'การบินไทย' กาง 5 ยุทธศาสตร์ ดันรายได้ขนส่งสินค้า มี.ค.นี้ ลุยเอเชีย-ยุโรป
“การบินไทย” เปิด 5 ยุทธศาสตร์ ดันรายได้ฝ่ายพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ เล็งเพิ่มช่องทางเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ขนส่งสินค้าผลไม้ตามฤดูกาล เก็บบริการคลังสินค้า โชว์ผลงาน ม.ค. กวาดรายได้หนุนองค์กร 700 ล้านบาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเดินหน้าฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันการบินไทยดำเนินมาตรการสำเร็จแล้ว เช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน การลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดขนาดองค์กร ปรับลดแบบเครื่องยนต์อากาศยาน ส่งผลให้การบินไทยสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากถึง 30-50% และมั่นใจว่าในปี 25567 จะเริ่มทำกำไร
“แผนเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายที่เราจะทำทั้งหมดนี้ จะทำให้เรามีเงินเข้ามาภายในเดือน ก.ค.นี้ 3.6 หมื่นล้านบาท เพียงพอต่อการขับเคลื่อนองค์กรหลังจากที่แผนฟื้นฟูผ่านการเห็นชอบ ซึ่งเราคาดว่าเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนเราในช่วงเดือน มิ.ย.–ก.ค.นี้ หลังจากนั้นเราจะทำแผนลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง และทำให้เรามีเงินเพียงพอในปี 2565 ถึง 5.8 หมื่นล้านบาท” นายชาญศิลป์ กล่าว
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งหน่วยธุรกิจสำคัญที่ทำให้การบินไทยเพิ่มรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่สามารถหารายได้จากการบินพาณิชย์ได้ คือ ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่หารายได้ในเดือน ม.ค.2564 ได้ถึง 700 ล้านบาท เป็นรายได้จากบริการขนส่งสินค้า ประมาณ 500 ล้านบาท และบริการยกสินค้าอีกราว 200 บ้านบาท โดยมีแนวโน้มรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข่าวจากการบินไทย เผยว่า ฝ่ายพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ เป็นหน่วยธุรกิจที่สามารถหารายได้เข้าองค์กรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะแม้ว่าการบินไทยจะไม่สามารถขนส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจการบิน แต่สามารถสร้างรายได้จากบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ที่การบินไทยก็มีศักยภาพ
โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2564 สามารถสร้างรายได้สูงถึง 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยที่สูงหากเทียบกับรายได้ในปี 2563 ที่มีราว 9.2 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าหน่วยธุรกิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ มีแนวโน้มจะสามารถรายได้ในปีนี้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2563
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันรายได้ ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ได้กลยุทธ์ในปี 2564 – 2568 แบ่งเป็น 5 กลยุทธ์ ประกอบไปด้วย
1.เพิ่มบริการขายพื้นที่ระวางบนเที่ยวบินขนส่งสินค้า ซึ่งสามารถเพิ่มได้ผ่านเที่ยวบินปกติที่การบินไทยทำการบิน เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และขายพื้นที่ระวางโดยร่วมกับสายการบินพันธมิตร
2.เพิ่มการให้บริการเช่าเครื่องบินแบบใช้อากาศยานและบุคลากรของการบินไทย ในการขนส่งสินค้าที่ลูกค้าต้องการ
3.การให้บริการขนส่งแบบครบวงจร หรือ Multimodal Transport เชื่อมต่อบริการขนส่งผ่านอากาศยาน รถบรรทุก และบริการใหม่ที่การบินไทยอยู่ระหว่างศึกษา คือ Door to Door ขนส่งถึงมือผู้รับตอบสนองการซื้อสินค้าแบบอีคอมเมิร์ซ
4.กระตุ้นการขาย โปรดักซ์ของฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ อาทิ TGC หรือ TG Cool & Carry เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการขนส่งสินค้าที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิอย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอตลอดเส้นทางการขนส่ง เพื่อรักษาคุณภาพและความสดใหม่
5.เพิ่มรายได้จากการเก็บค่าบริการคลังสินค้า (Terminal Charge)
แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แผนเพิ่มรายได้ในปีนี้ การบินไทยยังมองโอกาสในการขนส่งสินค้าเกษตรในช่วงฤดูกาล เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการในต่างประเทศสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา การบินไทยได้ขนส่งผลไม้ตามฤดูกาลในเส้นทางกรุงเทพฯ - อินชอน (เกาหลีใต้) และกรุงเทพฯ - นาริตะ (ญี่ปุ่น)
สำหรับเที่ยวบินที่ฝ่ายพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์มีโอกาสในการเพิ่มรายได้ขนส่งสินค้าในเดือน มี.ค.นี้ แน่นอนว่าจะเป็นเที่ยวบินพิเศษที่การบินไทยเตรียมทำการบินทั้งเอเชีย และยุโรป อาทิ เส้นทางเอเชียกรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) กรุงเทพฯ-โอซากา กรุงเทพฯ-โซล กรุงเทพฯ-ไทเป กรุงเทพฯ-ฮ่องกง เส้นทางยุโรป กรุงเทพฯ- ลอนดอน กรุงเทพฯ-ปารีส กรุงเทพฯ- แฟรงก์เฟิร์ต กรุงเทพฯ-สตอกโฮล์ม และกรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน