‘SCB’ จับมือ พพ. หนุน SME Go Green
ไทยพาณิชย์ ผนึกพันธมิตร กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประกาศความร่วมมือสนับสนุน เอสเอ็มอีไทยเปลี่ยนผ่านกระบวนการผลิตสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เตรียมอัดฉีดวงเงิน 8,000 ล้านบาทในปี 2564 หนุนเอสเอ็มอีเข้าสู่ความยั่งยืน-สิ่งแวดล้อม
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ. ได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ
โดยเฉพาะการจูงใจด้วยการส่งเสริมผ่านมาตรการด้านการเงินทั้งในรูปแบบของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงิน ภายใต้โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน การให้เงินสนับสนุนการลงทุนบางส่วนผ่านโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการให้เงินอุดหนุนผลประหยัดพลังงานแบบให้เปล่าผ่านโครงการส่งเสริมการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยการอุดหนุนผลประหยัดทั้งด้านไฟฟ้าและความร้อน ทั้งนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในบางส่วน
โดยในวันนี้ พพ. ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเพื่อเสริมศักยภาพในการประกอบธุรกิจ
โดยการให้ข้อมูลในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริหารความเสี่ยงการลงทุน การผลักดันแนวทางหรือมาตรการให้การสนับสนุน ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนภายใต้โครงการความร่วมมือและทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อน
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และผู้บริโภคสีเขียว (Green Consumer) เกิดขึ้นควบคู่กันอย่างเข้มข้นขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนและก้าวให้ทันเทรนด์ที่เกิดขึ้นเพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันมีข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่าการปรับกระบวนการผลิตสู่แนวทางอนุรักษ์พลังงานสามารถช่วยลดต้นทุนได้ 20 – 30% และยังช่วยให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย นับเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ช่วยสมดุลให้กับธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวไปพร้อมกัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้ผนึกความร่วมมือกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผสานศักยภาพของแต่ละฝ่ายร่วมกันผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพัฒนากระบวนการผลิตไปสู่แนวทางการรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกประเภทธุรกิจ ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยทั้งระบบเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และ พพ. ครอบคลุมพันธกิจด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านองค์ความรู้การอนุรักษ์พลังงาน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ผ่านการจัดกิจกรรมสัมมนา จัดอบรมเชิงปฏิบัติ
รวมทั้งช่องทางอื่นๆ ที่เครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากทั้งสององค์กรสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะมีการแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบต่างๆระหว่างกัน ด้านสิทธิประโยชน์และความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการ ผ่านมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต
ตลอดจนมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ด้านการเงิน ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ (Sustainable Financing) และโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Efficiency Improvement) จากธนาคารไทยพาณิชย์
โดยให้วงเงินสูงถึง100% ของมูลค่าโครงการ ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 7 ปีด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไปโดยธนาคารได้เตรียมวงเงินรองรับความต้องการสินเชื่ออนุรักษ์พลังงานจำนวน 8,000 ล้านบาทในปี2564 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ได้อนุมัติสินเชื่อในโครงการนี้ไปแล้วจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท
และด้านเครือข่ายธุรกิจ เปิดโอกาสให้เครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากทั้งสององค์กรได้มีเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching)ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์การเป็นคู่ค้าในการลงทุนระบบพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังาน และเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายการค้าและช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน