สสช. เผยตัวเลขเสมือนว่างงาน ยังทะลุ 2 ล้านคน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยข้อมูลตัวเลขเสมือนว่างงาน หรือ ทำงานต่ำกว่าวันละ 4 ชั่วโมง ยังมากกว่า 2 ล้านคน สะท้อนเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากโควิด-19 ยันผลสำรวจการว่างงานของคนไทยออกมาต่ำ ขณะที่ไตรมาสสองของปี 2563 สูงสุดถึง 5.41 ล้านคน
นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) เปิดเผยว่า ในการสำรวจของ สสช.ได้พบว่า ผลจากการระบาดของโควิด-19 พบตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน สูงขึ้นอย่างมาก โดยในไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่มีผู้ว่างงาน 395,000 คน หรือ 1% ต่อจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ขณะเดียวกันมีผู้เสมือนการว่างงาน 4.25 ล้านคน 4.25 ล้านคน ต่อมาในไตรมาส 2 ที่พบผู้ว่างงานสูงขึ้นไปเป็น 745,000 คน หรือ 2% ก็พบผู้เสมือนว่างงานถึง 5.41 ล้านคน สำหรับไตรมาส 3 มีผู้ว่างงาน 738,000 คน หรือ 1.9% และมีผู้เสมือนการว่างงาน 2.68 ล้านคน ส่วนไตรมาส 4 มีผู้ว่างงาน 727,000 คน หรือ 1.9% มีผู้เสมือนว่างงาน 2.35 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สสช.จะทำการสำรวจภาวะการทำงานของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งถือเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการเฉพาะด้วย
“ส่วนอัตราการว่างงานที่ สสช.สำรวจล่าสุด พบว่า อยู่ที่ 1.9% ของผู้มีงานทำหรือประมาณกว่า 700,000 คน โดยแม้ตัวเลขนั้นสวนทางกับภาคธุรกิจเอกชนที่ออกมาเปิดเผยว่ามีจำนวนผู้ว่างงานสูงมาก เช่น ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ระบุว่า จากคนทำงาน 4 ล้านคน มีผู้ที่ตกงานและออกจากระบบไปเลย 1 ล้านคน ผู้ที่ทำงานไม่เต็มเวลา 2 ล้านคน และอีก 1 ล้านคนยังได้รับเงินเดือนปกติ ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ต้องอธิบายว่า การทำสำรวจของ สสช.ยึดคำนิยามของผู้ว่างงาน ตามองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งในส่วนนี้แยกกับผู้เสมือนว่างงาน”
สำหรับคำนิยามที่ สสช.นำมาใช้ ผู้ว่างงาน หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 1. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงานหรือรอการบรรจุ ในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ 2.ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ และอัตราการว่างงานหมายถึงร้อยละของจำนวนผู้ว่างงานต่อจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานส่วนผู้เสมือนว่างงาน หมายถึง ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน