อุตฯชู 'อัตลักษณ์' ท้องถิ่นดันเศรษฐกิจฐานราก
กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึก กระทรวงยุติธรรม กองทุนหมู่บ้านฯ ลุยเมืองเก่าฯ สุโขทัย เดินหน้าถอดอัตลักษณ์ท้องถิ่น ตั้งเป้ากระตุ้นรายได้ชุมชนกว่า 10 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1,800 ล้านบาท
กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือ กระทรวงยุติธรรรม และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เร่งถอดรหัสอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมผ่านองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสมศักดิ์ เทพสุทิน ระบุ กระทรวงยุติธรรมได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกระบวนการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าของฝากให้เป็นสินค้าที่สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เลือกซื้อหาเมื่อเดินทางมาถึง มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในพื้นที่ เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่านกระบวนการถอดรหัสเอกลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการออกแบบของที่ระลึกเชิงพาณิชย์ โดยมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเข้าร่วมจำนวน 20 กลุ่ม ร่วมพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้พร้อมรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท และจะสามารถต่อยอดโมเดลการดึงอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อถ่ายทอดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต ซึ่งหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาในพื้นที่ ประมาณ 600,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การพักแรม การรับประทานอาหาร การซื้อของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว โดยจะมีมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 1,800 ล้านบาท
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ. ณัฐพล รังสิตพล ระบุว่า กรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรม พร้อมจัดกิจกรรมถอดรหัส อัตลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการออกแบบเชิงพาณิชย์ ประกอบกับจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นเมืองมรดกโลก มีต้นทุนทางวัฒนธรรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า และเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก
โดยในระยะนำร่องได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การจับจุดเด่นเป็นจุดขาย ผ่านกระบวนการถ่ายทอดอัตลักษณ์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำ เพื่อให้เป็นตัวแทน หรือ มาสคอต ในการสื่อสาร และการจับจุดใหม่โดยใช้จุดเดิม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนในการผลิต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถอดรหัสอัตลักษณ์ จะถูกถ่ายทอดทักษะในกระบวนการผลิตไปยังผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพโดย มีโอกาสสร้างรายได้และสามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริต เมื่อพ้นโทษสู่โลกภายนอก ถือเป็น 'ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส' ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในไทยได้อีกทางหนึ่ง
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจบิซอินไซต์ รายงาน