กนอ.ร่วมมือไจก้าแก้มลพิษทางกลิ่นในนิคมอุตสาหกรรม

กนอ.ร่วมมือไจก้าแก้มลพิษทางกลิ่นในนิคมอุตสาหกรรม

กนอ. ร่วมมือ ไจก้า ลดมลพิษด้านกลิ่นให้กับชุมชนพื้นที่มาบตาพุด ผ่านนวัตกรรมสมัยใหม่“เครื่องเก็บตัวอย่างกลิ่น” พร้อมดึงความร่วมมือชุมชนเฝ้าระวัง สร้างความเชื่อมั่นชุมชน – โรงงาน นำไปสู่การบริหารจัดการที่ดียิ่งขึ้น

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่ได้นำระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือที่เรียกโดยย่อว่า ระบบ PRTR : คือฐานข้อมูลที่แสดงถึงชนิดและปริมาณของมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านอากาศ ดิน และน้ำ) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

โดย กนอ.มุ่งมั่นผลักดันให้การดำเนินงานดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วยดีภายใต้ความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน โดยได้เข้าร่วมการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (The Development of Basic Schemes for PRTR System in the Kingdom of Thailand) ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) วัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาระบบ PRTR ต้นแบบที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย โดยสร้างระบบฐานข้อมูลที่แสดงถึงชนิดและปริมาณของมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลปริมาณการเคลื่อนย้ายน้ำเสียหรือของเสียออกนอกสถานประกอบการเพื่อบำบัดหรือกำจัดอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ กนอ.นำร่องใช้ระบบ PRTR ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ โดยชุมชนจะรับทราบข้อมูลจากระบบ PRTR และการจัดการด้านสารเคมี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในแง่ของการเปิดเผยข้อมูล - การมีส่วนร่วมของประชาชน - การส่งเสริมการจัดการโดยสมัครใจที่จะนำมาใช้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม อันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและภาคอุตสาหกรรม และในที่นี้โครงการ PRTR สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักการ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสื่อสารให้ชุมชนมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องการจัดการสารเคมีในพื้นที่ได้ในที่สุด

ปัจจุบันพื้นที่มาบตาพุดมีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่อสาธารณะ เช่น การตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เป็นประจำทุกเดือนตามสถานที่ต่างๆ โดยรอบ อย่างไรก็ตาม ชุมชนส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าสารเคมีชนิดใดที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นต่างๆ ซึ่งปัญหาเรื่องกลิ่นเป็นเหตุการณ์ที่มักจะเกิดในระยะสั้นและคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด ดังนั้น คนในชุมชนที่สัมผัสกลิ่นจึงเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ดีที่สุด ในการนี้ กนอ. และไจก้า (JICA) ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ“การมีส่วนร่วมของชุมชนในการติดตามตรวจสอบกลิ่น” มุ่งเป้าให้ชุมชนมีส่วนร่วมตรวจสอบกลิ่น โดยให้ผู้แทนชุมชนดำเนินการเก็บตัวอย่างกลิ่นด้วยเครื่องเก็บตัวอย่างกลิ่น (Mini-Canister) และนำไปวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ และมีการแจ้งไปยังเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุและแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหากลิ่น และแนวทางการจัดการปัญหากลิ่นได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินงานโครงการดังกล่าวฯได้เสร็จสิ้นลงตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ผู้แทนจาก JICA (Mr. Munehiro Fukuda) ได้แจ้งว่าทางไจก้า (JICA) ประสงค์ที่จะให้ความร่วมมือต่อเนื่อง โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และชุมชนรอบข้าง ในการเฝ้าระวังปัญหากลิ่นที่อาจเกิดขึ้น โดยได้มอบเครื่องเก็บตัวอย่างกลิ่น (Mini-Canister) จำนวน 14 ชุด ให้แก่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือให้ชุมชนเฝ้าระวังปัญหามลพิษด้านกลิ่นบริเวณชุมชนรอบพื้นที่ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้โรงงานและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ดี

สำหรับการระยะเวลาการดำเนินโครงการฯใช้เวลา 15 เดือน (ตั้งแต่กันยายน 2562 – พฤศจิกายน 2563) ในชุมชนเป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านพลง ชุมชนตากวน และชุมชนหนองแฟบ อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง เนื่องจากทั้ง 3 ชุมชน มีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านกลิ่นค่อนข้างสูง โดยมีระยะเวลาการเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนสิงหาคม ตุลาคม 2563  เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสถิติการร้องเรียนด้านกลิ่นค่อนข้างสูง พร้อมทั้งอบรมการใช้อุปกรณ์การเก็บตัวอย่างให้แก่ตัวแทนชุมชนที่คัดเลือกไว้ มีการทบทวน (Refresh Training) ให้กับผู้ที่จะดำเนินการเก็บตัวอย่าง โดยหลังจากการดำเนินการเก็บตัวอย่าง และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ให้เผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ ให้กับประชาชนและผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องได้รับทราบ

ความร่วมมือดังกล่าวระหว่าง กนอ.และ JICA ยังสอดคล้องกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ 1 ด้าน นั่นคือ Smart Environment Surveillance คือ ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำร่องในพื้นที่มาบตาพุด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการประกอบกิจการอุตสาหกรรม 4 ประเภท ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่ง กนอ.คาดหวังจะเพิ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เข้าร่วมในอนาคตอีกด้วย