'BGRIM' เดินเครื่องกำลังผลิตใหม่ปีนี้เพิ่มมากกว่า 1 พันเมกะวัตต์
"BGRIM" วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ปีนี้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ลุยงานซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ โดยครึ่งปีหลังจ่อลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในเวียดนาม - ลำเดินหน้าเลียงแก๊สLNG ล่าสุดปัจจุบันลูกค้าต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 10-15% หลังโควิดใกล้คลี่คลาย
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับแผนกลยุทธ์ของบริษัทในปีนี้ วางเป้าหมายขยายกำลังการผลิตมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ จากปี 2563 อยู่ที่ 3,700 เมกะวัตต์ และโดยยังคงแผนพัฒนาระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5,000 เมกะวัตต์ในปี 2565 และ7,200 เมกะวัตต์ในปี 2568 รวมถึงรักษาระดับการเติบโตอิบิทด้าที่ 30% ต่อปี
สำหรับการขยายกำลังการผลิตในปีนี้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสรุปความเป็นไปได้ภายในครึ่งแรกปีนี้และมีบางส่วนที่ต่อเนื่องในครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งจะมาจากทั้งการได้มาของสัญญาสัมปทาน การควบรวมกิจการทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาการซื้อกิจการในประเทศที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (SPP) กำลังการผลิต 300-360 เมกะวัตต์
ส่วนในต่างประเทศ เน้นการขายการลงทุนภูมิภาคนี้ อีกจำนวน 200-250 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้โดยปัจจุบันกำลังเจรจากับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในประเทศมาเลเซียกำลังเจรจาในขั้นตอนสุด้ทาย รวมถึงยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเกาหลีใต้และประเทศเวียดนามอีกด้วย
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ที่ประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นประมาณ 2-3 โครงการ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมเข้าบรรจุในแผนการพัฒนา พร้อมคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะมีความชัดเจนของโครงการดังกล่าว ทั้งเรื่องของการเจรจาและสิทธิที่จะได้ หลังจากได้มีการบรรจุในแผนเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการพัฒนาโครงการใหม่ในไทยในปีนี้ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง-SPP replacement จำนวน 5 โครงการคาดเปิดขายเชิงพาณิชย์ (COD ) ได้ภายในครึ่งแรกปีนี้ ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดมุกดาหารกำลังก่อสร้าง คาด CODในครึ่งแรก
นายฮาราลด์ กล่าวต่อว่า ทางด้านความคืบหน้า 3 โครงการความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ “โครงการโซลาร์กองทัพบก” ยังขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งจะเกิดหรือไม่ต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาล อาจใช้เวลาระยะหนึ่ง มองว่า หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะยังมีความต้องการใช้โซลาร์เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ขณะที่ทหารบก มีที่ดินมาก สามารถทำโซลาร์และสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นได้ ในฝั่งของบีกริม ได้มีประสบการณ์การทำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้ว ที่เวียดนาม
ขณะที่ความคืบหน้า “โครงการอู่ตะเภา” เป็นโครงการแรกของการนำร่องการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด ทั้งการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ในรูปแบบโคเจนเนอร์เรชั่นเพาเวอร์เพลนท์ กำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น EES 50 เมกะวัตต์ และSolar PV 15 เมกะวัตต์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินพัฒนาในเฟสแรก ที่เป็นโซลาร์ฟาร์ม 15 เมกะวัตต์ คาดว่า โครงการดังกล่าวจะพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ เริ่มใช้โซลาร์ฟาร์มในปี 2565 และปี 2566เริ่มโคเจนเนอร์เรชั่นเพาเวอร์เพลนท์ใช้ในพื้นที่ทหารเรือและสนามบินอู่ตะเภาต่อไป
นอกจากนี้ การจัดหาและการลำเลียงแก๊ส LNG ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนที่รัฐบาลสรุปเงื่อนไขและระเบียบ คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนมี.คนี้ หลังจากนั้นเราจะคัดเลือกและนำเข้าแก๊ส โดยคาดว่า ครึ่งหลังของปีนี้จะสามารจัดหาและลำเลี้ยงแก๊สเข้าโรงไฟฟ้าได้
ขณะเดียวกันบริษัท มีแผนออกหุ้นกู้ราว 5-7 ล้านบาทในปีนี้ มาใช้รองรับการเติบโตดังกล่าว โดยรักษาระดับหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 2 เท่า ขณะที่ปัจจุบันอายุสัญญาโครงการเฉลี่ยอยู่ที่ 8.6-15 ปี เป็นอายุสัญญาระยะยาวทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยปิดความเสี่ยงค่าแก๊สและเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน มั่นใจได้ว่าจะ มีกระแสเงินสดมาได้สม่ำเสมอและมั่นคง ทางด้านต้นทุนก๊าซฯ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าจะลดลงราว 6-8% ในปีน้ี
ส่วนทางด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีความต้องการไฟฟ้าส่วนของลูกค้านิคมอุตสาหกรรมกลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว พบว่า ในช่วง 2 เดือนมานี้ ลูกค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น 10-15% ทั้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิดและลูกค้าใหม่ ดังนั้นปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเซ็นสัญญาแล้ว 40 - 60เมกะวัตต์ และกำลังเจรจาอยู่อีก 10 กว่าเมกะวัตต์