นิวสกายฯ ผนึก กฟน.จ่อร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้า
นิวสกายฯ หวัง กกพ.เร่งออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 2 โครงการของกทม.(หนองแขม-อ่อนนุช) กำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมจับมือ กฟน.ศึกษาร่วมลงทุน 2 โครงการดังกล่าว
นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 1 โครงการ และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชอีก 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 60 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเป็นผู้ได้รับสัญญาดำเนินการกับกรุงเทพมหานคร ในการลงทุนพัฒนาทั้ง 2 โครงการดังกล่าว โดยปัจจุบัน โครงการฯอ่อนนุช ทำประชาพิจารณ์ผ่านแล้ว ส่วนโครงการฯ หนองแขม เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ในวันที่ 29-31 มี.ค.นี้ จากเดิมมีแผนจะทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ล่าช้าออกไป ส่วนจะสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ได้ภายในปี 2567 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนนโยบายรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม บริษัท พร้อมที่เดินหน้าก่อสร้างทั้ง 2 โครงการทันที่ หากคณะกรรมการกำกับกิจการ(กกพ.) ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านนโยบาย โดยเฉพาะการกำหนดเงินสนับสนุนอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Fit) ว่าจะเป็นไปตามมติเดิมที่กำหนดอัตราอยู่ที่ประมาณ 3.66 บาทต่อหน่วยหรือไม่
“บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าระยะสั้นลดลง แต่ระยะยาวเชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวและทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณขยะมูลฝอยของไทย มีขยะใหม่ประมาณ 4 หมื่นตัน มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ 500-600 เมกะวัตต์ จึงเชื่อว่าการลงทุนกำจัดขยะด้วยการผลิตไฟฟ้ายังมีโอกาสอีกมาก”
ทั้งนี้ บริษัท มองว่าการลงทุนกำจัดขยะด้วยการนำมาเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้าจะเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและโครงการนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 80-115 คนต่อโครงการ และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำขยะไปกำจัดด้วยการเผาไหม้ภายใต้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากกรุงเทพฯ จะมีปริมาณขยะ 15,000 ตันต่อวันส่วนใหญ่นำไปกำจัดด้วยการฝังกลบประมาณิ 7,000-8,000 ตันต่อวัน ที่เหลือนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ และน้อยที่สุดคือนำไปเขาเตาเผา ประมาณ 50 ตันต่อวันเท่านั้น
วานนี้(22มี.ค.) บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SDIC POWER : State Development & Investment Corporation ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) หรือ MEA ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การศึกษาแนวทางการร่วมทุนโรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ใน 2 โครงการกำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าวของกรุงเทพฯ คือ โครงการที่หนองแขม และอ่อนนุช เพื่อหวังเข้าร่วมลงทุนใน 2 โครงการดังกล่าว
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้าจาก 2 โครงการดังกล่าว และในระยะต่อไปอาจนำไปสู่การพัฒนาระบบไมโครกริดในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าขยะ ให้เป็นชุมชนที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าจากสายส่งและสายจำหน่ายหลัก คาดว่า โครงการนี้จะใช้เวลาศึกษาร่วมกันไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยเบื้องต้น คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
“กฟน.เตรียมจัดตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) แล้ว แต่ยังต้องรอการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งในอนาคตอาจใช้บริษัทนี้เข้ามาร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้า เนื่องจากตามกฎหมาย กฟน.ไม่สามารถเข้าไปลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้น บริษัทใหม่นี้จะเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับ กฟน.ในอนาคต ซึ่งจะรับมือกับรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ลดลงจากผลกระทบดิสรัปชั่น”
สำหรับยอดการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล(นนทบุรี และสมุทรปราการ) ปีนี้ คาดว่า จะเติบโตประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ยอดใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 5% เนื่องจากสถานประกอบการต่างๆเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2564 อยู่ที่ 8,998.87 เมกะวัตต์ ซึ่งยังต่ำกว่าพีคไฟฟ้าเมื่อปี 2562 ที่อยู่ระดับ 9,525.93 เมกะวัตต์
ขณะที่กำไรสุทธิของ กฟน. เมื่อปี2563 เหลือเพียง 3,800 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่องจากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 11,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาโรงงานหลายแห่งย้ายฐานการผลิตไปต่างจังหวัด ขณะที่ลูกค้าอุตสาหกรรมหันไปซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายอื่น รวมถึงผลกระทบจาก Disruptive Technology ดังนั้น กฟน.เตรียมปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผ่านการดำเนินของของบริษัทลูกดังกล่าว