'กรมศุลกากร' ออกมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า
"กรมศุลกากร" ออก 3 มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.64 นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้มอบหมายให้มีการแถลงข่าว เรื่อง มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเกี่ยวกับพิธีการศุลกากร ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมศุลกากรมีมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เสริมสร้างความรวดเร็ว โปร่งใส ให้กับผู้ประกอบการโดยมีรายละเอียดของมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
1. มาตรการลดข้อโต้แย้งและการวางประกันปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร
กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้า ณ ขณะนำเข้า โดยกำหนดให้สำนักงานศุลกากรแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญพิกัดอัตราศุลกากรประจำสำนักงาน เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา กรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจปล่อยสงสัยหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจปล่อย และลดภาระผู้ประกอบการในการวางประกันสินค้าที่ไม่มีปัญหาพิกัดอีกด้วย ในกรณีที่ผู้ประกอบการประสงค์ จะวางประกัน หากยังมีข้อโต้แย้งในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอยู่นั้น กรมศุลกากรได้ออกมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการพิจารณาพิกัดอัตราศุลกากร สำหรับสินค้าที่มีปัญหานั้น เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
โดยกรมศุลกากรสั่งการให้สำนักงานศุลกากรแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรประจำสำนักงาน ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้านั้นโดยเร็ว ก่อนส่งให้กองพิกัดอัตราศุลกากรวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป ทั้งนี้กรมศุลกากรได้มีการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในแต่ละขั้นตอนไว้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยให้การพิจารณาปัญหาพิกัดภายหลังการนำเข้า มีความรวดเร็ว เป็นมาตรฐาน อันจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในการคำนวณต้นทุนการนำเข้าสินค้า และลดปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าที่เคยมีปัญหา หากมีการนำเข้ามาอีกในอนาคต นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 28/2564 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับผู้ประกอบการในกรณีที่มีปัญหาข้อโต้แย้งพิกัดอัตราศุลกากร ณ ขณะนำเข้าและผู้ประกอบการประสงค์จะนำของออกไปก่อน โดยการวางประกัน
2. มาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับเรือสำราญและกีฬาที่นำเข้ามาพร้อมกับตนหรือเข้ามาชั่วคราว
กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 29/2564 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 แก้ไขปรับปรุง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับเรือสำราญ และกีฬาที่นำเข้ามาพร้อมกับตนหรือนำเข้ามาชั่วคราว โดยใช้สิทธิยกเว้นอากรตาม ภาค 4 ประเภท 3 (ค) แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยมีสาระสำคัญในการขยายหลักการสำหรับเพดานระยะเวลาการนำเรือเข้ามาพร้อมกับตนหรือนำเข้ามาชั่วคราว จาก 1 ปี เป็น 2 ปี 6 เดือน นับจากวันที่นำเข้า โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศและเสริมสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางมารีนาของอาเซียน
3. มาตรการแก้ไขปรับปรุงพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
ขณะนี้ กรมศุลกากรได้ดำเนินการแก้ไขพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมศุลกากร (www.customs.go.th) หัวข้อ “การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564 ถึง วันที่ 5 เมษายน 2564 ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 33/2564 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564
กรมศุลกากรจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อจะได้รวบรวมความคิดเห็นและนำมาประกอบการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากประกาศกรมศุลกากรข้างต้นหรือจากเว็บไซต์www.customs.go.th หัวข้อ เรื่องน่ารู้และกฎหมาย