แกะรหัสก๊วนหุ้น “เจมาร์ท “ ด้วยโมเดลสู่ดิจิทัล
จากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่กำลังจะกลายเป็นกลุ่มการเงินดิจิทัลทำให้ หุ้นในกลุ่ม บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART
กลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากราคาหุ้นมากที่สุดในช่วงระหว่างปี 2563 มาจนถึงต้นปี 2564 และเริ่มมีการคาดหวังโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะได้เห็นในเร็วๆ นี้
การเปลี่ยนแปลงสำคัญนับตั้งแต่การระดมทุนด้วยไอซีโอด้วยการออกเหรียญดิจิทัล “เจ ฟินคอยน์” แรกของบริษัทจดทะเบียน ในปี 2561 จำนวน 100 ล้านเหรียญ ที่ราคาเหรียญละ 0.20 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นของใหม่ที่นักลงทุนพึ่งทำความรู้จักตามกระแสมาแรงของ คริปโคเคอร์เรนซี อย่าง บิทคอยน์ ที่สำคัญทางการยังตามไม่ทันและไม่มีเกณฑ์มารองรับ
โดยมีบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ JMART ถือหุ้นในสัดส่วน 80 % ดำเนินการ แต่กระแสที่แรงในช่วงแรกกลับปรากฏหลังจบการขายแล้วแทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวของราคา เจ ฟินคอยน์ ในตลาดรอง ซึ่งส่งผลต่อราคาหุ้นของ JMART ที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน
จนเกิดปรากฏการณ์ธุรกิจการเงิน “ตามทวงหนี้ “ ของกลุ่มมี บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 กำไรระดับ 300 ล้านบาท และปรับตัวขึ้นทำออไทม์ไฮมาตลอดจนปี 2563 กำไรอยู่ที่ระดับ 1,047 ล้านบาท
จนเกิดข้อสงสัยว่าทำธุรกิจหนี้ถึงได้เติบโตได้ขนาดนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวมาจากการบริโภคสินค้าเกินรายได้ของคนไทย สะท้อนได้จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนของคนไทยแตะระดับ 80 % ของจีดีพีแม้จะมีภาวะโควิด-19 ระบาดก็ตาม ซึ่ง JMT จึงสามารถเข้าไปซื้อหนี้เสียนำมาบริหารเพื่อได้ส่วนต่างจากดอกเบี้ยในการชำระหนี้
การนำธุรกิจเช่าพื้นที่เข้าสู่ตลาดหุ้น บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J มีการเติบโตน้อยกว่าธุรกิจอื่นในกลุ่มจนประสบภาวะขาดทุน จนปี 2562 บริษัทพลิกกลับมามีกำไร ซึ่งมาจากการตีมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่มีอยู่ การลดต้นทุนด้วยการยกเลิกสาขาที่ไม่สร้างผลกำไรลง รวมไปถึงการเริ่มทำที่อยู่อาศัยรับสังคมผู้สูงวัยเข้ามาเพิ่มในพอร์ตยกเหนือจากค้าปลีก
เมื่อธุรกิจการเงินเริ่มเข้มแข็งและยังหนุนหุ้นแม่ JMART จึงเดินหน้าขยายธุรกิจดังกล่าวด้วยการเข้าซื้อหุ้น บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ที่ดำเนินธุรกิจในไทยมากถึง 128 ปี ในช่วงปี 2558 ในสัดส่วน 40% หรือ 108 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 24.99% ด้วยเม็ดเงินลงทุน 945 ล้านบาท พร้อมเข้ามารื้อระบบบริหารภายในจากตัวเลขหนี้เสียและขาดทุนกลับมามีกำไรในปี 2561 และกลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ด้านผลประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางข่าวบวกที่เข้ามาการจบดีล KB Kookmin Card จากประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาถือหุ้นใน บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจสินเชื่อ
การเข้ามาถือหุ้นของ บริษัท TIS Inc. ซึ่งเป็นบริษัทไอทีระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่นในบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC เพื่อดำเนินธุรกิจการเงินร่วมกันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ความเคลื่อนไหวของราคาในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นไฮไลน์ที่เรียกความสนใจให้กับนักลงทุนไม่น้อยเฉพาะช่วงปี 2563 ถึงจ้นปี 2564 พบว่าทั้งกลุ่มมีมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นจากแตะระดับแสนล้านบาท
ราคาหุ้น J ปรับตัวขึ้นแรงจาก 1.66 บาท มาปิดวานนี้ (15 มี.ค.) 3.34 บาท เพิ่มขึ้น 101.20 % ,หุ้น JMART จาก 20 บาท ปิดวานนี้ 39.25 บาท เพิ่มขึ้น 96.25 % , หุ้น SINGER จากราคา 26 บาท มาปิดวานนี้ 39.75 บาท เพิ่มขึ้น 52.88 % และ หุ้น JMT จากราคา 36 บาท ปิดวานนี้ 47.50 บาท เพิ่มขึ้น 31.94 %
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกิดขึ้นแม้จะได้รับการยืนยันจากผู้บริหารว่าก้างเข้าสู่ดิจิทัล แต่ตลาดการเงินรีเทล คู่แข่งในตลาดเงินสดและตลาดลิสซิ่งมีไม่น้อยทั้งในตลาดและนอกตลาด ซึ่งทุกแห่งต่างเข้ามาแข่งในตลาดเดียวกันหมด น่าสนใจว่า กลุ่ม เจมาร์ท จะขึ้นมาเป็นผู้นำในอันดับต้นได้ด้วยหรือไม่