว่ำบาตรด้านน้ำมันต่อรัสเซียเพิ่มเติมเพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลงและใช้เป็นข้อต่อรองสำหรับยุติสงคราม ด้านสำนักสถิติแห่งชาติของจีนเผยตัวเลขการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นของโรงกลั่นในจีนเดือน พ.ย. 67 เพิ่มขึ้น 1.5% เทียบเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 14.3 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังโรงกลั่นกลับมาดำเนินการมากขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลซ่อมบำรุง ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 12.2% เทียบเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 11.86 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 13 ธ.ค. 67 ปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 421.0 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.1 ล้านบาร์เรล