KBANK ปรับเป้า 'เงินบาท'อ่อนค่า นักลงทุนหวั่นเงินเฟ้อพุ่ง
กสิกรไทยปรับเป้าเงินบาท อ่อนค่าลง คาดปีนี้อยู่ในกรอบ 31.00-31.75 บาท หลังนักลงทุนหวั่นเงินเฟ้อพุ่ง หวั่นสหรัฐหยุดทำคิวอี ด้านซีไอเอ็มบีชี้ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยสดใส
หากดูความเคลื่อนไหว “ตลาดเงินตลาดทุน” ในช่วงที่ผ่านมา “ค่าเงินบาท” เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ตลาดให้น้ำหนัก และสร้างความกังวลให้กับตลาดเงิน ธุรกิจ และผู้ดำเนินนโยบายการเงิน จากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณจับตา การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
แต่ปัจจุบัน ธปท.ยอมรับว่า ความกังวลต่อค่าเงินบาทแข็งค่า “ลดลง” จากการคาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดเกินดุลลดลงเหลือเพียง 1.2 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดเกินดุลสูงถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์
ล่าสุด “กสิกรไทย” มีการ เปิดสัมมนา “ทิศทางค่าเงินบาทและดอกเบี้ยในภาวะตลาดเงินโลกผันผวน” โดย “กอบสิทธิ์ ศิลปชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ล่าสุดกสิกรไทย ได้ “ปรับเป้า” การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทลงเช่นกัน จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดดุลลดลง และจากความกังวลของตลาดเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
กสิกรไทย คาดการณ์ว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทปีนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00-31.75 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลงราว 0.50 บาทต่อดอลลาร์ หากเทียบกับประมาณการเดิมที่ คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.25 บาทต่อดอลลาร์
โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปีนี้ ที่กสิกรมองว่า ค่าเงินบาทจะเข้าสู่โหมด “อ่อนค่า” มาแตะบริเวณ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเป็นฤดูกาลปันผล ดังนั้นอาจเห็นต่างชาติดึงเงินกลับประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเม.ย.ปีนี้ ระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย.ที่คาดต่างชาติดึงเงินปันผลกลับประเทศถึง 2 หมื่นล้านบาท และปลายเดือนอีกราว 8.3 พันล้านบาท ซึ่งกดดันให้เงินไหลออก ฉุดให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้
นอกจากนี้ยังมาจาก “เงินเฟ้อ” ที่ตลาดคาดการณ์ว่า มีทิศทางสูงขึ้น อยู่ที่ระดับ 2.2-2.3% ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด อยากเห็นที่ระดับ 2% ดังนั้นอาจทำให้เฟด ไม่จำเป็นต้องทำคิวอีนานเกินไป จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินทั่วโลกอ่อนค่า หากเทียบกับดอลลาร์ เพราะคนกลัวว่าเงินเฟ้อจะมา แต่มองเงินบาท จะกลับมาแข็งค่าครึ่งปีหลัง สะท้อนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมากขึ้น
ด้าน “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ฟ้าหลังฝน แม้ยังครึ้ม แต่สดใส รอสายรุ้ง ไตรมาส 3”
โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ไม่ค่อยสดใส จากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ โดยคาดว่าจีดีพีจะหดตัว -4.1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และน่าจะเห็นการติดลบไตรมาสสุดท้าย และเริ่มบวกในไตรมาส 2 ปีนี้ ที่คาดกลับมาบวกได้ 7.8% จากส่งออกที่เร่งตัวขึ้น คนใช้จ่ายมากขึ้น มาตรการรัฐออกมาเร่งจับจ่าย เร่งการลงทุน
แต่ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ทำให้ยังไม่ได้อยู่ในโหมด “สดใส” คือการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่ คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย
สำหรับค่าเงินบาท คาดว่า จะอ่อนค่า หลังสหรัฐกังวลเรื่องเงินเฟ้อ หลังจากอัดฉีดเงินเข้ามาเต็มที่ นำไปสู่บอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น ทำให้เงินไหลกลับไปสหรัฐมากขึ้น ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า บาทอ่อนค่า ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินคาด กนง.คงดอกเบี้ยตลอดปี และอาจอัดฉีดมาตรการอื่นๆ แทน และให้นโยบายการเงินเป็นกองหลังรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นเราคงต้องหวังให้นโยบายการคลังขับเคลื่อนมากกว่านี้
ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ EIC คาดการณ์ว่า จุดที่น่ากังวลใน ระยะถัดไป คือ ภาวะเงินที่ปรับตึงตัวขึ้น จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นเร็ว ซึ่ง EIC มองว่าในระยะต่อไป หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นอีก
อาจทำให้ภาวะการเงินไทยอาจปรับตึงตัวเพิ่มขึ้น ธปท. ก็อาจจะพิจารณาเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมได้ โดยช่วงมี.ค.ปีก่อนที่เกิดโควิด-19 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย 10 ปี ปรับสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 0.81% สู่ระดับ 1.72%
ส่งผลให้ธปท.เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยวงเงินเพียง 8 พันล้านบาทในก.พ.ที่ผ่านมา ดังนั้น หากมีความจำเป็น ธปท. ยังมีขีดความสามารถในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้อีกในระยะต่อไป
อีกทั้ง ธปท.อาจเลือกใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น Yield Curve Control เพื่อตรึงอัตราผลตอบแทนให้อยู่ระดับต่ำ เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางได้ จึงคาดธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในปีนี้